ทุกวันนี้หลายคนหันมาใช้รถจักรยานยนต์ และบิ๊กไบค์มากขึ้น เพราะช่วยอำนวยความสะดวกในการเดินทางได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะในช่วงเวลาเร่งรีบ หรือ ช่วงที่การจราจรติดขัด แต่ระยะหลัง เรามักจะพบเห็นรถจักรยานยนต์ประสบอุบัติเหตุบ่อยขึ้น
มีค่า นิวส์ สืบค้นสถิติการเกิดอุบัติเหตุช่วงครึ่งปี 2564 (1 มกราคม-30 มิถุนายน) จากศูนย์ข้อมูลอุบัติเหตุเพื่อเสริมสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยทางถนน (ThaiRSC) ระบุ มีผู้เสียชีวิต 7,448 ราย จากรถจักรยานยนต์มากถึง 80% ส่วนอีก 20% เกิดจากรถยนต์ ขณะจำนวนผู้บาดเจ็บสูงถึง 478,495 คน เกิดจากรถจักรยานยนต์ 40% และอีก 29%เกิดจากรถยนต์
สอดคล้องกับข้อมูลของศูนย์วิจัยอุบัติเหตุแห่งประเทศไทย (Thailand Accident Research Center) ทำการวิจัยอุบัติเหตุที่เกิดกับผู้ใช้รถจักรยานยนต์ เก็บข้อมูลการเกิดอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นกับรถจักรยานยนต์ในประเทศไทย ระหว่าง พ.ศ. 2559-2563 หลังเก็บข้อมูล 600 เคส พบว่าสาเหตุการเกิดอุบัติเหตุ ร้อยละ 54 เกิดจากผู้ขับขี่ ร้อยละ 40 จากรถยนต์คันอื่น ร้อยละ 4 จากถนน ร้อยละ 2 จากยานพาหนะ
คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
สำหรับสาเหตุจากถนน ศ.ดร.เกษม ชูจารุกุล ผู้จัดการศูนย์ความเป็นเลิศ ThaiRAP คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หนึ่งในภาคีเครือข่ายโครงการขับเคลื่อนสังคมไทยสู่จักรยานยนต์ปลอดภัย ให้ข้อมูลว่า
“ปัจจัยทางถนนที่ทำให้ประเทศไทยครองแชมป์อุบัติเหตุรถจักรยานยนต์เป็นอันดับ 1 ของโลก และจากการสำรวจสภาพถนนในประเทศไทย มากกว่า 1,000 กิโลเมตร พบว่า 3 ใน 4 ของถนนในเมืองไทย เป็นถนนที่ไม่ปลอดภัย สำหรับการขับขี่รถจักรยานยนต์”
ทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ง่าย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของสภาพผิวถนนที่เป็นบ่อ ขรุขระ มีหลุมลึก หรือ แม้แต่การออกแบบเรขาคณิตของถนน การเข้าโค้ง การมองเห็น ส่วนใหญ่ออกแบบสำหรับรถยนต์มากกว่ารถจักรยานยนต์ มีระยะโค้ง ระยะเบรกแตกต่างจากรถยนต์นั่ง
การออกแบบถนนส่วนใหญ่ มักเป็นการออกแบบให้กับรถยนต์เป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นออสเตรเลีย ฝรั่งเศส อังกฤษ หรือ อเมริกา เพราะสัดส่วนปริมาณรถยนต์ในประเทศเหล่านั้นมีจำนวนมากกว่ารถจักรยานยนต์
แต่ในเมืองไทย สัดส่วนของรถจักรยานยนต์มีมากกว่า แต่ไม่มีถนนที่ออกแบบเพื่อรองรับ จึงเป็นเหตุให้กว่าครึ่งของการตายบนท้องถนนมาจากรถจักรยานยนต์ นอกจากนี้ การบังคับใช้กฎเกณฑ์ที่ไม่สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริง เช่น
การให้รถจักรยานยนต์วิ่งช่องซ้าย ขณะเดียวกัน รถบรรทุก 6 ล้อ 10 ล้อ ก็วิ่งช่องซ้าย เรียกว่ารถใหญ่กับรถเล็กใช้ช่องทางเดียวกัน เราจึงได้ยินข่าวบ่อย ๆ ว่ารถจักรยานยนต์พุ่งเข้าใต้ท้องรถสิบล้อ เป็นสาเหตุของการบาดเจ็บและเสียชีวิตในแต่ละปี
ผู้จัดการศูนย์ความเป็นเลิศ ThaiRAP ยังบอกด้วยว่า อีกปัจจัยที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุรถจักรยานยนต์ คือ สิ่งอันตรายข้างทาง เช่น เสาไฟฟ้า ต้นไม้ โดยเฉพาะการขับชนต้นไม้เป็นสาเหตุการตายสูงสุด
ขณะที่แบริเออร์ที่ออกแบบไว้ส่วนใหญ่ เป็นแนวป้องกันสำหรับรถยนต์มากกว่ารถจักรยานยนต์ ขณะที่ในบางประเทศ เริ่มมีการทำแบริเออร์สำหรับรถจักรยานยนต์แล้ว เพื่อลดการเกิดอุบัติเหตุที่เป็นสาเหตุของการเสียชีวิตจากรถจักรยานยนต์บนท้องถนน
ศ.ดร.เกษม ยังระบุด้วยว่า สมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ ประกาศให้ปี 2564 -2573 เป็นทศวรรษแห่งการขับเคลื่อนความปลอดภัยทางถนนวาระที่สอง โดยมีเป้าหมายลดการบาดเจ็บและเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนลงร้อยละ 50
ในรายงานโครงข่ายถนนประเทศไทยปลอดภัย เพื่อปกป้องชีวิตประชาชน ระบุว่า โครงข่ายถนนที่มีความปลอดภัย ไม่เพียงช่วยเพิ่มความปลอดภัยให้ผู้ขับขี่และโดยสารรถยนต์ แต่ยังช่วยปกป้องผู้ใช้ถนนอื่น เช่น คนเดินเท้า จักรยาน และจักรยานยนต์ด้วย
ทั้งนี้ หากรัฐบาลลงทุนกับโครงข่ายถนนภายใต้งบประมาณเพียงแค่ 0.1-0.2 % ของจีดีพีในแต่ละปี หรือ ประมาณ 15,000 ล้านบาทอย่างต่อเนื่อง จะสามารถบรรลุเป้าหมายที่กำหนดให้ 75 % ของการเดินทางที่เกิดขึ้นบนถนนมีความปลอดภัย
โดยมีถนนที่ผ่านการประเมินในระดับ 3 ดาว หรือ สูงกว่าตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ในปี 2573 ที่ในปัจจุบันหากให้คะแนนเป็นดาว 5 ดวง ถนนในประเทศไทยยังอยู่ในระดับ 1-2 ดาว เท่านั้น!! นอกจากนี้ ยังสามารถลดการสูญเสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนนได้ถึงปีละ 7,500 คน
ที่มา : https://www.thairsc.com/
http://www.accident.or.th/index.php/2017-11-03-04-01-18/245-2020-07-22-09-18-53