ปัจจุบันเทรนด์รักษาสุขภาพและการดูแลตัวเอง กำลังที่เป็นที่นิยม ยิ่งในช่วงโควิด-19 แพร่ระบาด หากเราไม่ดูแลสุขภาพ หรือ ป้องกันตัวเองได้ไม่ดีพอ ก็อาจเสี่ยงติดเชื้อได้ ซึ่งในส่วนของร้านอาหาร หรือ ผู้ประกอบการรายย่อยเอง ก็เริ่มหันมาผลิตอาหารสุขภาพมากขึ้น ทั้ง “อาหารคลีน” และ “สลัด” เพื่อเป็นทางเลือกให้กลุ่มคนรักสุขภาพได้เลือกรับประทาน แต่ก็ต้องยอมรับว่า การประกอบธุรกิจในช่วงโควิด-19 ให้ประสบความสำเร็จหรือ พยุงธุรกิจให้ผ่านพ้นนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย ถ้าเราไม่มีกลยุทธ์ที่ดีพอ อาจต้องล้มเลิกกิจการไปอย่างน่าเสียดาย
คุณชญาน์นันท์ ชเนศวงศ์ภัทร หรือ คุณยูอิ กรรมการผู้จัดการ บริษัท มิสซะระดะ ฟูดส์ โปรดักส์ จำกัด เป็นอีกหนึ่งคนที่เริ่มต้นเปิดร้านขายสลัดออนไลน์ พัฒนาฝีมือจนสามารถขยายธุรกิจสู่โรงงานผลิตวัตถุดิบสลัด ส่งขายทั่วประเทศภายในเวลา 6 เดือน แม้ระยะหลังจะประสบโควิด-19 แต่คุณยูอิ ก็ปรับตัวเปลี่ยนวิกฤตเป็นโอกาส ทำให้ธุรกิจของเธอเดินหน้าต่อมาได้ตลอด 5 ปี และมีรายได้สูงสุดหลักล้านบาท
เส้นทางเปิดร้านขายสลัดออนไลน์ เริ่มจากความสุขในการทำอาหาร
คุณยูอิ เล่าว่า หลังเรียนจบ ทำงานที่กรุงเทพฯ ประมาณ 1 ปี จากนั้นคุณพ่อเริ่มป่วย จึงกลับมาช่วยดูแลกิจการที่บ้าน อ.แม่สอด จ.ตาก ระหว่างนั้น คุณยูอิ คิดอยากมีกิจการเป็นของตัวเอง เลยขอที่บ้านออกมาทำธุรกิจขายเสื้อผ้า แรก ๆ ธุรกิจก็ไปได้ดี ต่อมาคู่แข่งมากขึ้น ทุนจมกับการสต๊อกสินค้า จึงตัดสินใจล้มเลิก และกลับมาทบทวนว่าจริง ๆ เรามีความสุขกับการทำอะไร คำตอบ คือ การทำ “อาหาร”
คุณยูอิ เริ่มต้นจากการทำขนมขายทางออนไลน์ แต่มีคู่แข่งเยอะ เธอไม่มีหน้าร้าน ประกอบกับทั้งร้านขนมและร้านกาแฟ ผุดขึ้นมามากมาย จึงเริ่มค้นหาว่าคนในยุคปัจจุบันสนใจอาหารประเภทไหน และน่าจะอยู่รอดในระยะยาว รวมถึงยังมีคนขายไม่เยอะ กระทั่งมาลงตัวที่การขาย “สลัด” ในปี 2559 ตั้งชื่อแบรด์ให้สะดุดตาว่า Ms.sarada (มิสซะระดะ) โดยคำว่า Sarada ในภาษาญี่ปุ่นแปลตรงตัวว่า สลัด ส่วนมิส คือ นางสาว
ไม่มีความรู้ทำธุรกิจ แต่อาศัยหมั่นเรียนรู้ พัฒนาตัวเอง
คุณยูอิ บอกว่า ทำธุรกิจนี้ร่วมกับแฟนหนุ่ม โดยตัวเธอจะเป็นคนคิดสูตร รับออเดอร์ คุยกับลูกค้า ส่วนแฟนหนุ่มจะฝ่ายผลิตสินค้า เธอไม่มีความรู้ด้านธุรกิจประเภทอาหารมาก่อน แต่ก็เลือกที่จะทำธุรกิจนี้อย่างจริงจัง ด้วยเงินลงทุน 20,000 บาท เริ่มต้นจากสำรวจร้านสลัดที่บ้านเกิด จ.ตาก ว่าเขารูปแบบการขาย วิธีตั้งหน้าร้าน ขายออนไลน์กี่บาท น้ำสลัดมีกี่รสชาติ พร้อมทำควบคู่ไปกับการฝึกทำสลัด
กระทั่งคุณยูอิ พบว่าตามท้องตลาด มีน้ำสลัดรสชาติธรรมดาเพียงแค่ 2-3 รสชาติ ทำให้เกิดไอเดียผลิตสูตร “น้ำสลัด” รสชาติแปลกใหม่ ถึง 12-16 รสชาติ! เช่น ต้มยำ ซีฟู้ด กะเพรา นำมาขายพร้อมสลัดโรล สลัดผัก โดยเน้นขายในเฟซบุ๊กเป็นหลัก และผลิตน้ำสลัดส่งขายตามร้านอาหารทั่วไปด้วย
ช่วงแรก Ms.sarada (มิสซะระดะ) ยังไม่เป็นที่รู้จัก จึงเปิดร้านขายสลัดริมทางเสริม
คุณยูอิ เล่าว่า แรก ๆ ผลตอบรับไม่ดีเท่าไหร่ เพราะยังไม่มีคนรู้จักแบรนด์ จึงลงทุนด้วยเงิน 20,000 บาทเปิดหน้าร้านขายสลัดริมทางเสริม และจากที่วันแรกไม่ค่อยมีลูกค้า ก็เริ่มได้รับการแนะนำปากต่อปากจากลูกค้า ทำให้สามารถขยายสาขาเพิ่มไปที่โรบินสันแม่สอด
คิดผลิตสินค้าวางขายให้หลากหลายขึ้น ทั้งสลัดผัก สลัดโรลจัดชุดที่จำหน่ายหน้าร้าน น้ำสลัดพร้อมทานที่ส่งได้ทั่วประเทศ เบสน้ำซุป สำหรับทำน้ำสลัด พร้อมสูตรทำน้ำสลัด ใบเมี่ยงญวนสำหรับห่อสลัดโรล สาหร่ายทำซูชินอกจากนี้ยังมี คอร์สเรียนออนไลน์สำหรับผู้สนใจทำธุรกิจร้านขายสลัดผักด้วย จากนั้นเริ่มจ้างพนักงานมาช่วยผลิตสินค้า 1 คน จนมีรายได้สูงสุดหลักแสนบาท
ขยายธุรกิจให้ใหญ่ขึ้น เปิดโรงงานผลิตวัตถุดิบสลัด ส่งขายทั่วประเทศ
หลังจากขายทางออนไลน์และเปิดร้านสลัดริมทางมา 6 เดือน พบปัญหาผลิตสินค้าไม่ทัน คุณยูอิและแฟนหนุ่มจึงตัดสินใจล้มเลิกร้านสลัดริมทาง และขยายธุรกิจด้วยการเปิดโรงงานผลิตวัตถุดิบสลัด โดยใช้ที่ดินของครอบครัว ปรึกษาหน่วยงานถึงขั้นตอนเปิดโรงงาน และลงทุนซื้อเครื่องผลิต 50,000 บาท จ้างพนักงานเพิ่มเติม ทั้ง Admin ดูแลเพจเฟซบุ๊ก และทีม Telesales ช่วยสื่อสารกับลูกค้า
เดินหน้าผลิตน้ำสลัดขายแบบเป็นกิโลกรัมละ 210 บาท ทุกรสชาติ หรือ จัดโปรโมชันราคาส่ง 3 กิโลกรัม 189 บาท จึงทำให้ธุรกิจดำเนินมาได้อย่างมั่นคง ด้วยรายได้สูงสุดหลักล้านบาท! ซึ่งคุณยูอิ บอกว่า
“สาเหตุที่ทำให้ Ms.sarada (มิสซะระดะ) เติบโตอย่างรวดเร็ว คิดว่าเกิดจากสินค้ามีความหลากหลายแตกต่างจากท้องตลาดหลายข้อ เช่น น้ำสลัดของเรามีไขมันต่ำ แป้งทำสลัดโรล แช่ตู้เย็นได้โดยไม่แข็งตัว อีกส่วนคือการบริการ ยูอิจะเน้นคุยกับลูกค้าแบบเพื่อน สร้างความเชื่อใจให้ลูกค้า แก้ปัญหาให้เขาได้ทันที ทำให้เขาประทับใจมากที่สุด”
แม้ธุรกิจจะมั่นคง แต่ก็เจออุปสรรค โดยเฉพาะโควิด-19 ทำให้ท้อแท้
คุณยูอิ เล่าถึงปัญหาระหว่างการบริหาร Ms.sarada (มิสซะระดะ) บอกว่า เจอปัญหาอายุสินค้า อย่างน้ำสลัด ปกติอยู่ด้านนอกได้นาน 10 วัน แต่บริษัทขนส่งใช้เวลาส่งของนาน ทำให้กว่าจะถึงมือลูกค้า น้ำสลัดเสีย หรือ ลูกค้าเก็บรักษาไม่ถูกวิธี ทำให้ต้องส่งสินค้าไปเปลี่ยนให้ลูกค้าอีกรอบ
คุณยูอิ จึงแก้ปัญหาด้วยการเลือกขนส่งที่ไวที่สุด กรุงเทพฯ ใช้เวลาขนส่งเพียง 1 วัน ต่างจังหวัด 2 วัน รวมถึงบอกวิธีเก็บรักษาให้ลูกค้าทราบตั้งแต่ต้น นอกจากนี้ ยังพบปัญหาราคาวัตถุดิบสูงขึ้นในบางช่วง คุณยูอิก็จะยอมได้กำไรน้อยลง แต่จะไม่ลดคุณภาพวัตถุดิบเด็ดขาด เน้นผลิตสินค้าสดใหม่แบบวันต่อวันเท่านั้น
ส่วนปัญหาอื่น ๆ พอโควิด-19 แพร่ระบาด ทำให้ร้านอาหารที่เธอเคยติดต่อส่งสินค้าให้ต้องปิดให้บริการ หรือ กลุ่มพ่อค้าแม่ค้าที่รับสลัด น้ำสลัดของเธอไปขายต่อ เริ่มหยุดขาย ทำให้กระทบยอดขาย จากสูงสุดหลักล้านบาท เหลือเพียงหลักแสนบาท เธอจึงปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ เพื่อให้ร้านของเธอฝ่าวิกฤตโควิด-19 ไปให้ได้ ดังนี้
1.ผลิตชุดเริ่มต้นขายสลัด 990 บาท และชุดขายแซนด์วิช 650 บาท ขายให้กับกลุ่มคนตกงานจากโควิด
2.ยิงโฆษณาโปรโมทผ่านเฟซบุ๊กมากขึ้น ปรับปรุงเว็บไซต์ ทำคอนเทนต์ลง Youtube
3.รักษาลูกค้าประจำ โดยให้ทีม Telesales โทรศัพท์เสนอโปรโมชันเป็นระยะ
นอกจากนี้ ในปี 2565 คุณยูอิ วางแผนจะขายทางออฟไลน์เพิ่มเติม โดยให้เซลล์นำสินค้าไปเสนอขายให้ลูกค้า เช่น ร้านค้า ร้านอาหารต่าง ๆ รวมถึงติดต่อกับห้างสรรพสินค้านำสินค้าไปวางขาย เพื่อให้ลูกค้าเข้าถึงสินค้าได้ง่าย สะดวกขึ้น
ฝากกำลังใจถึงผู้ประกอบการท้อแท้จากโควิด-19
“มีช่วงหนึ่งที่ยูอิ รู้สึกท้อแท้จากโควิด จึงพยายามให้กำลังใจตัวเอง พร้อมออกไปพบปะเพื่อนฝูง คนรู้จัก อาจารย์ที่เคารพ เพื่อขอคำปรึกษา ปรับทุกข์ เลยทำให้รู้ว่า ไม่ใช่แค่ตัวเราที่ได้รับผลกระทบ ทุกคนเจอเหมือนกันหมด ขึ้นอยู่กับว่าจะมากหรือน้อย ทำให้ยูอิรับรู้วิธีแก้ปัญหาของแต่ละคน นำมาปรับใช้กับธุรกิจของตัวเอง ก็เริ่มมีกำลังใจ มีสติมากขึ้น กลับมาสู้อีกครั้ง จนผ่านมันมาได้ ก็อยากให้ทุกคนลองทำตามดูค่ะ”
มีค่า นิวส์ ขอเป็นอีกหนึ่งกำลังใจให้ผู้ประกอบการทุกท่าน ก้าวผ่านสถานการณ์นี้ไปให้ได้เช่นกันนะคะ สำหรับใครที่สนใจอยากลองเริ่มต้นทำธุรกิจขายสลัด แซนด์วิช ลองทักไปปรึกษาคุณยูอิได้นะคะ ตามช่องทางติดต่อตามนี้ค่ะ >>
https://www.facebook.com/Ms.sarada
https://www.youtube.com/channel/UCI1OBoJf0HN-fhr-qUTiMkg/featured