Mekha News (มีค่านิวส์) : เว็บไซต์ข่าว ที่จะนำเสนอข่าวสารเพื่อรักษาสิทธิให้กับคุณ

สวทช. ประกาศความสำเร็จ พัฒนาเทคนิค สกัด RNA โควิด ด้วยอนุภาคแม่เหล็ก หวังลดต้นทุนนำเข้า

ทีมนักวิจัยศูนย์โอมิกส์แห่งชาติ ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยมหิดล และกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ คิดค้นและพัฒนา “วิธีสกัดอาร์เอ็นเอ (RNA) ของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (SARS-CoV-2) จากตัวอย่างแบบง่าย” ขึ้น โดยใช้อนุภาคแม่เหล็ก (Magnetic bead) จับกับสารพันธุกรรมอาร์เอ็นเอของไวรัส

ซึ่งอาร์เอ็นเอของเชื้อไวรัสที่สกัดได้มีความบริสุทธิ์สูง สามารถนำไปตรวจวิเคราะห์ด้วยวิธี RT-PCR ทั้งนี้ วิธีในการสกัดสารพันธุกรรม ที่คิดค้นมี 3 ขั้นตอน ได้แก่

1.การทำให้เซลล์แตกตัวแล้วปล่อยสารพันธุกรรมออกมา
2.การเข้าจับสารพันธุกรรมและทำความสะอาดสารพันธุกรรม
3.การละลายสารพันธุกรรมบริสุทธิ์นั้นออกมาจากตัวจับ และทำความสะอาดสารพันธุกรรมที่อยู่ในตัวอย่าง

ซึ่งสามารถทำการสกัดได้เร็ว ราคาถูก ที่สำคัญยังปรับวิธีให้ใช้ได้กับเครื่องสกัดอัตโนมัติที่มีอยู่ในท้องตลาดได้ค่อนข้างง่าย ทั้งนี้ วิธีสกัดอาร์เอ็นเอดังกล่าว ยังสามารถนำไปใช้ในการสกัดสารพันธุกรรม ในสิ่งมีชีวิตอื่นๆได้ ไม่จำกัดเพียงไวรัสก่อโรคโควิด-19 เท่านั้น แต่ยังรวมถึงไวรัสก่อโรคในพืช สัตว์และมนุษย์

ซึ่งวิธีการสกัดที่พัฒนาขึ้น ถือเป็นวิธีที่ง่ายสามารถใช้งานกับสารเคมีและอุปกรณ์ที่มีอยู่ในห้องปฏิบัติการด้านพันธุกรรม ซึ่งทีมนักวิจัยฯ ได้มีการนำไปทดสอบใช้งานจริงกับตัวอย่างตรวจของคณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล และกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์แล้ว พบว่าให้ผลไม่แตกต่างจากการใช้ชุดสกัดที่นำเข้าจากต่างประเทศ

ปัจจุบันทีมวิจัยได้ถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับบริษัท After Lab และ Bioentist เป็นผู้รับอนุญาตให้สิทธิใช้ประโยชน์เพื่อเตรียมผลิตและจำหน่ายทางการค้าครั้งแรกในไทย!!

ภายใต้โครงการดังกล่าว ทีมวิจัย สวทช. ได้ร่วมกับบริษัท After Lab ในการปรับวิธีให้สามารถใช้ได้กับเครื่องสกัดแบบอัตโนมัติ และมีทีมของ รศ. ดร.พรสวรรค์ เหลืองวุฒิวงษ์ จากคณะเวชศาสตร์เขตร้อน ม.มหิดล และทีมของ ดร.พิไลลักษณ์ อัคคไพบูลย์ โอกาดะ จากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ร่วมในโครงการเพื่อทำการทดสอบการใช้งานในตัวอย่างจริง ซึ่งได้รับการสนับสนุนการใช้เครื่องสกัดสารพันธุกรรมแบบอัตโนมัติ โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายจากบริษัท After Lab

ที่มา : กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)

Exit mobile version