Mekha News (มีค่านิวส์) : เว็บไซต์ข่าว ที่จะนำเสนอข่าวสารเพื่อรักษาสิทธิให้กับคุณ

รายงานพิเศษ : กู้เงินยุคใหม่ไม่ต้องไปธนาคารกับ “สินเชื่อส่วนบุคคดิจิทัล” และ “สินเชื่อระหว่างบุคคลกับบุคคล”

การกู้เงินแบบเดิม ๆ ที่เรารู้จักกันดี คือ ต้องไปธนาคารสาขา เพื่อติดต่อเจ้าหน้าที่สมัครขอสินเชื่อ แต่ปัจจุบันเราก้าวเข้าสู่โลกยุคดิจิทัล เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทสำคัญ ช่วยอำนวยความสะดวกในชีวิตประจำวันทั้งในแง่ความสะดวกสบายและความรวดเร็ว จะเห็นว่าเราใช้บริการผ่านช่องทางออนไลน์กันมากขึ้น เช่น การซื้อสินค้า การจองตั๋วภาพยนตร์ การจองที่พัก ดังนั้น การกู้ยืมเงินก็เป็นอีกหนึ่งอย่างที่เราสามารถทำผ่านช่องทางออนไลน์ได้ ผู้ที่ต้องการเงินทุนสามารถมาขอกู้เงินผ่านเว็บไซต์ หรือแอปพลิเคชันที่ทำหน้าที่เป็นตัวกลางหรือช่องทาง หรือ หากเป็นผู้ที่มีเงินเหลืออยากหาทางเลือกใหม่ในการลงทุนก็สามารถปล่อยกู้ได้ อย่าง “สินเชื่อส่วนบุคคดิจิทัล” และ “สินเชื่อระหว่างบุคคลกับบุคคล” ที่อยู่ภายใต้การกำกับของ ธปท. มีค่า นิวส์ จึงจะพาทุกคนมารู้จักกับ 2 สินเชื่อนี้กันอย่างละเอียด

สินเชื่อส่วนบุคคดิจิทัล”  (Digital Personal Loan)

สินเชื่อส่วนบุคคลดิจิทัล คือ สินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับที่ผู้ประกอบธุรกิจนำเทคโนโลยีดิจิทัลและข้อมูลทางเลือก (alternative data) มาใช้ในการให้บริการสินเชื่อในขั้นตอนของการประเมินความสามารถหรือความเต็มใจในการชำระหนี้ การเบิกจ่ายและรับชำระคืนสินเชื่อ และการเปิดเผยข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการ

ธปท. ปลดล็อกหลักเกณฑ์ที่เป็นอุปสรรคในการเข้าถึงบริการสินเชื่อของคนตัวเล็ก เช่น ผู้ประกอบอาชีพอิสระ และพ่อค้าแม่ค้า โดยกำหนดให้ใช้ข้อมูลทางเลือก เช่น ข้อมูลการซื้อขายสินค้าบนแพลตฟอร์มออนไลน์ ประวัติการชำระค่าสินค้าและบริการผ่านช่องทางออนไลน์ หรือใช้ข้อมูลหลายประเภทในการพิจารณาอนุมัติสินเชื่อส่วนบุคคลดิจิทัล แทนการใช้หลักฐานรายได้ ขอหลักทรัพย์ค้ำประกัน หรือตรวจสอบประวัติของผู้กู้จากเครดิตบูโร และให้ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการให้บริการและอนุมัติสินเชื่อตั้งแต่ยื่นขอสินเชื่อออนไลน์ ยืนยันตัวตนผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-KYC)

รวมถึงประเมินความเสี่ยง จนถึงการเบิกเงินและชำระหนี้ผ่านบัญชีเงินฝากหรือบัญชีเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Money) โดยผู้กู้แต่ละรายจะได้รับวงเงินสินเชื่อเพื่อใช้ประกอบอาชีพ หรือ ซื้อสินค้าและบริการสูงสุดไม่เกิน 20,000 บาท ชำระคืนสินเชื่อไม่เกิน 6 เดือน จ่ายอัตราดอกเบี้ยรวมค่าธรรมเนียมไม่เกิน 25% ต่อปี และไม่ต้องจ่ายค่าธรรมเนียมหากชำระคืนเงินกู้ก่อนครบกำหนด (ล่าสุด ขยายวงเงินรายละไม่เกิน 40,000 บาท ชำระคืนภายใน 12 เดือนจนถึง 31 ธันวาคม 2565)

สำหรับรายชื่อผู้ให้บริการสินเชื่อส่วนบุคคดิจิทัล เมื่อเดือนมีนาคม 2564 ธปท. ได้อนุญาตให้บริษัท ซีมันนี่ (แคปปิตอล) จำกัด และบริษัท แอสเซนด์ นาโน จำกัด ให้บริการสินเชื่อส่วนบุคคลดิจิทัล โดย ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2564 ทั้งสองบริษัทได้เปิดประตูให้คนตัวเล็กเข้าถึงสินเชื่อแล้วประมาณ 215,000 ราย คิดเป็นวงเงินสินเชื่อ 2,083 ล้านบาท มียอดเบิกจ่ายประมาณ 1,527 ล้านบาท หรือคิดเป็นการกู้เงินเฉลี่ยรายละ 9,700 บาท

นอกจากนี้ ยังมีบริษัทผู้ประกอบธุรกิจอีกหลายแห่งที่อยู่ในกระบวนการยื่นขอใบอนุญาต เช่น บริษัท จีฟิน เซอร์วิสเซส (ที) จำกัด (ยังไม่ได้เริ่มให้บริการ), สินเชื่อรายวันออมสินผ่านแอป MyMo (กำลังดำเนินการ), สินเชื่อดิจิทัล SCB, สินเชื่อนาโนไฟแนนซ์แรบบิทแคช, สินเชื่อสินเชื่อ LINE BK, สินเชื่อนาโนไฟเนนซ์ผ่านแอปฟินนิกซ์, สินเชื่อซีมันนี่แคปปิตอล, สินเชื่อของแอสเซนด์นาโน, สินเชื่อของเคบีเจแคปิตอล (กำลังขออนุญาต) เป็นต้น

 สินเชื่อระหว่างบุคคลกับบุคคล (P2P Lending Platform)

สินเชื่อระหว่างบุคคลกับบุคคล คือ ผู้ให้บริการระบบหรือเครือข่ายอิเล็กทรอนิกส์ที่เป็นตัวกลางสนับสนุนการก่อให้เกิดการกู้ยืมระหว่างผู้กู้และผู้ให้กู้ โดยจับคู่ระหว่างผู้ที่ต้องการกู้เงินและผู้ที่ต้องการให้กู้ รวมถึงอำนวยความสะดวกในการทำสัญญาสินเชื่อ การนำส่งและจ่ายคืนเงินกู้ และการติดตามหนี้ ซึ่งเป็นอีกทางเลือกที่ช่วยให้ประชาชนสามารถเข้าถึงสินเชื่อได้สะดวกยิ่งขึ้น ด้วยต้นทุนที่เหมาะสมกับความเสี่ยงของผู้กู้ และเพิ่มทางเลือกในการลงทุน

ธปท. กำหนดให้ผู้ที่ประสงค์จะประกอบธุรกิจ ต้องทดสอบการให้บริการในวงจำกัดภายใต้ Regulatory Sandbox (Regulatory Sandbox คือ แนวทางการทดสอบและพัฒนานวัตกรรมที่นำเทคโนโลยีใหม่มาสนับสนุนการให้บริการทางการเงิน โดยเปิดให้ผู้ให้บริการทางการเงินทดสอบการให้บริการด้วยเทคโนโลยีใหม่ในวงจำกัด เพื่อส่งเสริมให้เกิดนวัตกรรมทางการเงิน ขณะที่มีแนวทางในการดูแลความเสี่ยงและคุ้มครองผู้ใช้บริการที่เหมาะสม)

การทำงานของแพลตฟอร์ม P2P Lending จะคล้ายกับแพลตฟอร์มตลาดที่มีสินค้าคือสินเชื่อวางจำหน่าย โดยผู้กู้จะสามารถยื่นวัตถุประสงค์ของการกู้ เช่น การนำเงินไปจับจ่ายใช้สอย เรียนหนังสือ หรือประกอบธุรกิจ ส่วนผู้ให้กู้ก็สามารถเลือกรายการว่าต้องการนำเงินไปลงทุนให้กับใครโดยพิจารณาถึงความเสี่ยงและดอกเบี้ยที่จะได้รับ

แพลตฟอร์มดังกล่าวจะทำให้ผู้กู้สามารถเข้าถึงสินเชื่อได้สะดวก รวดเร็ว และต้นทุนถูกกว่าการกู้จากธนาคาร ในขณะเดียวกัน ผู้ให้กู้ก็สามารถได้รับผลตอบแทนมากกว่าการฝากออมทรัพย์ อย่างไรก็ดี ผู้ให้กู้จะต้องรับความเสี่ยงกรณีผิดนัดชำระหนี้ไปเต็ม ๆ ซึ่งแตกต่างจากการฝากเงินให้ธนาคารดูแล

ปัจจุบัน ธนาคารแห่งประเทศไทย ได้ตั้งเพดานการขอสินเชื่อสำหรับบุคคลธรรมดาไว้ที่ 1.5 – 5 เท่าของรายได้สำหรับสินเชื่อเพื่ออุปโภคบริโภค หรือไม่เกิน 50 ล้านบาทสำหรับสินเชื่อธุรกิจ โดยกำหนดเพดานดอกเบี้ยไว้ไม่เกิน 15 เปอร์เซ็นต์ ส่วนผู้ปล่อยกู้จะจำกัดให้ไม่เกิน 500,000 บาทต่อปีสำหรับบุคคลธรรมดา

ส่วนนิติบุคคลนั้นไม่จำกัดจำนวนการให้สินเชื่อ โดยเราอาจเริ่มเห็นแพลตฟอร์ม P2P Lending ในประเทศไทยซึ่งสามารถใช้งานได้จริง เช่น ได้เงิน ซึ่งเน้นสินเชื่อที่มีรีไฟแนนซ์รถยนต์ หรือ PeerPower ที่เน้นการปล่อยสินเชื่อให้กับธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม โดยต้องมีคุณสมบัติของผู้ประกอบธุรกิจ ดังนี้

1.เป็นนิติบุคคลที่จดทะเบียนจัดตั้งในประเทศไทย

2.มีทุนจดทะเบียนไม่ต่ำกว่า 5 ล้านบาท ตลอดระยะเวลาการประกอบธุรกิจ

3.มีจำนวนหุ้นที่บุคคลผู้มีสัญชาติไทยถือหุ้นอยู่ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 75

ส่วนการขออนุญาตประกอบธุรกิจ มีเงื่อนไข ดังนี้

1.ผู้ประสงค์จะประกอบธุรกิจต้องเข้าร่วมในการทดสอบใน Regulatory Sandbox กับธนาคารแห่งประเทศไทยจนประสบความสำเร็จและพร้อมให้บริการในวงกว้าง

2.ยื่นขออนุญาตกับธนาคารแห่งประเทศไทย โดยธนาคารแห่งประเทศไทยจะเสนอความเห็นต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเพื่อพิจารณาอนุญาต ให้แล้วเสร็จภายใน 60 วัน

3.การต่ออายุการอนุญาต ให้ผู้ประกอบธุรกิจยื่นคำขออนุญาตผ่านธนาคารแห่งประเทศไทยล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 90 วันก่อนวันครบกำหนดการอนุญาต

​ทั้งนี้ รายชื่อผู้ให้บริการสินเชื่อระหว่างบุคคลกับบุคคลที่อยู่ภายใต้ Regulatory Sandbox ของ ธปท. อาทิ

​1.บริษัท ดีพสปาร์คส์ เพียร์ เลนดิ้ง จำกัด ​อยู่ระหว่างทดสอบ

2​.บริษัท เนสท์ติฟลาย จำกัด​ 28 กันยายน 2563​ ​อยู่ระหว่างทดสอบ​

​3.บริษัท เพียร์ พาวเวอร์ แพลตฟอร์ม จำกัด ​​อยู่ระหว่างทดสอบ

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://www.bot.or.th/Thai/ConsumerInfo/Documents/P2P_3May2019.pdf

สำหรับผู้ที่สนใจใช้บริการทั้ง 2  สินเชื่อ สามารถตรวจสอบรายชื่อผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับอนุญาตทางเว็บไซต์ของ ธปท. (BOT license check) ในกรณีที่ผู้ใช้บริการได้รับโทรศัพท์ หรือ SMS ที่อ้างว่าเป็นผู้ให้บริการสินเชื่อ แต่ไม่มั่นใจว่าเป็นมิจฉาชีพแอบอ้างหรือไม่ สามารถติดต่อไปยังคอลเซ็นเตอร์ของธนาคาร หรือ บริษัทที่ถูกอ้างถึง หรือขอคำปรึกษาได้ที่ศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน (ศคง.) โทร. 1213 หรือ ติดตามเฟซบุ๊ก ศคง. 1213

ที่มา : https://www.bot.or.th/Thai/BOTMagazine/Pages/256404TheKnowledge_DigitalPLoan.aspx

https://www.springnews.co.th/news/815494

https://themomentum.co/the-role-of-peer-to-peer-lending/

Exit mobile version