ที่ผ่านมาเราจะเห็นว่า เริ่มมีประชาชนชนหลายคนออกมารีวิวว่า แจ้งเบาะแสคนทำผิดวินัยจราจร แล้วจะได้รับส่วนแบ่งค่าปรับ 50% จนทำให้เกิดกระแสฮือฮามาพักหนึ่ง และพากันตั้งคำถามว่า เป็นเรื่องจริงหรือไม่ ถ้าทำแล้วจะได้เงินจริงหรือเปล่า แล้วขั้นตอน ต้องทำอย่างไรบ้าง วันนี้ มีค่า นิวส์ เลยไปหาคำตอบมาให้ค่ะ
กรมการขนส่งทางบก เปิดให้ประชาชนช่วยแจ้งเบาะแสการกระทำความผิดตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์และกฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางบก เพื่อรับส่วนแบ่งค่าปรับ 50% หลังหักเงินนำส่งรายได้แผ่นดิน นำไปพัฒนาประเทศ ซึ่งเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่วันที่ 9 ธันวาคม 2562 แล้วค่ะ
สำหรับการจ่ายเงินส่วนแบ่งค่าปรับให้ผู้แจ้ง มีขั้นตอนดังต่อไปนี้
1.ประชาชนแจ้งพฤติการณ์การกระทำความผิด โดยต้องมีหลักฐานเชิงประจักษ์ครบถ้วน เช่น
– ภาพ หรือ คลิปวิดีโอต้องบันทึกการกระทำความผิดที่ชัดเจน
– วันเวลา สถานที่เกิดเหตุ รายละเอียดรถ ทะเบียนรถ และอื่น ๆ ให้มากที่สุด เพื่อให้เจ้าหน้าที่สามารถติดตามได้อย่างรวดเร็ว
– ผู้แจ้งต้องระบุชื่อและนามสกุลของผู้แจ้ง ที่อยู่ และหมายเลขโทรศัพท์ ช่องทางการติดต่อและในกรณีผู้แจ้งประสงค์จะขอรับเงินส่วนแบ่งค่าปรับให้ระบุหมายเลขบัญชีธนาคารของผู้แจ้งด้วย โดยข้อมูลของผู้แจ้งจะถูกปกปิดเป็นความลับ!!
2.ช่องทางในการติดต่อ เมื่อรวบรวมหลักฐานครบถ้วนแล้ว สามารถแจ้งข้อมูลได้ที่
– สายด่วน 1584
– Line@ : @1584DLT
– Facebook: 1584 ร้องเรียนรถโดยสารสาธารณะ
– เว็บไซต์ http://ins.dlt.go.th/cmpweb/ หรือ https://www.dlt.go.th/
– E-mail: dlt_1584complain@hotmail.com
– เดินทางมาร้องเรียนด้วยตนเอง หรือ ร้องเรียนผ่านศูนย์บริการข้อมูลภาครัฐ “GECC 1111 ทำเนียบรัฐบาล” และ “GECC กรมการขนส่งทางบก”
3.ผู้แจ้งจะได้รับข้อความ SMS ยืนยันการรับแจ้ง เรื่องร้องเรียน
4.กรมการขนส่งทางบก จะดำเนินการตามกระบวนสืบข้อเท็จจริงตามที่มีผู้แจ้ง โดยเรียกตัวผู้ถูกร้องเรียนมารายงานตัวและสอบสวนจนได้ข้อยุติ
5.การรับเงินส่วนแบ่ง จะได้รับภายหลังจากที่ผู้กระทำความผิดชำระค่าปรับตามที่เปรียบเทียบปรับแล้ว และจะมีข้อความ SMS ส่งให้ผู้แจ้งทราบผลการดำเนินการ ก่อนดำเนินการโอนเงินส่วนแบ่งค่าปรับภายใน 15 วันทำการ
สำหรับรถส่วนบุคคลหากเป็นลักษณะความผิดเกี่ยวกับตัวรถตาม พ.ร.บ.รถยนต์ ปี 2522 สามารถแจ้งเบาะแสได้ เช่น
– ดัดแปลงไฟหน้าหรือไฟท้ายรถ ทำให้สีของแสงไฟไม่เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด (ตามกฎหมายไฟท้ายต้องเป็นสีแดง ไฟเลี้ยวต้องเป็นสีเหลืองอำพัน)
– นำวัสดุอื่นใดมาปิดบังแผ่นป้ายทะเบียน แขวนหรือติดตุ๊กตาบดบังแผ่นป้ายทะเบียน ทำให้ไม่สามารถมองเห็นตัวอักษร ตัวเลข หรือจังหวัด ได้ชัดเจน
– แก้ไขหรือดัดแปลงตัวเลขบนแผ่นป้ายทะเบียน เช่น ปิดแผ่นทองบนหมายเลขทะเบียนเพิ่มเติมตัวเลขบนแผ่นป้ายทะเบียนรถใช้กรอบแผ่นป้ายลายกราฟิกปิดทับแผ่นป้ายทะเบียน ตัดแผ่นป้ายทะเบียนรถ
– แก้ไขดัดแปลงขนาดของล้อรถให้ล้นเกินตัวถัง รถกระบะต่อเติมตัวถังหรือโครงหลังคาเกิน 3 เมตร
– นำรถที่มีสภาพไม่มั่นคงแข็งแรงหรืออุปกรณ์ส่วนควบไม่ครบถ้วนมาใช้บนทาง เช่น ไม่มีไฟท้าย/ไฟเบรก เป็นต้น
ส่วนความผิดของรถส่วนบุคคลที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมการขับรถ เช่น การขับรถย้อนศร ฝ่าไฟแดง จอดรถในที่ห้ามจอด แซงในเส้นทึบ ไม่ปฏิบัติตามสัญญาณจราจร และการฝ่าฝืนกฎจราจรอื่น ๆ เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก ปี 2522 เป็นอำนาจหน้าที่ของเจ้าพนักงานจราจร สำนักงานตำรวจแห่งชาติ
นอกจากนี้ ยังสามารถแจ้งเบาะแสพฤติการณ์การกระทำความผิดที่เกี่ยวข้องกับรถโดยสารสาธารณะทุกประเภทได้ด้วย ทั้งด้านความปลอดภัย มาตรฐานตัวรถ หรือคุณภาพการให้บริการ เช่น ความผิดตาม พ.ร.บ.ขนส่งทางบก ปี 2522 ได้แก่
– ค่าควันดำเกินที่กฎหมายกำหนด
– เก็บค่าโดยสารเกินที่กฎหมายกำหนด
– บรรทุกผู้โดยสารเกินจำนวนที่นั่งผู้โดยสาร
– จอดรถในทางเดินรถหรือไหล่ทางโดยไม่แสดงเครื่องหมายหรือสัญญาณ
– ไม่ใช้อุปกรณ์ล็อกตู้บรรทุกสินค้า
– สูบบุหรี่ในขณะปฏิบัติหน้าที่
– ติดตั้งสปอตไลต์ เป็นต้น
รวมถึงความผิดตาม พ.ร.บ.รถยนต์ ปี 2522 ได้แก่
– รถแท็กซี่ดัดแปลงมิเตอร์
– กระทำลามกอนาจาร
– ทิ้งผู้โดยสารระหว่างทาง
– เก็บค่าโดยสารเกิน
– ขับรถประมาทหวาดเสียวอันอาจเกิดอันตรายแก่บุคคลอื่น
– ปฏิเสธไม่รับผู้โดยสาร เป็นต้น
ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์กรมการขนส่งทางบก https://www.dlt.go.th/