Mekha News (มีค่านิวส์) : เว็บไซต์ข่าว ที่จะนำเสนอข่าวสารเพื่อรักษาสิทธิให้กับคุณ

กระทรวงพาณิชย์ชี้แจง “น้ำมันปาล์มขวดแพง” เพราะประเทศผู้ผลิตเจอโควิด ส่วนเนื้อหมูยังซื้อขายราคาปกติ

นายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า จากกรณีน้ำมันปาล์มบรรจุขวด สำหรับใช้ประกอบอาหาร มีราคาพุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากปกติขวดละ 44-47 บาท เพิ่มเป็น 51-60 บาท ซึ่งสูงกว่าราคาที่กรมการค้าภายในเคยขอความร่วมมือเมื่อช่วงต้นปี ที่ให้ขายขวดละ 49 บาท ไม่ต่างจากในห้างสรรพสินค้า ซูเปอร์มาร์เกต ขายราคาขวดละ 51-54 บาท จำกัดปริมาณซื้อไม่เกินคนละ 6 ขวด ส่วนร้านโชห่วย ร้านขายของชำ ขายราคาขวดละ 60 บาท สาเหตุเนื่องจาก

1.ในปีการผลิต 2564 ผลผลิตปาล์มของประเทศอินโดนีเซียและมาเลเซีย ซึ่งถือเป็นประเทศผู้ผลิตสำคัญ มีปริมาณผลปาล์มออกสู่ตลาดลดลงไม่น้อยกว่า 5% เป็นผลมาจากสถานการณ์ Covid-19 ที่ส่งผลกระทบต่อแรงงานและการเก็บเกี่ยวผลปาล์ม ทำให้ภาพรวมปริมาณผลปาล์มในตลาดโลกลดลง

2.ราคาน้ำมันปาล์มตลาดโลกสูงขึ้น ส่งผลให้ประเทศไทยสามารถส่งออกน้ำมันปาล์มดิบได้มากขึ้น

3.ราคาผลปาล์มในประเทศไทยปรับสูงขึ้นเฉลี่ยมกราคม-พฤศจิกายน 2564 อยู่ที่ 6.76 บาทต่อกิโลกรัม

4.ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา เกษตรกรที่ผลิตปาล์มคุณภาพดี สามารถขายได้ในราคา 10 บาทต่อกิโลกรัม สูงสุดในรอบ 10 ปี จากเดิมราคาเฉลี่ยปี 2563 อยู่ที่ 4.78 บาทต่อกิโลกรัม หรือเพิ่มขึ้นประมาณ 41% ซึ่งถือว่าราคาที่มีการปรับสูงขึ้นเกษตรกรชาวสวนปาล์มได้รับประโยชน์อย่างเต็มที่

5.ผลผลิตในประเทศในช่วงปลายปี ถือว่าเป็นฤดูกาลที่ผลปาล์มออกจะสู่ตลาดน้อย แต่ผลผลิตถั่วเหลืองตลาดโลกในฤดูกาลใหม่ได้เริ่มออกสู่ตลาด คาดว่าจะมีปริมาณเพิ่มขึ้นจากปีก่อนไม่น้อยกว่า 5% ซึ่งจะทำให้มีปริมาณน้ำมันถั่วเหลืองเข้ามาทดแทนในระบบมากขึ้น

จากสถานการณ์ราคาผลปาล์มและน้ำมันปาล์มดิบที่สูงขึ้นในช่วงที่ผ่านมา กรมการค้าภายในได้ขอความร่วมมือผู้ประกอบการโรงสกัดในการตรึงราคา แม้ว่าราคาน้ำมันปาล์มดิบจะมีราคาปรับสูงขึ้นจากเฉลี่ยปี 2563 ที่ 28.10 บาทต่อกิโลกรัม เป็นเฉลี่ย มกราคม-พฤศจิกายน 2564 ที่ 37.24 บาทต่อกิโลกรัม หรือ เพิ่มขึ้นประมาณ 33% สำหรับราคาน้ำมันปาล์มบรรจุขวดในห้างค้าปลีกค้าส่งอยู่ที่ 50 – 53 บาทต่อขวด

ซึ่งเพิ่มจากช่วงก่อนหน้านี้ ที่ประมาณ 46 บาทต่อขวด หรือเพิ่มขึ้นประมาณ 12% ซึ่งสถานการณ์ราคาปาล์มน้ำมันที่ปรับสูงขึ้นเกษตรกรชาวสวนปาล์มได้รับประโยชน์อย่างเต็มที่ ซึ่งรายได้ที่เกิดขึ้นจะนำไปช่วยหมุนเวียนในเศรษฐกิจต่อไป

สำหรับกรณีที่ปรากฎเป็นข่าวว่า สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติได้มีการประกาศปรับราคาจำหน่ายสุกรมีชีวิตเป็น 84 บาทต่อกิโลกรัม เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2564 นั้น จากการติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด พบว่าราคาซื้อขายและส่งมอบยังอยู่ที่ราคาไม่เกิน 80 บาทต่อกิโลกรัมตามที่ให้ความร่วมมือกับกรมการค้าภายในไว้

โดยวันที่ 8 พฤศจิกายน 2564 ราคาจำหน่ายปลีกหมูเนื้อแดงไม่ตัดแต่งอยู่ที่ 135 – 140 บาทต่อกิโลกรัม ราคาจำหน่ายปลีกหมูเนื้อแดงตัดแต่งอยู่ที่ 145 – 150 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งเป็นราคาเดียวกับปีก่อน สำหรับราคาจำหน่ายปลีกหมูเนื้อแดงชำแหละในห้างค้าปลีกค้าส่ง พบว่าราคายังอยู่ที่  119 – 122 บาทต่อกิโลกรัม

สำหรับด้านปริมาณสุกรในปีนี้ กรมปศุสัตว์แจ้งว่า ปริมาณผลผลิตลดลงจากปีก่อน โดยคาดว่าจะมีปริมาณสุกรที่  15.86 ล้านตัว ลดลงจากปีก่อน 30% ขณะที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค ASF ในประเทศจีนซึ่งเป็นผู้นำเข้ารายใหญ่ดีขึ้น ทำให้ความต้องการนำเข้าสุกรจากประเทศไทยลดลง ประกอบกับความต้องการบริโภคของประชาชนลดลงจากเดิม 22 กิโลกรัม/คน/ปี เหลือ 16 กิโลกรัม/คน/ปี คิดเป็นปริมาณสุกร 5 ล้านตัว หรือลดลง 38%

ซึ่งจากการติดตามสถานการณ์พบว่า ปริมาณเนื้อสุกรชำแหละในสต็อกยังมีอยู่พอสมควร จึงเชื่อว่าปริมาณเนื้อสุกรชำแหละจะมีเพียงพอ อย่างไรก็ตามกรมการค้าภายในได้ติดตามสถานการณ์ทั้งด้านปริมาณและราคาเนื้อสุกรร่วมกับกรมปศุสัตว์อย่างใกล้ชิด และหากพบว่าตลาดใดมีปริมาณเข้าสู่ในตลาดไม่เพียงพอจะได้ประสานสมาคมผู้เลี้ยงสุกรนำเนื้อสุกรชำแหละเข้าไปเสริมในตลาดหรือจะจัดจำหน่ายหมูธงฟ้า

ในเรื่องนี้ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้สั่งการให้กรมการค้าภายในและสำนักงานพาณิชย์จังหวัดติดตามการจำหน่ายน้ำมันปาล์มบรรจุขวด ราคาเนื้อสุกร และราคาสินค้าอุปโภคบริโภคอย่างใกล้ชิด หากพบว่ามีการฉวยโอกาส ขอได้โปรดแจ้งที่ สายด่วนกรมการค้าภายใน 1569 ตลอด 24 ชั่วโมง

Exit mobile version