ช่วงที่ผ่านมาเรามักจะเห็นข่าวที่มีผู้ที่ถูกหลอกจากแก๊งคอลเซนเตอร์บ่อย ๆ เพราะแอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่ ด้วยความแนบเนียน เลยทำให้เราหลงเชื่อได้ง่าย ๆ กว่าจะรู้ตัวอีกที ก็เสียเงิน เสียทรัพย์สินไปแล้ว คราวนี้ เราจะทำอย่างไร ถึงจะป้องกันจากการตกเป็นเหยื่อได้ ? มีค่า นิวส์ จึงมีวิธีสังเกตถ้าแก๊งคอลเซนเตอร์โทรหาอ้างเป็น “เจ้าหน้าที่” มาฝากค่ะ
1.เรียกชื่อหน่วยงานผิด เช่น อ้างเป็นตำรวจ สภ.เชียงใหม่ (ตกคำว่า “เมือง” ไป) ที่ถูกต้อง คือ สภ.เมืองเชียงใหม่ หรือใช้ตัวย่อผิด เช่น สภ.ภูธรพนัสนิคม ที่ถูกต้อง คือ สภ.พนัสนิคม สภ. ย่อมาจากสถานีตำรวจภูธร จึงไม่ต้องใส่คำว่า “ภูธร” อีก
2.ปกติการติดต่อก็ควรใช้การโทรศัพท์สายปกติ แต่คนร้ายต้องการปกปิดเบอร์โทร จึงใช้การโทรผ่านระบบไลน์ หรือ Skype ซึ่งสามารถสร้างโพรไฟล์หลอกได้ด้วย
3.หลอกว่าให้โอนเงินในบัญชีไปให้ตรวจสอบ เพื่อแสดงความบริสุทธิ์ใจ ข้อเท็จจริง : เงินในบัญชี ไม่ใช่หลักฐานที่จะต้องส่งไปให้ตรวจการตรวจสอบที่มาของการโอนเงิน เจ้าหน้าที่ดูรายการเดินบัญชีจากธนาคารก็เพียงพอแล้ว
4.ไม่มีหน่วยงานรัฐที่ไหน ใช้วิธีโทรไปหาประชานชนเพื่อให้โอนเงิน และที่สำคัญ เป็นการโอนเข้าบัญชีใครก็ไม่รู้ ข้อแนะนำ
5.ตั้งสติ ถ้ามั่นใจว่าเราไม่ได้ทำตามที่เขาแอบอ้าง ก็วางสายได้เลย
6.โทรกลับไปตรวจสอบที่หน่วยงานนั้น ๆ โดยสามารถหาเบอร์โทรที่ถูกต้องได้จาก Google ถ้าเป็น “หน่วยงานตำรวจ” สามารถค้นหาเบอร์ได้ โดยดาวน์โหลด แอปพลิเคชัน “สมุดโทรศัพท์ตำรวจ” ที่พัฒนาโดย กองสารนิเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ จาก App Store หรือ Play Store ไม่ควรโทร.เบอร์ที่เขาให้มา เพราะคนร้ายอาจใช้ IP Phone เปลี่ยนเบอร์ตบตาเรา
7.อย่าลนลาน ให้นำเรื่องไปถามคนที่ไว้ใจก่อนไม่โอนเงินทุกกรณี
ที่มา : สำนักงานตำรวจแห่งชาติ