Mekha News (มีค่านิวส์) : เว็บไซต์ข่าว ที่จะนำเสนอข่าวสารเพื่อรักษาสิทธิให้กับคุณ

สวรส. ร่วม EEC ตั้งศูนย์ถอดรหัสพันธุกรรมอาสาสมัครคนไทย 5 หมื่นราย ใช้ตั้งต้นเป็นข้อมูลรักษาผู้ป่วย 5 โรค แม่นยำ ตรงจุด

สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ร่วมพิธีลงนามสัญญาจ้างบริการถอดรหัสพันธุกรรม โดยร่วมกับกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) หรือ EEC และกิจการร่วมค้าไทยโอมิกส์  โดยมี ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ตลอดจนผู้บริหารระดับสูง หน่วยงานพันธมิตร เป็นสักขีพยาน

การจัดตั้งศูนย์บริการทดสอบทางการแพทย์จีโนมิกส์ เกิดขึ้นเพื่อดำเนินการถอดรหัสพันธุกรรมทั้งจีโนมของอาสาสมัครคนไทยภายใต้แผนงานจีโนมิกส์ประเทศไทย จากอาสาสมัครที่ร่วมโครงการ จำนวน 50,000 ราย โดยศูนย์บริการฯ นี้จะจัดตั้งขึ้นภายในอาคาร 10 ปี เภสัชศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา

ซึ่งคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) อนุมัติให้จัดตั้งเป็นเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ โดยปี 2563 ที่ผ่านมา ได้มีการเตรียมการมาอย่างต่อเนื่องทั้งการกำหนดรายละเอียดทางด้านเทคนิค และวิธีการถอดรหัสพันธุกรรมทั้งจีโนม 

ความสำคัญของการพัฒนาการวิจัยด้านการแพทย์จีโนมิกส์ จะมีประโยชน์โดยเฉพาะทางการแพทย์ ที่จะศึกษาข้อมูลทางพันธุกรรม ค้นหาความผิดปกติบนจีโนมของประชากรไทยเพื่อเป็นฐานข้อมูลจีโนมอ้างอิง ตลอดจนเพื่อการศึกษาไปข้างหน้าแบบระยะยาว และเพื่อการวิเคราะห์ สังเคราะห์หาปัจจัยที่มีความเกี่ยวข้องระหว่างยีนกับสุขภาพ หรือการเกิดโรคต่าง ๆ

การถอดรหัสพันธุกรรมของคนไทยในแผนงานจีโนมิกส์ประเทศไทย มุ่งเป้าใน 5 กลุ่มโรค ได้แก่ กลุ่มโรคมะเร็ง โรคที่ไม่ได้รับการวินิจฉัยและหายาก โรคติดเชื้อ โรคไม่ติดต่อ และกลุ่มเภสัชพันธุศาสตร์ ป้องกันการแพ้ยาและการเลือกใช้ยาที่เหมาะสม

ดร.สาธิต รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า  โครงการพัฒนาศูนย์บริการทดสอบทางการแพทย์จีโนมิกส์ในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก จะเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญของการพัฒนาและเปลี่ยนแปลงระบบสาธารณสุขไทยครั้งสำคัญ ซึ่งจะเกิดประโยชน์กับประเทศในเชิงของการศึกษาวิจัย และการนำเทคโนโลยีขั้นสูงมาใช้ในทางการแพทย์ เพื่อช่วยในการวินิจฉัย รักษา และป้องกันโรค ได้อย่างแม่นยำมากขึ้น ในรูปแบบที่เราเรียกว่า “การแพทย์แม่นยำ หรือ precision medicine”

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การนำไปใช้ในการรักษาที่อยู่ในระบบประกันสุขภาพไทย ซึ่งจะทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการได้อย่างทั่วถึง เกิดประโยชน์ต่อประชาชนโดยตรง ทั้งยังส่งผลให้ประเทศไทยสามารถลดอัตราการเกิดโรคลงได้ถึงร้อยละ 10

นอกจากนี้ ผลที่ได้จากการศึกษาวิจัย จะช่วยต่อยอดทั้งการรักษาพยาบาล การส่งเสริมพัฒนาอุตสาหกรรมและบริการใหม่ให้เกิดขึ้นทั้งในภาครัฐและเอกชน รวมไปถึงการขยายตัวทางธุรกิจต่อเนื่องที่เกี่ยวข้องกับการแพทย์จีโนมิกส์ ถือเป็นการลงทุนและวางรากฐานเศรษฐกิจภายในประเทศให้เข้มแข็ง พร้อมเชื่อมโยงกับเวทีโลก หรือก้าวขึ้นสู่การเป็นผู้นำในการใช้ประโยชน์จากข้อมูลรหัสพันธุกรรมต่อไปในอนาคต

ด้านนายแพทย์นพพร ชื่นกลิ่น ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข ระบุว่า หัวใจสำคัญของโครงการพัฒนาศูนย์บริการทดสอบทางการแพทย์จีโนมิกส์ในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หน้าที่ของ สวรส.คือจะต้องจัดการถอดรหัสพันธุกรรมของคนไทยจากอาสาสมัครที่เป็นตัวอย่าง 50,000 รายภายในระยะเวลา 5 ปี สวรส. ได้ร่วมกับ สกพอ. ดำเนินการคัดเลือกผู้ประกอบการที่มีความรู้ ความสามารถ ซึ่งดำเนินการคัดเลือกในรูปของคณะกรรมการกำหนดรายละเอียดขอบเขตงานจ้างบริการถอดรหัสพันธุกรรมทั้งจีโนม ซึ่งความยากของการดำเนินงานในโครงการนี้มีอยู่ 2 เรื่อง คือ

1.การจัดจ้างเป็นการลงทุนด้านเทคโนโลยีที่ใหม่มาก จึงเลือกพื้นที่จัดตั้งศูนย์บริการทดสอบทางการแพทย์จีโนมิกส์ ในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก เพื่อสร้างแรงจูงใจให้ผู้ประกอบการเอกชนเข้ามาลงทุน

2.เป็นการประกวดราคาที่ยังไม่เคยเกิดขึ้นในประเทศไทย ภายใต้เงื่อนไขว่าผู้ประกอบการต้องเป็น ผู้นำเข้าเทคโนโลยี และต้องมีการถ่ายทอดเทคโนโลยีดังกล่าว รวมทั้งต้องมีบุคลากรสัญชาติไทยร่วมอยู่ในโครงการด้วย

นายแพทย์นพพร กล่าวอีกว่า การแพทย์จีโนมิกส์ เป็นการสร้างนวัตกรรมใหม่สำหรับการรักษาพยาบาลและการวิจัยทางการแพทย์ ดังนั้น การส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาด้านการแพทย์จีโนมิกส์ ภายใต้แผนงานจีโนมิกส์ประเทศไทย จึงถือเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญที่จะนำไปสู่การยกระดับประเทศ ทั้งในด้านคุณภาพชีวิตของประชาชน การพัฒนางานวิจัยที่สอดคล้องกับปัญหาสาธารณสุขปัจจุบัน

ตลอดจนเกิดการแข่งขันทั้งทางด้านอุตสาหกรรมและบริการการแพทย์สมัยใหม่ รองรับความต้องการของประชาชนทั้งในประเทศและต่างประเทศ ส่งผลต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศต่อไป

ขณะที่นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC เปิดเผยว่า ความร่วมมือฯ ในวันนี้ ถือเป็นก้าวแรกในการส่งเสริมการบริการสมัยใหม่ที่มีการใช้เทคโนโลยีขั้นสูงด้านการแพทยจีโนมิกส์ ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศ ใน 3 ด้านหลัก ได้แก่

1. ด้านการแพทย์และสาธารณสุข จะทำให้การดูแลรักษาสุขภาพของประชาชนได้ดีขึ้น

 2. ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ทำให้เกิดการวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีทางการแพทย์ จากการใช้ข้อมูลทางพันธุกรรม มีความร่วมมือด้านการแพทย์จีโนมิกส์กับสถาบันชั้นนำระดับโลก และเกิดการถ่ายทอด เทคโนโลยี

3. ด้านเศรษฐกิจและสังคม เป็นการส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจรภายในประเทศ ทั้งการลงทุนด้านการบริการการแพทย์แม่นยำและการพัฒนายาและเวชภัณฑ์จากข้อมูลจีโนมของคนไทย  

ทั้งนี้ จะส่งเสริมให้เกิดการลงทุนในอุตสาหกรรมการแพทย์โดยเฉพาะการบริการสมัยใหม่ที่มี การใช้เทคโนโลยีขั้นสูง โดยเริ่มต้นจากการลงทุนศูนย์บริการทดสอบทางการแพทย์จีโนมิกส์ในพื้นที่ EEC ก่อให้เกิดการจ้างงานบุคลากรสายวิชาชีพและสายสนับสนุนในพื้นที่ ทำให้เกิดรายได้และยกระดับความเป็นอยู่ ของประชาชนในพื้นที่

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม ได้ที่หน่วยงานสื่อสาร สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข หรือ โทรติดต่อคุณกันติพิชญ์ ใจบุญ (กอล์ฟ) เบอร์ 02-027-9701 ต่อ 9036 / 081 701 2872 / guntipich@hsri.or.th  คุณฐิติมา นวชินกุล (เดียร์) เบอร์ 02-027-9701 ต่อ 9035 / 081 686 4147 / thitima@hsri.or.th

Exit mobile version