Site icon Mekha News (มีค่านิวส์) : เว็บไซต์ข่าว ที่จะนำเสนอข่าวสารเพื่อรักษาสิทธิให้กับคุณ

คปภ.เบรก “เดอะวันประกันภัย” เปลี่ยนความคุ้มครองอัตโนมัติไม่ได้ ลูกค้าต้องยินยอม ฝ่าฝืนปรับครั้งละ 3 แสนบาท!

"เดอะวันประกันภัย” ไม่มีสิทธิยกเลิกประกันโควิด “เจอ จ่าย จบ” แบบอัตโนมัติ

กรณีบริษัท เดอะวัน ประกันภัย แจ้ง SMS และ ไลน์ ขอเปลี่ยนเงื่อนไขความคุ้มครองในกรมธรรม์ แบบเจอจ่ายจบ อ่านเพิ่มเติมที่ https://mekhanews.com/2021/11/14/the-oic-confirms-the-one-insurance-informs-the-insurer-that-it-has-been-paid-and-changed-to-a-new-policy-that-is-not-illegal/

นายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย หรือ คปภ. ยืนยันว่า บริษัทประกันสามารถทำได้ เพื่อบริหารสภาพคล่องของบริษัทเอง แต่การเปลี่ยนแปลงความคุ้มครอง จะต้องได้รับความยินยอมจากผู้ซื้อประกันเท่านั้น

บริษัทไม่สามารถดำเนินการเปลี่ยนแปลงให้เองโดยอัตโนมัติ หรือ ด้วยวิธีการบังคับ ซึ่งหากบริษัทดำเนินการเปลี่ยนแปลงความคุ้มครองโดยพละการ จะถือว่ามีความผิดตามคำสั่งของ คปภ. โดยมีโทษสูงสูดปรับไม่เกินครั้งละ 300,000 บาท
 
เลขาธิการ คปภ. ยอมรับว่า ยังมีประเด็นที่สมาคมมีความเห็นไม่ตรงกับ คปภ. ซึ่งต้องการให้ คปภ. ยกเลิกคำสั่งที่ประกาศ “ยกเลิกสิทธิของบริษัทประกันในการบอกเลิกกรมธรรม์ลูกค้า” ลงวันที่ 16 ก.ค.64 เนื่องจาก คปภ. มองว่าจะทำให้ผู้บริโภคหลายล้านคนได้รับผลกระทบ และทำลายความเชื่อมั่นของอุตสาหกรรมภัยในในภาพรวม

แต่ทั้งนี้ ในอนาคตบริษัทประกันอื่น ยังสามารถบริหารความเสี่ยงด้านสภาพคล่อง ด้วยการขอเปลี่ยนแปลงความคุ้มครองได้ แต่จะต้องได้รับความยินยอมจากลูกค้าแล้วเท่านั้น ไม่สามารถดำเนินการเปลี่ยนแปลงได้โดยอัตโนมัติ หรือการบังคับ ซึ่งผู้บริโภคสามารถร้องเรียนมาที่ คปภ. เพื่อดำเนินการเอาผิดได้ 

จากการทำประเมินความทนทานภายใต้สถานการณ์เศรษฐกิจมหภาคจำลอง (Stress Test) ของบริษัทประกันภัย ยังพบว่ามีฐานะความมั่นคงทางการเงินในระดับที่ปลอดภัย ส่วนบริษัทประกันที่เข้าสู่มาตรการช่วยเหลือของ คปภ. ล่าสุดมี 3 บริษัท ได้แก่ ไทยประกันภัย สินมั่นคงประกันภัย และเดอะวันประกันภัย

ซึ่งบริษัทเหล่านี้ยังมีความสามารถในการจ่ายค่าสินไหมให้ผู้เอาประกันได้ โดยหลังจากนี้ คปภ. จะเชิญบริษัทต่างๆ ที่มีประกันโควิดเข้ามาทำการทดสอบระบบเพิ่มเติม เพื่อดูความมั่นคงทางการเงินอีกครั้ง
 
“คปภ. และสมาคม เห็นตรงกันที่จะดูแลผลประโยชน์ของผู้บริโภคอย่างดีที่สุด แต่หากบริษัทประกันเริ่มมีปัญหาเรื่องสภาพคล่อง ก็สามารถเสนอทางเลือกในการเปลี่ยนแปลงความคุ้มครองไปยังลูกค้าได้ ส่วนลูกค้าจะเปลี่ยนแปลงความคุ้มครองหรือไม่ ต้องเป็นไปโดยสมัครใจ

บริษัทไม่สามารถเปลี่ยนให้อัตโนมัติ โดย คปภ. จะติดตามสถานการณ์บริษัทประกันอย่างใกล้ชิด และพร้อมให้ความช่วยผ่าน 7 มาตรการที่ได้ประกาศไปก่อนหน้านี้ โดยจะขยายเวลาเข้าร่วมมาตรการได้ถึง มิ.ย. 65 ซึ่งจากการทดสอบความแข็งแกร่งของบริษัทประกันขณะนี้ ระบบยังมีความแข็งแกร่ง ซึ่ง คปภ. ยังมีเวลาในการประเมินผลกระทบและออกมาตรการดูแลเพิ่มเติมได้” เลขา คปภ. กล่าว

ทั้งนี้ ข้อมูล ณ วันที่ 15 ต.ค. 64 มีบริษัทที่ขายประกันโควิดทั้งหมด 16 แห่ง ยอดขายสะสมช่วง 2 ปี (ปี 63-64 ) รวม 44 ล้านกรมธรรม์ ในจำนวนนี้เป็นกรมธรรม์แบบ เจอจ่ายจบ 10 ล้านกรมธรรม์ และยังมีกรมธรม์ที่ยังให้ความคุ้มครองอยู่อีกประมาณ 7 ล้านกรมธรรม์ โดยมีทุนประกันเฉลี่ย 50,000-100,000 บาทต่อกรมธรรม์ ส่วนยอดเคลม ล่าสุดอยู่ที่ 25,000 ล้านบาท
 
ขณะที่สถานะกองทุนประกันวินาศภัยปัจจุบันอยู่ที่ 5,000 ล้านบาท ซึ่งเพียงพอในการดูแลลูกค้าของบริษัทเอเชียประกันภัย 1950 จำกัด(มหาชน) ซึ่งหากกรณีกองทุนมีความจำเป็นในการใช้เงินเพิ่มก็สามารถกู้เงิน หรือหาแหล่งเงินเพื่อเสริมสภาพคล่องของกองทุนได้ตามกฎหมาย
 
ที่มา : ฐานเศรษฐกิจ

Exit mobile version