Mekha News (มีค่านิวส์) : เว็บไซต์ข่าว ที่จะนำเสนอข่าวสารเพื่อรักษาสิทธิให้กับคุณ

กรมควบคุมโรค จัดงานเสวนาออนไลน์ “ยุติความเหลื่อมล้ำ ยุติเอดส์” ชวนคนไทยร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการยุติเอดส์ เนื่องในวันเอดส์โลก 1 ธันวาคม ด้วยการไม่เลือกปฏิบัติ เปลี่ยนมุมมองเกี่ยวกับโรคเอดส์ เพื่อให้ผู้ติดเชื้อเอชไอวี มีคุณภาพชีวิตที่เท่าเทียมกับคนทั่วไปในสังคม

วันที่ 26 พฤศจิกายน 2564 เวลา 14.00 – 15.00 น. กองโรคเอดส์และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข จัดงานเสวนาหัวข้อ “ยุติความเหลื่อมล้ำ ยุติเอดส์” “End inequalities. End AIDS. End pandemics.” โดยถ่ายทอดสดผ่านเฟซบุ๊ก (Facebook Live) ของกองโรคเอดส์และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ กรมควบคุมโรค ดำเนินรายการ โดยคุณอธิวัฒน์ ธีรนิธิศนันท์ พร้อมผู้ร่วมรายการ  ประกอบด้วย แพทย์หญิงชีวนันท์ เลิศพิริยสุวัฒน์ ผู้อำนวยการกองโรคเอดส์และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ กรมควบคุมโรค และคุณกรินทร์ อ่องชุ่ม Youtuber เจ้าของเพจ หิ้วหวี (ตูน หิ้วหวี) 

แพทย์หญิงชีวนันท์ ผู้อำนวยการกองโรคเอดส์และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ กรมควบคุมโรค เปิดเผยว่า เนื่องจากวันที่ 1 ธันวาคมของทุกปี เป็นวันเอดส์โลก (World AIDS Day) ซึ่งปัจจุบันปี 2564 ประเทศไทยมีผู้ติดเชื้อเอชไอวีที่ยังมีชีวิตอยู่จำนวน 490,000 คน และมีผู้ติดเชื้อรายใหม่ จำนวน 5,800 คนต่อปี โดยกระทรวงสาธารณสุข มีเจตนารมณ์อย่างมุ่งมั่นในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์แห่งชาติว่าด้วยการยุติปัญหาเอดส์ภายในปี 2573 ด้วยเป้าหมาย 3 ประการ คือ

1. ลดจำนวนผู้ติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่ ให้เหลือปีละไม่เกิน 1,000 คน

2. ลดการเสียชีวิตในผู้ติดเชื้อเอชไอวีเหลือปีละไม่เกิน 4,000 คน 

3. ลดการเลือกปฏิบัติอันเกี่ยวเนื่องจากเอชไอวีและเพศภาวะลงร้อยละ 90 

กรมควบคุมโรค จึงขอร่วมเป็นผู้นำในการรณรงค์ ยุติความเหลื่อมล้ำ ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนารูปแบบการจัดบริการด้านเอชไอวี ทั้งในด้านการป้องกัน การรักษา และการบำบัด ฟื้นฟู เพื่อให้ผู้มีเชื้อเอชไอวี สามารถมีคุณภาพชีวิตที่เท่าเทียมกับคนทั่วไป สำหรับความเหลื่อมล้ำในที่นี้ คือ ความไม่เท่าเทียม ในด้านอำนาจ สิทธิ สถานะ ซึ่งหลายคนถูกมองข้ามเรื่องสิทธิมนุษยชนที่ควรได้รับ หรือ หมดโอกาสในการเข้าถึงบริการด้านสุขภาพที่เกี่ยวกับการป้องกันและรักษาที่จำเป็น

ดังนั้น การยุติความเหลื่อมล้ำ ยุติเอดส์ จึงเป็นหัวใจสำคัญในการรับมือและแก้ไขปัญหาเอดส์ โดยเริ่มจากการสร้างความตระหนักรู้ ความเข้าใจอย่างถูกต้องว่า เอดส์ไม่ได้ติดต่อกันได้ง่าย ๆ แต่ติดเชื้อจากการมีเพศสัมพันธ์ โดยไม่ใส่ถุงยางอนามัย หรือ การใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน หรือ จากแม่สู่ลูกระหว่างการตั้งครรภ์ เป็นต้น จึงไม่อยากให้มีการเลือกปฏิบัติ เพราะทุกคนมีสิทธิเท่าเทียมกัน สามารถอยู่ร่วมกันได้ กินข้าวด้วยกันได้ เรียนด้วยกันได้ ใช้รถสาธารณะร่วมกันได้  ไม่ควรละเมิดสิทธิผู้อื่น ด้วยการบังคับตรวจเชื้อเอชไอวี และการเปิดเผยผลเลือดผู้อื่น

แพทย์หญิงชีวนันท์  ยังระบุว่า การป้องกันการติดเชื้อเอซไอวี มีหลากหลายรูปแบบ สำหรับวิธีที่ทำได้ง่ายที่สุด คือ การใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์  เพราะนอกจากจะป้องกันเชื้อเอชไอวีได้แล้ว ยังสามารถป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่น ๆ ได้ด้วย เช่น ซิฟิลิส หนองใน และโรคไวรัสตับอักเสบบี

ทั้งนี้ ในกรณีผู้ที่มีความเสี่ยง มีเพศสัมพันธ์บ่อยครั้ง การรับประทานยาป้องกันเชื้อเอชไอวี อย่างเช่น ยาเพร็พ (PrEP) เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่สามารถทำได้ โดยรับประทานทุกวัน วันละ 1 เม็ด หรือ รับประทานก่อนมีเพศสัมพันธ์ 24 ชั่วโมง  ส่วนในกรณีที่ประสบปัญหากระทันหัน เช่น ถูกข่มขืน หรือ ถุงยางอนามัยแตกขาดขณะมีเพศสัมพันธ์ สามารถรับประทานยาเพ็พ (PEP) นาน 1 เดือน พร้อมตรวจหาเชื้อเอชไอวีร่วมด้วยได้

สำหรับการตรวจคัดกรองเชื้อเอชไอวี คนไทยทุกคนที่มีบัตรประชาชน สามารถตรวจหาเชื้อเอชไอวีได้ฟรี ปีละ 2 ครั้งที่โรงพยาบาลภายใต้หลักประกันสุขภาพแห่งชาติทั่วประเทศ หรือสิทธิประกันสังคม เข้ารับการตรวจหาเชื้อได้ที่โรงพยาบาลตามสิทธิ ซึ่งหากพบว่าติดเชื้อ เข้ารับการรักษาได้ทันที ด้วยยาต้านไวรัส  

นอกจากนี้ ปัจจุบันมีการผลิตชุดตรวจเอชไอวีด้วยตนเอง HIV Self-Test  ออกมาจำหน่ายแล้ว ทำให้การตรวจสามารถทำได้ง่ายและตรวจได้ตลอดเวลา พร้อมกับการตรวจคัดกรองซ้ำที่โรงพยาบาล หากผลเป็นบวก ก็สามารถเข้ารับการรักษาได้ทันที และอยากจะแนะนำผู้ติดเชื้อเอชไอวี ให้ตรวจคัดกรอง เพราะหากพบเชื้อเร็ว จะช่วยป้องกันการเสียชีวิตได้

 ขณะเดียวกัน ภายในงานเสวนา นอกจากจะกล่าวถึงสถานการณ์โรคเอดส์แล้ว ยังได้มีการแลกเปลี่ยนมุมมองความเหลื่อมล้ำกับการทำงาน  โดยคุณกรินทร์ อ่องชุ่ม หรือ คุณตูน หิ้วหวี  เป็นตัวแทนแสดงความคิดเห็นว่า การจะยุติความเหลื่อมล้ำในที่ทำงานได้ จะต้องเริ่มที่การให้เกียรติผู้อื่นก่อน ควรยกเลิกการบังคับตรวจเอชไอวีในที่ทำงาน หรือ การเลือกปฏิบัติจากบางกิจกรรมในสังคม ยกตัวอย่าง เช่น การบริจาคเลือดบางสถานพยาบาล จะไม่ให้สาวประเภทสองที่มีเพศสัมพันธ์ด้านหลังเข้าบริจาค เพราะมองว่าเป็นกลุ่มเสี่ยงติดเชื้อเอชไอวี ทั้ง ๆ ที่ยังไม่ตรวจเลือด 

หรือ แม้แต่การบูลลี่ผู้ติดเชื้อเอชไอวี ทั้งทำร้ายร่างกาย ทำร้ายจิตใจด้วยการแสดงความเห็นในแง่ลบผ่านโซเชียลรวมถึงปัจจัยอีกหนึ่งประการ คือ ครอบครัว พ่อแม่ ผู้ปกครอง ไม่ควรอายที่จะพูดคุยกับลูกหลาน สอนการป้องกันติดเชื้อเอชไอวีอย่างถูกวิธี ให้ความรู้การใส่ถุงยางอนามัยขณะมีเพศสัมพันธ์ พร้อมทั้งรับฟังเมื่อลูกหลานเผชิญปัญหาอย่างเข้าใจส่วนวิธีรับมือกับการถูกเลือกปฏิบัติ คือ ทุกคนต้องรักตัวเอง มีความมั่นใจ มีทัศนคติที่ดี แล้วเราจะไม่มีความคิดที่ไม่ดีกับคนอื่น

อย่างไรก็ตาม กรมควบคุมโรค แนะช่องทางร้องเรียน เมื่อถูกบังคับตรวจเอชไอวี, ถูกเปิดเผยสถานะการติดเชื้อเอชไอวี, ถูกกีดกันหรือเลือกปฏิบัติ เนื่องมาจากการติดเชื้อเอชไอวี เข้าไปที่เว็บไซต์ https://crs.ddc.moph.go.th/crisis/public/ หรือ สอบถามเพิ่มเติมได้ที่กองโรคเอดส์และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ โทร.0 2590 3216 หรือ สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422

Exit mobile version