Mekha News (มีค่านิวส์) : เว็บไซต์ข่าว ที่จะนำเสนอข่าวสารเพื่อรักษาสิทธิให้กับคุณ

หมอเตือนคนไทย ระวัง! “มะเร็งกระเพาะอาหาร” ภัยเงียบ ไม่แสดงอาการ เผยสถิติพบผู้ป่วยรายใหม่วันละ 9 คน มีผู้เสียชีวิตวันละ 6 คน เช็กอาการ วิธีป้องกันที่นี่

จากข่าวที่เมื่อวานนี้ 7 ธันวาคม 2564 แม่ชีศันสนีย์ เสถียรสุต ผู้ก่อตั้งเสถียรธรรมสถาน เสียชีวิตอย่างสงบ สิริอายุ 68 ปี 1 เดือน 7 วัน และนับเป็น 41 พรรษา หลังป่วยด้วยโรค “มะเร็งกระเพาะอาหาร” และเข้ารับการรักษา ตั้งแต่ พ.ศ.2560

ล่าสุด มีค่า นิวส์ อยากจะเตือนทุกคน ให้ระวังโรคนี้ โดยข้อมูลจากนายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ ระบุว่า โรคมะเร็งกระเพาะอาหาร เป็นมะเร็งที่พบมาก เป็นอันดับ 5 ของมะเร็ง ที่พบทั้งหมดทั่วโลก โดยทั่วโลกมีผู้ป่วยมะเร็งกระเพาะอาหารประมาณ 1 ล้านคน

สำหรับประเทศไทยข้อมูลทะเบียนมะเร็งรายงานผู้ป่วยมะเร็งกระเพาะอาหารรายใหม่เกิดขึ้นวันละ 9 คน หรือ ปีละ 3,185 คน และมีผู้เสียชีวิตวันละ 6 คน หรือปีละ 2,176 คน  ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุการเกิดโรคมะเร็งกระเพาะอาหารที่แน่ชัด

ส่วนหลายปัจจัยที่อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรค เช่น

1.การติดเชื้อแบคทีเรีย Helicobacter pylori 

2.การรับประทานอาหารปิ้งย่าง

3.อาหารหมักดองที่อาจทำให้เกิดการอักเสบหรือเป็นแผลในกระเพาะอาหารเรื้อรัง

4.การสูบบุหรี่

ด้านนายแพทย์สกานต์ บุนนาค ผู้อำนวยการสถาบันมะเร็งแห่งชาติ กล่าวถึงอาการโรคมะเร็งกระเพาะอาหาร ดังนี้

1.ระยะเริ่มแรก อาจไม่มีอาการแสดงออกชัดเจน และอาจมีอาการคล้ายโรคอื่น ๆ เช่น

– โรคแผลในกระเพาะอาหาร หรือ กระเพาะอาหารอักเสบ

– อาการท้องอืดจุกแน่นท้องหลังรับประทานอาหาร

– กลืนอาหารลำบาก

– เบื่ออาหาร คลื่นไส้  อาเจียน

2.ในผู้ป่วยมะเร็งระยะลุกลาม

– อาจอาเจียนเป็นเลือด

– ถ่ายอุจจาระเป็นสีดำคล้ำ หรือ อาจมีเลือดปนในอุจจาระ

– น้ำหนักตัวลดโดยไม่ทราบสาเหตุ

สำหรับวิธีป้องกันโรคมะเร็งกระเพาะอาหาร คือ

1.ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหาร เช่น หลีกเลี่ยงอาหารปิ้งย่าง ที่อาจกระตุ้นทำให้เกิดการอักเสบเรื้อรัง

2.ลดความเสี่ยงการติดเชื้อในกระเพาะอาหาร โดยเฉพาะเชื้อ H. Pylori ที่เป็นตัวการสำคัญของมะเร็งกระเพาะอาหาร

ทั้งนี้ หากพบอาหารผิดปกติเหล่านี้ ควรรีบปรึกษาแพทย์ ในด้านการวินิจฉัยโรคทำได้ด้วยการส่องกล้องตรวจทางเดินอาหาร การตัดชิ้นเนื้อ เพื่อตรวจพิสูจน์ทางห้องปฏิบัติการ นอกจากนี้ ยังมีการตรวจเพิ่มเติมด้วยเอกซเรย์คอมพิวเตอร์เพื่อประเมินการแพร่กระจายของโรคไปยังอวัยวะอื่น ๆ อีกด้วย

Exit mobile version