นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยมติที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 7 ธันวาคม 2564 เห็นชอบร่างคู่มือการจัดทำงบประมาณที่คำนึงถึงมิติเพศภาวะ (Gender Responsive Budgeting – RGB : A Practical Handbook) ตามที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เสนอ
มีแนวคิดเพื่อเป็นเครื่องมือในการบูรณาการมุมมองเพศภาวะเข้าสู่กระบวนการจัดการงบประมาณทั้งรายรับและรายจ่าย สอดคล้องกับแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ.2561-2580) ที่มีเป้าหมายมุ่งสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม ลดความเลื่อมล้ำ และสร้างความเป็นธรรมทุกมิติ
วัตถุประสงค์ของร่างคู่มือฉบับนี้ จัดทำขึ้น ดังต่อไปนี้
1.สร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการจัดทำงบประมาณที่คำนึงมิติเพศภาวะ ให้กับหน่วยงานภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องใช้เป็นแนวทางในการจัดทำงบประมาณที่เป็นธรรมและเหมาะสมตามความจำเป็นและความต้องการที่แตกต่างกันของประชากรที่มีความแตกต่างของเพศ วัย และสภาพของบุคคล
ยึดหลักการสำคัญที่มุ่งเน้นการวิเคราะห์ความต้องการ โอกาส ข้อจำกัด และการเข้าถึงทรัพยากรที่แตกต่างกันของหญิงและชาย ที่จะต้องคำนึงถึงในกระบวนการงบประมาณ โดยนำปัจจัยต่าง ๆ มาวิเคราะห์ เช่น
– อายุ
– อัตลักษณ์ทางเพศ
– ระดับการศึกษา
– ชาติพันธุ์
– ความพิการ
– สถานะทางเศรษฐกิจและสังคม
ภายใต้ 3 องค์ประกอบสำคัญ เพื่อบรรลุเป้าหมายการส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ คือ
1.การวิเคราะห์งบประมาณแบบมิติเพศภาวะ
2.การเปลี่ยนแปลงนโยบายและการจัดสรรงบประมาณเพื่อส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ
3.การบูรณาการแนวคิดงบประมาณที่คำนึงถึงมิติเพศภาวะอย่างเป็นระบบ
ประโยชน์ที่ได้รับจากการจัดทำร่างคู่มือ ประกอบด้วย
1.ทำให้ทราบว่านโยบายของรัฐมีผลกระทบอย่างไรกับกลุ่มเป้าหมายที่หลากหลายแตกต่างกันทั้งในฐานะผู้บริโภค ผู้ใช้สาธารณูปโภค และผู้เสียภาษี ซึ่งเป็นหลักการพื้นฐานของความเท่าเทียมกันระหว่างผู้หญิงและผู้ชายในด้านต่าง ๆ
2.เกิดการกระจายทรัพยากรที่เป็นธรรมและเท่าเทียม ซึ่งจะสามารถใช้ทรัพยากรได้อย่างมีประโยชน์สูงสุด และสอดคล้องกับความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย
นอกจากนี้ ที่ประชุมได้ให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์รับข้อเสนอแนะของกระทรวงมหาดไทยและข้อสังเกตของสำนักงบประมาณไปดำเนินการ รวมถึงปรับปรุงร่างคู่มือและแบบรายการตรวจสอบการจัดทำงบประมาณที่คำนึงถึงมิติเพศภาวะให้เรียบร้อย และเผยแพร่ข้อคู่มือการจัดทำงบประมาณที่คำนึงถึงมิติเพศภาวะให้เป็นที่รับรู้ต่อไป