Site icon Mekha News (มีค่านิวส์) : เว็บไซต์ข่าว ที่จะนำเสนอข่าวสารเพื่อรักษาสิทธิให้กับคุณ

กรมศุลกากร พัฒนา “Customs Trader Portal” ระบบลงทะเบียนผู้นำเข้า-ส่งออกสินค้า ยืนยันตัวตนผ่านแอปฯ เป๋าตัง เพิ่มความสะดวก รวดเร็ว เริ่ม 15 ธ.ค.

เปิดทาง ผู้นำเข้า-ส่งออกสินค้า ลงทะเบียนออนไลน์ได้!

กรมศุลกากรร่วมกับธนาคารกรุงไทย พัฒนาระบบลงทะเบียนผู้มาติดต่อออนไลน์ทาง Customs Trader Portal เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้นำเข้า-ส่งออก ตัวแทนออกของและผู้ปฏิบัติงานเกี่ยวกับการออกของ โดยผู้ใช้ระบบสามารถดำเนินการผ่านเว็ปไซต์ www.customstraderportal.com  และยืนยันตัวตนบนแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง”  ซึ่งต่างจากรูปแบบเดิม ที่ต้องยืนยันตัวตนโดยใช้บัตรประจำตัวประชาชนตัวจริงเท่านั้น โดยจะเปิดให้บริการในวันที่ 15 ธ.ค. 64 เป็นต้นไป

นายพชร อนันตศิลป์ อธิบดีกรมศุลกากร เปิดเผยว่า บริการดังกล่าว จะเป็นการให้บริการเพิ่มเติม ในส่วนของการขอต่ออายุตัวแทนออกของบุคคลธรรมดาและผู้ปฏิบัติงานเกี่ยวกับการออกของ ซึ่งเป็นการพัฒนาและขยายกลุ่มเป้าหมายจากเดิมที่เป็นการให้บริการลงทะเบียนสำหรับผู้นำเข้า-ส่งออกที่เป็นบุคคลธรรมดา โดยได้เปิดใช้งานไปเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2564 มีผู้ใช้งานที่ลงทะเบียนกับกรมศุลกากรสำเร็จแล้ว จำนวน 994 ราย

ในอนาคตกรมศุลกากรและธนาคารกรุงไทย จะร่วมกันพัฒนาระบบนี้ ให้รองรับการลงทะเบียนสำหรับผู้นำเข้า-ส่งออก และตัวแทนออกของนิติบุคคลที่มีกรรมการเป็นบุคคลสัญชาติไทยอีกด้วย เพื่อเป็นการรองรับกลุ่มเป้าหมายที่เพิ่มมากขึ้น และนอกจากการพัฒนาระบบฯ ร่วมกับธนาคารกรุงไทยแล้ว กรมศุลกากรยังได้พัฒนาระบบลงทะเบียนผู้มาติดต่อออนไลน์ทางเว็บไซต์กรมศุลกากร (Online Customs Registration) เพื่อรองรับการขอต่ออายุตัวแทนออกของนิติบุคคล ซึ่งจะเปิดใช้งานในวันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2564 เช่นกัน

สำหรับการพัฒนาระบบฯ ในครั้งนี้  กรมศุลกากร ได้รับความร่วมมือจากสมาคมตัวแทนออกของที่กรมศุลกากรรับรอง ได้แก่

1.สมาคมชิปปิ้งแห่งประเทศไทย

2.สมาคมตัวแทนออกของรับอนุญาตไทย

3.สมาคมตัวแทนออกของอิเล็กทรอนิกส์ไทย  

ด้านนายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า ธนาคารกรุงไทยในฐานะธนาคารพาณิชย์ของรัฐ พร้อมนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาสนับสนุนและขับเคลื่อนนโยบายของภาครัฐและกระทรวงการคลังอย่างต่อเนื่อง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงาน อำนวยความสะดวกให้ประชาชนเข้าถึงบริการของหน่วยงานภาครัฐได้ง่ายขึ้น พร้อมต่อยอดการให้บริการตอบโจทย์ประชาชนรวมถึงคู่ค้าหรือพันธมิตรของหน่วยงานภาครัฐตามยุทธศาสตร์ X2G2X 

ส่วนที่ธนาคารร่วมกับกรมศุลกากร พัฒนาบริการ “Customs Trader Portal” ก็เพื่อเพิ่มความคล่องตัวให้ผู้นำเข้า-ส่งออกสินค้า ตัวแทนออกของและผู้ปฏิบัติงานเกี่ยวกับการออกของ สามารถลงทะเบียนหรือต่ออายุกับกรมศุลกากรได้ทุกที่ ทุกเวลา พร้อมนำระบบยืนยันตัวตนทางอิเล็กทรอนิกส์  (e-KYC) ที่สามารถยืนยันตัวตนผ่านแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง”

ซึ่งเป็น Thailand Open Digital Platform ที่คนไทยคุ้นเคย มีผู้ใช้งานมากกว่า 33 ล้านคน ได้รับการพัฒนาโดยบริษัท อินฟินิธัส บาย กรุงไทย (Infinitas by Krungthai) ช่วยให้ข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ใช้งานถูกต้องและปลอดภัยมากขึ้น พร้อมเตรียมขยายระบบการลงทะเบียนรองรับกลุ่มผู้ประกอบการนำเข้า-ส่งออก การต่ออายุตัวแทนออกของและผู้ปฏิบัติงานเกี่ยวกับการออกของประเภทนิติบุคคล

ทั้งนี้ ธนาคารกรุงไทยพร้อมสนับสนุนการพัฒนานวัตกรรม เพื่อยกระดับบริการของกรมศุลกากรต่อยอดโครงการ Customs Trader Portal อย่างต่อเนื่อง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการนำส่งสินค้าถึงผู้นำเข้าแบบ Door-to-Door One-Stop Service โดยรวมบริการการออกของไว้ในที่เดียว ช่วยให้ตัวแทนออกของจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพ และผู้นำเข้าสินค้ารอรับสินค้าอยู่ที่บ้านอย่างปลอดภัย พร้อมเชื่อมต่อกับระบบชำระเงินของธนาคาร และการเก็บหลักฐานรูปแบบดิจิทัลไปจนถึงการติดตามสถานะการนำเข้าและการขนส่งสินค้า

นอกจากนี้ ธนาคารยังเป็นตัวกลางในการแชร์ข้อมูลใบเสร็จรับเงินอิเล็กทรอนิกส์บนเทคโนโลยีบล็อคเชน (Customs e-Receipt on Blockchain) ระหว่าง 3 กรมภาษี เพื่อลดการจัดทำเอกสารที่เป็นกระดาษ รวมถึงสร้าง Digital Trade Platform มุ่งสู่การเป็นธนาคารที่ตอบโจทย์ความต้องการและการดำเนินธุรกิจการค้าระหว่างประเทศแบบครบวงจรผ่านระบบดิจิทัล เชื่อมต่อบริการหน่วยงานภาครัฐอย่างไร้รอยต่อ เพื่อให้ประชาชนและกลุ่มธุรกิจได้รับบริการที่ดียิ่งขึ้น

ผู้ที่สนใจสอบถามข้อมูลการใช้งานระบบลงทะเบียน ผู้มาติดต่อออนไลน์ Customs Trader Portal ได้ที่

1.ฝ่ายทะเบียนผู้นำเข้าและส่งออก กรมศุลกากร หมายเลขโทรศัพท์ 02-667-6488 หรือ 02-667-7802

2.ฝ่ายทะเบียนตัวแทนออกของ กรมศุลกากร หมายเลขโทรศัพท์  02-667-4639 และ 02-667-5958 หรือ www.customstraderportal.com

3.สอบถามข้อมูลการยืนยันตัวตนได้ที่ Krungthai Contact Center 02-111-1111

Exit mobile version