Mekha News (มีค่านิวส์) : เว็บไซต์ข่าว ที่จะนำเสนอข่าวสารเพื่อรักษาสิทธิให้กับคุณ

รายงานพิเศษ : สรุปจบที่นี่! 5 ขั้นตอนผู้ประกันตนมาตรา 33 มาตรา 39 ใช้สิทธิประกันสังคม “ตรวจสุขภาพฟรี”

การมีสุขภาพที่ดีเป็นสิ่งที่ทุกคนปรารถนา ยิ่งในปัจจุบันมีโรคระบาดเกิดขึ้นมากมาย และยังรวมไปถึงกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หรือ โรค NCDs ที่ล้วนแล้วแต่เป็นภัยเงียบ ที่เราไม่ควรมองข้าม ดังนั้น ย่อมเป็นการดีกว่า ถ้าเราจะรู้ตัวก่อน และสามารถตั้งรับกับโรคภัยเหล่านั้นได้อย่างทันท่วงที ด้วยวิธีการ “ตรวจสุขภาพประจำปี”  

“การตรวจสุขภาพประจำปี” คือ การตรวจเพื่อค้นหาปัจจัยเสี่ยง ภาวะผิดปกติ หรือโรคต่าง ๆ ซึ่งจะนำไปสู่การป้องกันก่อนเจ็บป่วย อย่างเช่น การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม การส่งเสริมสุขภาพของผู้ที่รับการตรวจ หรือ แม้กระทั่งสามารถให้การบำบัดรักษาตั้งแต่ระยะแรก ทำให้โรคไม่ลุกลาม นำไปสู่การเสียชีวิต ซึ่งมีค่าใช้จ่ายตามแต่สถานพยาบาลกำหนด อ่านเพิ่มเติมที่ >>  รวมโปรตรวจสุขภาพ 10 โรงพยาบาล ราคาไม่แรง เช็กร่างก่อนปีใหม่ ตามสไตล์คน Healthy  https://mekhanews.com/2021/12/15/including-health-check-up-promotion-at-10-hospitals-affordable-price-check-the-body-before-the-new-year-in-the-style-of-a-healthy-person/

แต่สำหรับในส่วนของพนักงานประจำ หรือ ผู้ประกันตนมาตรา 33 ที่ต้องจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมทุกเดือน สามารถเลือกใช้สิทธิ “ตรวจสุขภาพประจำปี” กับสำนักงานประกันสังคมได้ฟรี! เช่นเดียวกับผู้ประกันตนมาตรา 39 ซึ่งเชื่อว่าผู้ประกันตนหลายคน อาจจะยังไม่ทราบว่า มีสิทธิตรงนี้อยู่ หรือ อาจจะยังไม่เข้าใจขั้นตอนการใช้สิทธิ  

แพทย์หญิงนิธยาพร ลิมปะพันธุ์ รองโฆษกสำนักงานประกันสังคม

วันนี้ มีค่า นิวส์ ได้รับเกียรติจากแพทย์หญิงนิธยาพร ลิมปะพันธุ์ รองโฆษกสำนักงานประกันสังคม กรุณาให้ข้อมูลเกี่ยวกับขั้นตอน “การตรวจสุขภาพประจำปี” ฟรี! ผู้ประกันตนต้องทำอย่างไร และจะได้ตรวจสุขภาพด้านใดบ้าง โดยแพทย์หญิงนิธยาพร กล่าวถึงที่มาที่ไปของโครงการตรวจสุขภาพฟรีกับสำนักงานประกันสังคม เพื่อให้เราเห็นภาพของโครงการมากขึ้น

แพทย์หญิงนิธยาพร ระบุว่า จากเดิมการส่งเสริมสุขภาพของประชาชนทุกกลุ่มอายุ ถูกรวมอยู่ที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จากนั้นในปี 2558 สำนักงานประสังคมเล็งเห็นความสำคัญ ต้องการผลักดันให้เกิดการส่งเสริมสุขภาพของผู้ประกันตน จึงกำหนดเป็นโครงการตรวจสุขภาพประจำปีลงในพระราชบัญญัติประกันสังคม เรื่อง การส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค มีผลบังคับใช้วันที่ 1 มกราคม 2560 เป็นต้นมา โดยให้สถานพยาบาลที่เข้าร่วมโครงการเบิกค่าใช้จ่ายจากงบประมาณกองทุนประสังคม (กรณีเจ็บป่วย) ปัจจุบันมีโรงพยาบาลเข้าร่วม 962 แห่ง (ข้อมูล ณ วันที่ 21 พฤศจิกายน 2564)

ส่วนการคัดเลือกสถานพยาบาลที่เข้าร่วมโครงการฯ แพทย์หญิงนิธยาพร เปิดเผยว่า สำนักงานประกันสังคม จะเปิดรับทั้งสถานพยาบาลภาครัฐและสถานพยาบาลเอกชน จากนั้นจะลงนามทำสัญญาเข้าร่วมโครงการ โดยสถานพยาบาลที่เข้าร่วม จะต้องมีคุณสมบัติที่เหมาะสม ดังนี้

1.ต้องเป็นสถานพยาบาลที่ส่งเสริมและป้องกันโรคตามที่สำนักงานประกันสังคมกำหนด

2.ต้องอยู่ในพื้นที่ที่สะดวก สำหรับการเข้ารับบริการทั้งในสถานพยาบาล หรือนอกสถานพยาบาล

แพทย์หญิงนิธยาพร ยังเปิดเผยขั้นตอนการใช้สิทธิตรวจสุขภาพฟรี!  โดยผู้ประกันตนสามารถเข้าไปตรวจสอบสถานพยาบาลที่เข้าร่วมโครงการได้ตามช่องทางต่อไปนี้

1.ตรวจสอบผ่านทาง https://www.sso.go.th/wpr/main/login

2.สอบถามที่หมายเลขโทรศัพท์ 1506 (เจ้าหน้าที่ให้บริการทุกวันตลอด 24 ชั่วโมง)

3.ประสานไปยังสำนักงานประกันสังคมจังหวัด/พื้นที่ใกล้เคียง

4.ติดต่อ สำนักจัดระบบบริการทางการแพทย์ สำนักงานประกันสังคม 02-956-2500 -2510

อ่านเพิ่มเติม >> ช่องทางติดต่อประกันสังคม https://mekhanews.com/2021/07/14/social-security-contact/

ขณะที่ขั้นตอนการใช้สิทธิ แพทย์หญิงนิธยาพร เปิดเผยรายละเอียดให้ทราบ แบ่งเป็น  2 กรณี  ดังนี้

1.กรณีการตรวจสุขภาพเชิงรุก ณ สถานประกอบการ

1.1 สถานประกอบการประสานสถานพยาบาลและสำนักงานประกันสังคมร่วมจัดทำแผนการตรวจสุขภาพ เชิงรุกในสถานประกอบการ

1.2 สถานประกอบการนัดหมาย วัน เวลา ให้สถานพยาบาลเข้าตรวจสุขภาพ

1.3 นำบัตรประจำตัวประชาชนยื่นให้เจ้าหน้าที่ และแจ้งว่า “ขอเข้ารับการตรวจสุขภาพโดยใช้สิทธิประกันสังคม”

1.4 เจ้าหน้าที่ตรวจสอบสิทธิและแจ้งรายการที่สามารถใช้สิทธิได้

1.5 ผู้ประกันตนเข้ารับการตรวจสุขภาพ

1.6 สถานพยาบาลแจ้งผลการตรวจสุขภาพให้ผู้ประกันตนพร้อมคำแนะนำการปฏิบัติตัวที่เหมาะสม

2. กรณีการตรวจสุขภาพ ณ สถานพยาบาล

2.1 ผู้ประกันตนเลือกใช้สิทธิในสถานพยาบาลที่สำนักงานประกันสังคมกำหนด

2.2 นำบัตรประจำตัวประชาชน ยื่นให้เจ้าหน้าที่ และแจ้งว่า “ขอเข้ารับการตรวจสุขภาพโดยใช้สิทธิประกันสังคม”

2.3 เจ้าหน้าที่ตรวจสอบสิทธิและแจ้งรายการที่สามารถใช้สิทธิได้

2.4  ผู้ประกันตนเข้ารับการตรวจสุขภาพ

2.5 สถานพยาบาลแจ้งผลการตรวจสุขภาพให้ผู้ประกันตน พร้อมคำแนะนำการปฏิบัติตัวที่เหมาะสม

สำหรับข้อสงสัย กรณีที่ถ้าเราใช้สิทธิประกันสังคมอยู่ที่สถานพยาบาลหนึ่ง แต่ต้องการตรวจสุขภาพในสถานพยาบาลแห่งอื่นจะสามารถทำได้หรือไม่ แพทย์หญิงนิธยาพร ยืนยันว่า สามารถทำได้ แต่ต้องเป็นสถานพยาบาลที่เข้าร่วมโครงการ ซึ่งแนะนำให้โทรศัพท์สอบถามกับสถานพยาบาลแห่งนั้นโดยตรงก่อนเข้ารับบริการ ซึ่งหากไปใช้สิทธิแล้ว พบความผิดปกติทางด้านสุขภาพ ผู้ประกันตนจะต้องกลับไปใช้สิทธิการรักษาที่สถานพยาบาลที่มีสิทธิ

เมื่ออ่านมาถึงตรงนี้ มีค่า นิวส์ เชื่อว่าหลายคนน่าจะอยากรู้ว่า โปรแกรมตรวจสุขภาพในแต่ละรายการเป็นอย่างไร โดยแพทย์หญิงนิธยาพร ระบุว่า สำนักงานประกันสังคมได้นำแนวทางการตรวจสุขภาพจากกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข มาออกแนวทางการตรวจสุขภาพที่จำเป็นและเหมาะสม ซึ่งประกอบด้วย

1.การตรวจร่างกายตามระบบ

2.การตรวจทางห้องปฏิบัติการ

3.การตรวจอื่น ๆ

ทั้งนี้ หลักเกณฑ์การตรวจสุขภาพ จะกำหนดตามความเสี่ยงของช่วงอายุผู้ประกันตน โดยเป็นไปตามประกาศคณะกรรมการการแพทย์กำหนดฯ ซึ่งแนวทางจะเหมือนกับการตรวจสุขภาพกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และกรมบัญชีกลาง เริ่มที่อายุ 15-80 ปี มีจำนวน 14 รายการ ดังนี้

1.ตรวจร่างกายทั่วไป

1.1 การคัดกรองการได้ยิน Finger Rub Test อายุ 15 ขึ้นไป ตรวจ 1 ครั้ง/ปี

1.2 การตรวจเต้านมโดยแพทย์ หรือบุคลากรสาธารณสุข (อายุ 30-39 ปี ตรวจทุก 3 ปี, อายุ 40-54 ปี ตรวจทุกปี, อายุ 55 ปีขึ้นไป ตรวจตามความเหมาะสม หรือ มีความเสี่ยง)

1.3 การตรวจตาโดยความดูแลของจักษุแพทย์ (อายุ 40-54 ปี ตรวจ 1 ครั้ง, อายุ 55 ปีขึ้นไป ตรวจทุก 1-2 ปี)

1.4 การตรวจสายตาด้วย Snellen Eye Chart อายุ 55 ปีขึ้นไป ตรวจ 1 ครั้ง/ปี

2.ตรวจทางห้องปฏิบัติการ

2.1 ความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด CBC (อายุ 18-54 ปี ตรวจ 1 ครั้ง, อายุ 55-70 ปี ตรวจ 1 ครั้ง/ปี)

2.2 ปัสสาวะ UA อายุ 55 ปีขึ้นไป ตรวจ 1 ครั้ง/ปี

3.ตรวจสารเคมีในเลือด

3.1 น้ำตาลในเลือด FBS (อายุ 35-54 ปี ตรวจทุก 3 ปี, อายุ 55 ปีขึ้นไป ตรวจ 1 ครั้ง/ปี)

3.2 การทำงานของไต Cr อายุ 55 ปีขึ้นไป ตรวจ 1 ครั้ง/ปี

3.3 ไขมันในเส้นเลือดชนิด Total Cholesterol & HDL อายุ 20 ปีขึ้นไป ตรวจทุก 5 ปี

4.การตรวจอื่น ๆ

4.1 เชื้อไวรัสตับอักเสบ HB sAg สำหรับผู้ที่เกิดก่อน พ.ศ.2535 ตรวจ 1 ครั้ง

4.2 มะเร็งปากมดลูก Pap Smear (อายุ 30-54 ปี ตรวจทุก 3 ปี, อายุ 55 ปีขึ้นไป ตรวจตามความเสี่ยง)

4.3 มะเร็งปากมดลูกด้วยวิธี VIA (อายุ 30-54 ปี ตรวจทุก 5 ปี, อายุ 55 ปีขึ้นไป แนะนำให้ตรวจ Pap smear)

4.4 เลือดในอุจจาระ FOBT อายุ 50 ปีขึ้นไป ตรวจ 1 ครั้ง/ปี

4.5 เอกซเรย์ปอด Chest X-ray อายุ 15 ปีขึ้นไป ตรวจ 1 ครั้ง

อย่างไรก็ตาม หากผู้ประกันตนต้องการตรวจสุขภาพในรายการที่นอกเหนือจาก 14 รายการข้างต้น ผู้ประกันตนจะต้องเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายเอง โดยจะไม่สามารถเบิกค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ คืนจากกองทุนประกันสังคมได้

นอกจากนี้ แพทย์หญิงนิธยาพร ยังชี้แจงสิทธิของผู้ประกันตนมาตรา 40 ในประเด็นที่ไม่สามารถใช้สิทธิตรวจสุขภาพฟรีกับสำนักงานประกันสังคมได้เหมือนกับผู้ประกันตนมาตรา 33 และมาตรา 39 สาเหตุเนื่องจากผู้ประกันตนมาตรา 40 มีสิทธิการรักษากรณีเจ็บป่วยอยู่กับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งสำนักงานประกันสังคมจะดูแลในส่วนอื่น ๆ ตาม 3 ทางเลือกที่ผู้ประกันตนมาตรา 40 ได้เลือกสมัครเอาไว้ คือ 

ทางเลือกที่ 1 จ่ายเงินสมทบ 42 บาท/เดือน จะคุ้มครอง 3 กรณี (ประสบอันตราย ทุพพลภาพ ตาย) 

ทางเลือกที่ 2  จ่ายเงินสมทบ 60 บาท/เดือน จะคุ้มครอง 4 กรณี (ประสบอันตราย ทุพพลภาพ ตาย ชราภาพ)

ทางเลือกที่ 3 จ่ายเงินสมทบ 180 บาท/เดือน จะคุ้มครอง 5 กรณี (ประสบอันตราย ทุพพลภาพ ตาย ชราภาพ สงเคราะห์บุตร)

รองโฆษกสำนักงานประกันสังคม กล่าวในตอนท้าย เชิญชวนให้ผู้ประกันตนมาตรา 33 และมาตรา 39 เข้ารับบริการตรวจสุขภาพฟรีตามสิทธิ “อยากให้ผู้ประกันตนดูแลสุขภาพ เนื่องจากต้องทำงานหนัก เปรียบเหมือนหัวหน้าครอบครัวที่ต้องดูแลตัวเอง และบุคคลอื่น ทั้งยังเป็นกำลังหลักของประเทศ ดังนั้น การตรวจสุขภาพจะช่วยให้เราทราบโรคต่าง ๆ ล่วงหน้า เพื่อให้ผลการรักษาที่ดีกว่าทราบภายหลัง”  

มีค่า นิวส์ เห็นด้วยอย่างมากเลยค่ะ และเชื่อว่า คงไม่มีอะไรดีไปกว่าการมีสุขภาพที่ดีทั้งกายและใจ อย่างไรขอร่วมเชิญชวนให้ผู้ประกันตนไปใช้สิทธิตรวจสุขภาพประจำปีกันอย่างน้อยปีละครั้งนะคะ

Exit mobile version