ช่วงต้นปี 2565 กรมสรรพากรจะเปิดให้ประชาชาชนที่มีเงินได้หรือรายได้ตามเกณฑ์กำหนดยื่นภาษี โดยนำรายได้มาหักค่าใช้จ่ายลดหย่อนภาษี ซึ่งแต่ละคนจะมีสิทธิการลดหย่อนที่แตกต่างกัน
มีค่า นิวส์ คิดว่ายังมีผู้ประกันตนหลายคน อาจจะยังไม่รู้ว่า เงินสมทบประกันสังคมทั้งมาตรา 33 มาตรา 39 และมาตรา 40 ก็สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้
เอาเป็นว่าเรามาดูกันค่ะ มาตราไหน ลดหย่อนภาษีได้เท่าไหร่บ้าง!
1. ผู้ประกันตนมาตรา 33
เงินสมทบมาตรา 33 สามารถนำไปลดหย่อนภาษีประจำปีได้ ตามจำนวนเงินที่จ่ายจริง แต่สูงสุดไม่เกิน 9,000 บาท (750×12 เดือน = 9,000 บาท)
**แต่ในปี 2564 มีการลดอัตราเงินสมทบ ม.33 จะลดหย่อนสูงสุดไม่เกิน 5,100 บาท มีรายละเอียด ดังนี้
- เดือน ม.ค. 64 ส่งเงินสมทบ 3% สูงสุด 450 บาท
- เดือน ก.พ.-มี.ค.64 ส่งเงินสมทบ 0.5% สูงสุด 75 บาท
- เดือน เม.ย.-พ.ค.64 ส่งเงินสมทบ 5% สูงสุด 750 บาท
- เดือน มิ.ย.-พ.ย.64 ส่งเงินสมทบ 2.5% สูงสุด 375 บาท
- เดือน ธ.ค.64 ส่งเงินสมทบ 5% สูงสุด 750 บาท
ขั้นตอนยื่นลดหย่อนภาษี
- สามารถขอเอกสารได้ที่สถานประกอบการที่ตนเองทำงานอยู่ โดยนายจ้าง จะออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย ตามมาตรา 50 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งจะแสดงยอดประเภทเงินได้พึงประเมินที่จ่ายและจำนวนเงินสมทบประกันสังคมที่หักไว้
- นำไปยื่นเสียภาษีประจำปีกับกรมสรรพากร
2.ผู้ประกันตนมาตรา 39
เงินสมทบมาตรา 39 สามารถนำไปลดหย่อนภาษีประจำปีได้ ตามจำนวนเงินที่จ่ายจริง แต่สูงสุดไม่เกิน 5,184 บาท (432×12เดือน = 5,184 บาท)
**แต่ในปี 2564 มีการลดอัตราเงินสมทบ ม.39 จะลดหย่อนสูงสุดไม่เกิน 3,003 บาท มีรายละเอียด ดังนี้
- เดือน ม.ค. 64 ลดเงินสมทบเหลือ 278 บาท
- เดือน ก.พ.-มี.ค.64 ลดเงินสมทบเหลือ 38 บาท
- เดือน เม.ย.-พ.ค.64 ส่งเงินสมทบ 432 บาท
- เดือน มิ.ย.- ส.ค. 64 ลดเงินสมทบเหลือ 216 บาท
- เดือน ก.ย.-พ.ย. ลดเงินสมทบเหลือ 235 บาท
- เดือน ธ.ค. 64 ส่งเงินสมทบ 432 บาท
ขั้นตอนยื่นลดหย่อนภาษี
- ผู้ประกันตน สามารถนำบัตรประชาชนตัวจริง ไปติดต่อขอคัดสำเนาการนำส่งเงินสมทบ ได้ที่สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่/จังหวัด/สาขา ทุกแห่ง (ยกเว้น สำนักงานใหญ่ บริเวณกระทรวงสาธารณสุข)
- นำไปลดหย่อนภาษี และเงื่อนไขการลดหย่อนภาษีเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กรมสรรพากรกำหนด
3. ผู้ประกันตน มาตรา 40
เงินสมทบมาตรา 40 สามารถนำไปลดหย่อนภาษีประจำปีได้ ตามจำนวนเงินที่จ่ายจริง แต่สูงสุดไม่เกิน 3,600 บาท (300×12 เดือน = 3,600 บาท)
**แต่ในปี 2564 มีการลดอัตราเงินสมทบ ม.40 มีรายละเอียด ดังนี้
ทางเลือกที่ 1 ส่งเงินสมทบ สูงสุดไม่เกิน 700 บาท
- เดือน ม.ค-ก.ค.64 เงินสมทบ 70 บาท
- เดือน ส.ค.-ธ.ค. 64 ลดเงินสมทบเหลือ 42 บาท
ทางเลือกที่ 2 ส่งเงินสมทบ สูงสุดไม่เกิน 1,000 บาท
- เดือน ม.ค-ก.ค.64 เงินสมทบ 100 บาท
- เดือน ส.ค.-ธ.ค.64 ลดเงินสมทบเหลือ 60 บาท
ทางเลือกที่ 3 ส่งเงินสมทบ สูงสุดไม่เกิน 3,000 บาท
- เดือน ม.ค-ก.ค.64 เงินสมทบ 300 บาท
- เดือน ส.ค.-ธ.ค. 64 ลดเงินสมทบเหลือ 180 บาท
ขั้นตอนยื่นลดหย่อนภาษี
- ผู้ประกันตน สามารถนำบัตรประชาชนตัวจริงไปติดต่อขอคัดสำเนาการนำส่งเงินสมทบ ได้ที่สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่/จังหวัด/สาขา ทุกแห่ง (ยกเว้น สำนักงานใหญ่ บริเวณกระทรวงสาธารณสุข)
- นำไปลดหย่อนภาษี และเงื่อนไขการลดหย่อนภาษีเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กรมสรรพากรกำหนด
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.sso.go.th หรือโทรสายด่วน 1506 ให้บริการทุกวัน ตลอด 24 ชั่วโมง
อ่านเพิ่มเติม >> ช่องทางติดต่อประกันสังคม