Mekha News (มีค่านิวส์) : เว็บไซต์ข่าว ที่จะนำเสนอข่าวสารเพื่อรักษาสิทธิให้กับคุณ

รายงานพิเศษ : คืนชีพ “ช้อปดีมีคืน” กระตุ้นเศรษฐกิจไทย ใครใช้สิทธิ มีเงื่อนไขแบบไหน สรุปจบที่นี่

ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2565 จนถึงวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2565 ประชาชนจะได้ใช้สิทธิ “มาตรการช้อปดีมีคืน” กันแล้ว แต่เชื่อว่าหลายคนยังสงสัยว่า มาตรการนี้ คืออะไร ใครจะสามารถใช้สิทธิได้บ้าง และหากอยากเข้าร่วมมาตรการ มีเงื่อนไขกำหนดไว้อย่างไร มีค่า นิวส์ จึงจะพาทุกคนมาหาคำตอบ

มาตรการช้อปดีมีคืน เป็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ สนับสนุนผู้ประกอบการที่อยู่ในระบบภาษี และส่งเสริมการผลิตสินค้าท้องถิ่น (OTOP) ไม่จำเป็นต้องสมัคร หรือ ลงทะเบียน เพียงแค่ซื้อสินค้าและบริการตามเงื่อนไข จากนั้นให้เก็บหลักฐานเป็นใบกำกับภาษีแบบเต็มรูป หรือ ใบเสร็จรับเงิน ใช้เป็นหลักฐานนำมายื่นภาษีเงินได้ส่วนบุคคลธรรมดา

สำหรับที่มาที่ไปของมาตรการช้อปดีมีคืน มีค่า นิวส์ สืบค้นเพิ่มเติมพบว่า ถูกนำมาใช้ตั้งแต่ปี 2558 ภายใต้ชื่อมาตรการ “ช้อปช่วยชาติ” ดำเนินการอยู่ 3 ปี กระทั่งในปี 2563 จึงนำมา rebranding เปลี่ยนชื่อเป็นมาตรการ “ช้อปดีมีคืน” ให้ประชาชนใช้สิทธินาน 2 เดือน 7 วัน (23 ต.ค.-31 ธ.ค. 2563) มีวงเงินสะพัด 111,000 ล้านบาท จากภาษีลดหย่อนได้ 30,000 บาท

ซึ่งจากความสำเร็จครั้งนั้น ทำให้ในปี 2564 สมาคมผู้ค้าปลีกไทยและคณะกรรมการร่วมเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ได้สนับสนุน นำเสนอต่อรัฐบาลให้นำมาตรการ “ช้อปดีมีคืน” กลับมาใช้อีกครั้ง เพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายภายในประเทศ คาดจะมีเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นประมาณ 42,000 ล้านบาท GDP เติบโตขึ้นประมาณร้อยละ 0.12

ส่วนหลักเกณฑ์การใช้สิทธิของมาตราช้อปดีมีคืน ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึง 15 กุมภาพันธ์ 2565 จะเหมือนกันกับในปี 2563 โดยจะใช้ได้เฉพาะบุคคลธรรมดาที่มีรายได้ถึงเกณฑ์เสียภาษีเท่านั้น หากเป็นผู้ไม่มีรายได้ หรือ รายได้ไม่ถึงเกณฑ์เสียภาษี ก็จะไม่สามารถนำค่าซื้อสินค้าและบริการดังกล่าวข้างต้น มาลดหย่อนภาษีได้ โดยมีเงื่อนไข ดังต่อไปนี้

1.ต้องเป็นผู้ที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาปี 2564 และเตรียมจะยื่นแบบภาษีในต้นปี 2565

2.ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ไม่สามารถใช้สิทธิช้อปดีมีคืนได้

3.ผู้ที่ลงทะเบียนโครงการคนละครึ่ง จะไม่สามารถใช้สิทธิช้อปดีมีคืนได้

4.ห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคล ไม่สามารถใช้สิทธิช้อปดีมีคืนได้

ทั้งนี้ ค่าใช้จ่ายจากการซื้อสินค้าหรือบริการ นำไปใช้ลดหย่อนภาษีได้ตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่สูงสุดไม่เกิน 30,000 บาท เช่น ซื้อสินค้ามูลค่า 10,000 บาท ก็จะใช้สิทธิได้ 10,000 บาท หรือ ซื้อสินค้ามูลค่า 50,000 บาท จะใช้สิทธิได้ 30,000 บาท เป็นต้น

ขณะที่สินค้าและบริการในประเทศที่ประชาชนจะสามารถใช้จ่าย และนำมาลดหย่อนภาษีได้นั้น ประกอบด้วย

1. .สินค้าและบริการในประเทศที่อยู่ในระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) จากร้านที่มีหน้าร้าน หรือร้านค้าออนไลน์ เช่น

– ห้างสรรพสินค้า

– ซูเปอร์มาร์เกต

– ร้านสะดวกซื้อ

– ร้านอาหารที่จดทะเบียน VAT

– ร้านค้าทั่วไปที่ออกใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปได้เท่านั้น

2.สินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP) ที่ได้ลงทะเบียนกับกรมการพัฒนาชุมชนแล้ว และมีหลักฐานเป็นใบเสร็จรับเงิน หรือใบกำกับภาษีแบบเต็มรูป โดยสามารถตรวจสอบร้านค้าได้ที่ https://www.otoptoday.com/

3.หนังสือ ทั้งที่เป็นสิ่งพิมพ์หรืออิเล็กทรอนิกส์ (E-Book) ทุกประเภท (ยกเว้นหนังสือประเภทนิตยสารและหนังสือพิมพ์) หากเป็นหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ จะต้องมีเอกสารหลักฐานที่ชัดเจน จึงจะสามารถนำมาหักลดหย่อนภาษีได้

ส่วนสินค้าที่ซื้อ แล้วนำไปลดหย่อนภาษีไม่ได้ มีดังนี้

1.ค่าสุรา เบียร์ ไวน์

2.ค่ายาสูบ

3.ค่าน้ำมันและก๊าซสำหรับ เติมยานพาหนะ

4.ค่ารถยนต์ รถจักรยานยนต์ และเรือ

5.ค่าหนังสือพิมพ์และนิตยสารและค่าบริการ หนังสือพิมพ์ และนิตยสารที่อยู่ในรูปของข้อ มูลอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบอินเทอร์เน็ต

6.ค่าบริการจัดนำเที่ยวที่จ่ายให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยว และมัคคุเทศก์

7.ค่าที่พักในโรงแรมที่จ่ายให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจโรงแรม

8.ค่าสาธารณูปโภค

9.ค่าน้ำประปา

10.ค่าไฟฟ้า

11.ค่าบริการสัญญาณโทรศัพท์

12.ค่าบริการสัญญาณอินเทอร์เน็ต

13.ค่าบริการสำหรับบริการที่มีข้อตกลงการให้บริการระยะยาว ซึ่งเริ่มต้นก่อนวันที่ 1 ม.ค. 65 แม้ว่าจะจ่ายค่าบริการระหว่างวันที่ 1 ม.ค. 65 ถึงวันที่ 15 ก.พ. 65

14.ค่าเบี้ยประกันวินาศภัยเพื่อสนับสนุน ผู้ประกอบการที่อยู่ในระบบภาษี และผู้ประกอบกิจการ

15.การผลิตสินค้าท้องถิ่น (OTOP) โดยกลุ่มเป้าหมาย เฉพาะผู้มีเงินได้ซึ่งมีหน้าที่เสียภาษีเงินได้ บุคคลธรรมดา ไม่รวมถึงห้างหุ้นส่วนสามัญหรือ คณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล

ด้านขั้นตอนของการนำมาลดหย่อนภาษี ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า การซื้อสินค้าและบริการข้างต้น 30,000 บาท ไม่ได้หมายความว่าจะหักภาษีได้ 30,000 บาท แต่จะขึ้นอยู่กับฐานภาษีของแต่ละคน ซึ่งต้องคำนวณจากเงินได้สุทธิที่เหลืออยู่ โดยในแต่ละขั้น จะสามารถลดหย่อนได้สูงสุด ดังนี้

เงินได้สุทธิต่อปี 0 -150,000 บาท ได้รับการยกเว้นภาษี ไม่สามารถใช้สิทธิช้อปดีมีคืนได้

เงินได้สุทธิต่อปี 150,001 – 300,000 บาท ฐานภาษีเงินได้ 5% มีสิทธิได้คืนภาษีสูงสุด 1,500 บาท

เงินได้สุทธิต่อปี 300,001 – 500,000 บาท ฐานภาษีเงินได้ 10% มีสิทธิได้คืนภาษีสูงสุด 3,000 บาท

เงินได้สุทธิต่อปี 500,001 – 750,000 บาท ฐานภาษีเงินได้ 15% มีสิทธิได้คืนภาษีสูงสุด 4,500 บาท

เงินได้สุทธิต่อปี 750,001 – 1,000,000 บาท ฐานภาษีเงินได้ 20% มีสิทธิได้คืนภาษีสูงสุด 6,000 บาท

เงินได้สุทธิต่อปี 1,000,001 – 2,000,000 บาท ฐานภาษีเงินได้ 25% มีสิทธิได้คืนภาษีสูงสุด 7,500 บาท

เงินได้สุทธิต่อปี 2,000,001 – 5,000,000 บาท ฐานภาษีเงินได้ 30% มีสิทธิได้คืนภาษีสูงสุด 9,000 บาท

เงินได้สุทธิต่อปี 5,000,001 บาทขึ้นไป ฐานภาษีเงินได้ 35% มีสิทธิได้คืนภาษีสูงสุด 10,500 บาท

จะเห็นได้ว่า คนที่ได้รับประโยชน์จากโครงการนี้มากที่สุดคือ คนที่มีฐานรายได้สูง ๆ มีฐานการหักภาษีที่สูง ๆ ซึ่งสามารถเอาไปลดหย่อนได้สูงสุดถึง 10,500 บาทเลยทีเดียว แต่หากเป็นคนที่มีรายได้อยู่ในช่วงตั้งแต่ 0 – 300,000 บาทต่อปี โครงการนี้อาจจะดูไม่คุ้มเท่าไหร่นัก

นอกจากนี้ มีประเด็นที่หลายคนสงสัยว่า มาตรการช้อปดีมีคืน กับ โครงการคนละครึ่ง ต่างกันอย่างไร มาตรการไหนดีกว่า แบบไหนถึงจะเหมาะกับตัวเอง มีค่า นิวส์ สรุปได้ดังนี้

1. โครงการคนละครึ่ง เหมาะกับผู้ที่ชอบซื้อสินค้าจากร้านค้าขนาดเล็ก เช่น ตลาด ร้านโชห่วย หาบเร่ แผงลอย (ต้องเป็นร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการ) แต่มาตรการช้อปดีมีคืน จะต้องซื้อสินค้าและบริการได้จากร้านค้าที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ที่สามารถออกใบกำกับภาษีเต็มรูปแบบได้เท่านั้น ส่วนใหญ่จะเป็นห้างสรรพสินค้า หรือร้านสะดวกซื้อ

2.หากคำนวนเงินที่ได้รับคืนจากรัฐ มาตรการช้อปดีมีคืน รัฐสามารถจ่ายให้ได้สูงสุด 10,500 บาท ในขณะที่โครงการคนละครึ่ง รัฐจ่ายให้สูงสุด 150 บาทต่อวัน และ 3,000 บาทตลอดมาตรการ

3.โครงการคนละครึ่ง เปิดให้ลงทะเบียนรับสิทธิได้กับทุกคน ขอเพียงแค่ไม่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ในขณะที่ช้อปดีมีคืนต้องเป็นผู้ที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเท่านั้น จึงจะใช้สิทธิได้ และโครงการคนละครึ่ง จะต้องใช้จ่ายผ่านแอพเป๋าตังเท่านั้น

ดังนั้น จึงควรดูว่า ตนเองเหมาะกับการใช้จ่ายแบบไหนมากกว่ากัน เพราะถ้ารับสิทธิมาตรการใดมาตรการหนึ่งไปแล้ว จะไม่สามารถรับสิทธิอีกมาตรการได้นะคะ

อย่างไรก็ตาม ข้อมูลข้างต้น อ้างอิงจากแนวทางของโครงการช้อปดีมีคืนในปี 2563 สำหรับรายละเอียดที่ชัดเจนของปี 2565 จะต้องรอประกาศกฎกระทรวงจากกรมสรรพากรอีกครั้ง ซึ่งถ้ามีความคืบหน้า มีค่า นิวส์ จะรีบอัปเดตให้ทราบแน่นอนค่ะ

อ่านเพิ่มเติม >> ข้อสงสัยเกี่ยวกับมาตราช้อปดีมีคืน https://www.rd.go.th/62432.html

ที่มา :  กรุงเทพธุรกิจ https://www.bangkokbiznews.com/

มติชนออนไลน์ https://mgronline.com/business/detail/9640000111295

คมชัดลึก https://www.komchadluek.net/news/497798

https://allwellhealthcare.com/tax-deduction/

Exit mobile version