เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2564 มีค่า นิวส์ ได้รับเชิญเข้าร่วมงานแถลงข่าวสรุปผลงานเด่น ปี 2564 และนโยบายสำคัญ ปี 2565 ของสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน โดยมีผู้บริหารสำนักงานประกันสังคม พร้อมสื่อมวลชนอีกหลายช่องเข้าร่วมงาน ณ อาคารอเนกประสงค์ ชั้น 4 สำนักงานประกันสังคม สำนักงานใหญ่ จังหวัดนนทบุรี
นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม เปิดเผยว่า ในปีหน้า 2565 สำนักงานประกันสังคม พร้อมขับเคลื่อนภารกิจสำคัญ ซึ่งโจทย์สำคัญยังคงเป็นการรับมือกับผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 อย่างต่อเนื่อง โดย สปส.จะบูรณาการร่วมกับภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน นำยุทธศาสตร์ชาติ นโยบายรัฐบาล และนโยบายกระทรวงแรงงาน ปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 สืบสาน รักษา ต่อยอด “MOL ฟื้นฟู พลิกโฉม ตลาดแรงงานไทย” ได้แก่
1.การแก้ไขกฎหมายประกันสังคม ในส่วนของสิทธิประโยชน์ กรณีชราภาพ “3 ขอ” คือ
– ขอเลือก
– ขอคืน
– ขอกู้
2.จัดตั้งธนาคารเพื่อผู้ประกันตน สถาบันการแพทย์เพื่อผู้ประกันตน สร้างที่อยู่อาศัยให้กับผู้ประกันตนในราคาถูก เพื่อสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีและมั่นคง
3.สร้างแอปพลิเคชัน ประกันสังคมร่วมกับร้านค้า เพื่อเป็นสิทธิประโยชน์แก่ผู้ประกันตนการให้บริการทางการแพทย์แก่ผู้ประกันตน และสถาบันส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัย สภาพแวดล้อมในการทำงาน (องค์การมหาชน) หรือ สสปท.
4.สร้างองค์ความรู้ให้แก่สถานประกอบการได้ตระหนักถึงความปลอดภัยในการทำงาน เพื่อลดอัตราการอุบัติเหตุและอันตรายจากการทำงาน
นอกจากนี้ สปส.พร้อมขับเคลื่อนอย่างเป็นรูปธรรม ภายใต้แนวคิด “SSO TRUST” เพื่อประโยชน์ของลูกจ้าง ผู้ประกันตน ซึ่งในปี 2565 ได้กำหนดนโยบายเร่งด่วน ครอบคลุมหลายด้าน ดังนี้
1.ด้านการให้ความคุ้มครองผู้ประกันตน
1.1 การให้บริการป้องกัน และรักษาผู้ประกันตนกรณีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 (การฉีดวัคซีนเข็ม 3 ให้กับผู้ประกันตน การให้บริการทางการแพทย์ (การรักษาพยาบาล จัดหา Hospital Home/Community Isolation)
1.2 การดำเนินการให้บริการตามนโยบายรัฐบาลในเรื่องการช่วยเหลือนายจ้าง ลูกจ้าง ผู้ประกันตนที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของของโรคโควิด-19 อาทิ
– ลดอัตราเงินสมทบผู้ประกันตนตามมาตรา 40 ร้อยละ 60 เป็นเวลา 6 เดือน
– การจ่ายสิทธิประโยชน์กรณีว่างงานโครงการเยียวยานายจ้างผู้ประกันตนตามมาตรา 33 มาตรา 39 และมาตรา 40
– โครงการเยียวยาผู้ประกันตนในกิจการสถานบันเทิงและผู้ประกอบอาชีพอิสระที่ทำงานเกี่ยวข้องกับสถานบันเทิงที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการของรัฐ
1.3 สร้างหลักประกันความมั่นคงในการดำรงชีวิตให้กับกลุ่มแรงงานนอกระบบ หรือ แรงงานอิสระ
– สร้างการรับรู้ และประชาสัมพันธ์ผ่านเครือข่าย “ครอบครัวประกันสังคม” ทั่วประเทศ ให้ตระหนักถึงความสำคัญและความจำเป็นในการเข้าสู่ระบบประกันสังคมมาตรา 40 ภาคสมัครใจ โดยสมัครและส่งเงินสมทบเพื่อให้เกิดสิทธิอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างหลักประกันให้กับตนเองและครอบครัว
2.ด้านการให้บริการ
2.1 การพัฒนารูปแบบการให้บริการ โดยนำนวัตกรรมการให้บริการแบบ E-Self-service E-claim และ Mobile Application ที่มีความทันสมัย นายจ้าง ลูกจ้างและผู้ประกันตนมาใช้บริการเกิดความสะดวก รวดเร็ว ทันใจ ทุกที่ทุกเวลา
2.2 การรับ จ่ายเงินของนายจ้าง ผู้ประกันตนในระบบประกันสังคม ต้องจ่ายผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ให้มากที่สุด ผ่านระบบ E-payment หรือระบบ Prompt pay เป็นต้น
2.3 พัฒนาการสื่อสาร สร้างการรับรู้เรื่องการประกันสังคม และภาพลักษณ์องค์กรที่ตรงใจ กระชับ ฉับไว เป็นไปในทิศทางเดียวกันทั้งภายในและภายนอกองค์กรอย่างมีประสิทธิภาพ
3.ด้านการบริหารองค์กร
3.1 จัดทำยุทธศาสตร์/แผนปฏิบัติราชการสำนักงานประกันสังคม ระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2566 – 2570) สอดคล้องกับแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ
3.2 ทำให้ สปส. เป็นองค์กร Happy Workplace สร้างความสมดุลของการใช้ชีวิตและการทำงาน (คนเก่ง คนดี และมีความสุข)
4.เรื่องสำคัญที่ต้องศึกษา พัฒนา และขับเคลื่อนอย่างต่อเนื่อง
4.1 การเตรียมความพร้อมด้านบริการทางการแพทย์เพื่อรองรับการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ระลอกใหม่ และผลกระทบต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต
4.2 ขับเคลื่อน โครงการ Healthy Thailand เพื่อผู้ประกันตน อาทิ การขยายบริการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคเชิงรุกในสถานประกอบการ ปรับปรุงรายการตรวจสุขภาพตามสิทธิผู้ประกันตน
4.3 ศึกษาแนวทาง และข้อกฎหมาย เพื่อสร้างความคุ้มครองชุดสิทธิประโยชน์ หรือบริการทางการแพทย์เพื่อดึงดูดแรงงานนอกระบบ และกลุ่มอาชีพใหม่ เช่น Grab, Food panda ให้เข้าสู่ระบบประกันสังคมเพิ่มขึ้น
4.3 ปรับปรุง พัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศให้สามารถเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการ การบริหาร และการปฏิบัติงานประกันสังคมให้แล้วเสร็จตามแผนที่กำหนดไว้
4.5 สร้างเครือข่ายในการให้บริการประกันสังคมทุกด้าน ประสานงานอย่างใกล้ชิด แลต่อเนื่อง เพื่อให้การบริการเป็นที่พึงพอใจ
4.6 ขับเคลื่อนการแก้ไขพระราชบัญญัติประกันสังคม ฉบับที่ 5 เร่งรัดขับเคลื่อนการแก้ไขกฎหมายประกันสังคม ในส่วนของสิทธิประโยชน์กรณีชราภาพ “3 ขอ” ได้แก่ ขอเลือก ขอคืน และ ขอกู้ ให้เป็นผลสำเร็จ เพื่อเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้ลูกจ้าง ผู้ประกันตน และเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหาร และการให้บริการของสำนักงานประกันสังคม
4.7 ศึกษา ทบทวนการจัดเก็บเงินสมทบ รวมทั้งการจัดทำแผนการลงทุน เพื่อรักษาเสถียรภาพกองทุนประกันสังคมให้มีเงินเพียงพอต่อการจ่ายสิทธิประโยชน์อย่างต่อเนื่อง
4.8 ศึกษาแนวทางและข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการทำข้อตกลงระหว่างประเทศด้านการประกันสังคม (Social Security Agreement: SSA) เพื่อพัฒนางานประกันสังคมสู่สากล
4.9 สนับสนุน ส่งเสริม หน่วยงานภายนอกในการดำเนินโครงการส่งเสริมหรือ ป้องกันให้เกิดความปลอดภัยในการทำงาน รวมทั้งกำกับติดตามประเมินผลโครงการที่สนับสนุนโดยกองทุนเงินทดแทน เพื่อให้ลดการประสบอันตรายจากการทำงานของลูกจ้างอย่างแท้จริง
4.10 พัฒนายกระดับศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพคนงานทั้ง 5 ศูนย์ เป็นศูนย์ชั้นนำในการให้บริการฟื้นฟูสมรรถภาพอย่างครบวงจร (การแพทย์ อาชีพ จิตใจ)
ทั้งนี้ ในปี 2564 สำนักงานประกันสังคมดำเนินภารกิจคุ้มครองกลุ่มผู้ใช้แรงงานให้ได้รับสิทธิประโยชน์ในการดำรงชีวิต ได้สร้างความมั่นใจให้กับกลุ่มผู้ใช้แรงงาน ภายใต้แนวทาง “แรงงาน…เราสู้ด้วยกัน” โดยออกมาตรการให้ความช่วยเหลือ เยียวยา ลดภาระค่าใช้จ่าย และบรรเทาความเดือดร้อนให้กับนายจ้าง ผู้ประกันตน ครอบคลุมทุกมาตรการที่เกี่ยวข้อง สรุปได้ ดังนี้
1.ช่วยเหลือ เยียวยา ลดภาระค่าใช้จ่าย และบรรเทาความเดือดร้อนให้กับนายจ้าง ผู้ประกันตน ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19
1.1 โครงการเยียวยานายจ้างและผู้ประกันตน มาตรา 33, 39 และ 40 ในกิจการและพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการของรัฐ
– นายจ้างได้รับ จำนวน 187,695 ราย เป็นเงิน 31,701.86 ล้านบาท
– ผู้ประกันตนมาตรา 33 จำนวน 3.66 ล้านราย
– ผู้ประกันตนมาตรา 39 จำนวน 1.36 ล้านราย
– ผู้ประกันตนมาตรา 40 จำนวน 7.18 ล้านราย เป็นเงิน 70,830.22 ล้านบาท
รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 102,532.08 ล้านบาท
1.2 โครงการ ม.33 เรารักกัน คนละ 6,000 บาท ผู้ประกันตนได้รับสิทธิกว่า 8.067 ล้านราย ใช้จ่ายซื้อสินค้าและบริการผ่านร้านค้าและผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการ 1.08 ล้านราย ใช้จ่ายเงินทั้งสิ้น 48,185.85 ล้านบาท
1.3 ลดอัตราเงินสมทบให้กับนายจ้าง ผู้ประกันตนตามมาตรา 33 มาตรา 39 จำนวนกว่า 13 ล้านคน นายจ้าง 488,276 ราย ทำให้มีเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจกว่า 109,183 ล้านบาท ลดอัตราเงินสมทบให้กับผู้ประกันตนมาตรา 40 ลดเหลือร้อยละ 60 ของอัตราเงินสมทบปกติที่จัดเก็บ เป็นระยะเวลา 6 เดือน ช่วยให้มีเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจกว่า 1,874 ล้านบาท
1.4 เพิ่มสิทธิประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานจากเหตุสุดวิสัย จำนวน 2 ครั้ง ผลการดำเนินงานครั้งที่ 1 อัตราร้อยละ 62 ของค่าจ้างที่ส่งเงินสมทบ จ่ายประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงาน จำนวน 1,506,666 ราย เป็นเงิน 15,119.32 ล้านบาท ครั้งที่ 2 อัตราร้อยละ 50 จ่ายประโยชน์ทดแทน กรณีว่างงาน จำนวน 986,098 ราย เป็นเงิน 4,552.92 ล้านบาท
1.5 ปรับเพิ่มประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานเนื่องจากถูกเลิกจ้าง/ลาออก/สิ้นสุดสัญญาจ้าง ผู้ประกันตนได้รับสิทธิประโยชน์แล้วกว่า 1.83 ล้านคน เป็นเงิน 45,846.49 ล้านบาท
1.6 จัดให้มีโครงการ Factory Sandbox (ตรวจ รักษา ควบคุม ดูแล) ครอบคลุมในพื้นที่ 12 จังหวัด มีสถานประกอบการเข้าร่วม 594 แห่ง
1.7 ให้บริการฉีดวัคซีนโควิด 19 เข็ม 1 และเข็ม 2 ให้ผู้ประกันตน จำนวนกว่า 3.3 ล้านโดส
1.8 การรักษาโควิด 19 ให้กับผู้ประกันตนแล้วกว่า 521,771 ราย รวมเป็นเงินทั้งสิน 25,512.25 ล้านบาท
1.9 จัดหาเตียง Hospitel ร่วมกับโรงพยาบาลเพื่อรองรับผู้ประกันตน ติดเชื้อโควิด 19 จำนวน 18,519 เตียง
1.10 การให้บริการสายด่วน 1506 กด 6 เรื่องประสานหาเตียง กด 7 เรื่องการฉีดวัคซีนรวมทั้งสิ้น จำนวน 1,137,971 ครั้ง
1.11 โครงการสินเชื่อเพื่อส่งเสริมการจ้างงาน เพิ่มมาตรการเชิงรุกด้วยการปล่อยกู้ให้สถานประกอบการเพื่อรักษาสภาพการจ้างงาน ในอัตราดอกเบี้ยต่ำ ร่วมกับธนาคาร 5 แห่ง ได้แก่ UOB Exim Bank กรุงเทพ กรุงไทย และกสิกรไทย มียอดปล่อยสินเชื่อแล้วกว่า 4.8 พันล้านบาท สามารถรักษาการจ้างงานลูกจ้างในระบบไว้ได้กว่า 4 หมื่นคน
2. ยกระดับระบบประกันสังคมและเพิ่มการเข้าถึงให้มีความครอบคลุมมากขึ้น พัฒนาสิทธิประโยชน์และเพิ่มประสิทธิภาพในการเข้าถึงบริการ
2.1 ขยายความคุ้มครองประกันสังคมสู่แรงงานอิสระภาคสมัครใจ สร้างความเข้มแข็ง และขยายเครือข่ายในระดับตำบล หมู่บ้าน ชุมชน โดยมีการปรับเพิ่มสิทธิประโยชน์ ขยายอายุการสมัครเป็นผู้ประกันตนมาตรา 40 จาก 60 ปี เป็น 65 ปี รวมทั้งการปรับเพิ่มค่าทำศพให้กับผู้ประกันตนในทุกทางเลือก รวมทั้งเพิ่มช่องทางชำระเงินสมทบ เพื่อความสะดวก รวดเร็ว ลดระยะเวลาและประหยัดค่าใช้จ่าย
2.2 การพัฒนาปรับปรุงสิทธิประโยชน์ ให้แก่ ลูกจ้าง ผู้ประกันตนตามมาตรา 33 และมาตรา 39 ได้แก่ การเพิ่มสิทธิกรณีสงเคราะห์บุตร จาก 600 บาท เป็น 800 บาท กรณีคลอดบุตร/ฝากครรภ์ จาก 13,000 บาท เป็น 15,000 บาท ค่าฝากครรภ์ จากเดิม 3 ครั้งในอัตรา 1,000 บาท เป็น 5 ครั้ง ในอัตรา 1,500 บาท การเพิ่มค่าทำศพกองทุนเงินทดแทนจาก 40,000 บาท เป็น 50,000 บาท
2.3 พัฒนาบริการอิเล็กทรอนิกส์ ให้มีความทันสมัยด้วยความสะดวกสบายในยุคดิจิทัล เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่นายจ้าง ผู้ประกันตน อาทิ เพิ่มช่องทางในการชำระเงินสมทบผ่านระบบ E-payment ด้วยธนาคารและหน่วยบริการชั้นนำกว่า 11 แห่ง การยื่นแบบและการส่งข้อมูลเงินสมทบผ่านระบบอินเตอร์เน็ต นอกจากนี้นายจ้างและผู้ประกันตนยังสามารถพิมพ์ใบเสร็จผ่านระบบ E – receipt ด้วยตนเอง
2.4 ด้านบริการทางการแพทย์
– ขยายระยะเวลา MOU การให้บริการทางการแพทย์ กรณีดูแลรักษาด้วยการทำหัตถการด้านหัวใจและหลอดเลือดให้กับผู้ประกันตนของโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ตามโครงการรักษาหัวใจ 7/24 เฉลิมพระเกียรติ
– ปรับปรุงหลักเกณฑ์และอัตราการจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นให้แก่ผู้ประกันตนที่ได้รับความเสียหายจากวัคซีนโรคโควิด 19 โดยผู้ประกันตนคนไทยให้ใช้สิทธิจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง สปสช.) เนื่องจาก สปสช. ได้รับงบประมาณสำหรับดูแลคนไทยแล้ว ในส่วนของประกันสังคมจะดูแลค่าใช้จ่ายในส่วนของผู้ประกันตนที่ไม่มีสัญชาติไทย มีผลบังคับใช้ย้อนหลังตั้งแต่วันที่ 5 เมษายน 2564
– ปรับปรุงหลักเกณฑ์ และอัตราค่าบริการทางการแพทย์สำหรับผู้ประกันตน ที่ป่วยด้วยโรคมะเร็ง โดยปรับปรุงสูตรโปรโตคอลการรักษาโรคมะเร็งเพิ่มเติม 3 รายการ ได้แก่ มะเร็งเต้านม มะเร็งลำไส้ใหญ่/ลำไส้ตรง และมะเร็งกระเพาะอาหาร โดยครอบคลุมทั้งการรักษาประเภทผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยใน และรายการยาทุกรายการที่ระบุในโปรโตคอล
2.5 เพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการสายด่วน 1506 ตลอด 24 ชั่วโมง เพิ่มคู่สาย 1506 กด 6 กด 7 ตอบคำถามเรื่องการตรวจคัดกรอง รักษา การจัดหาเตียงและวัคซีนโควิด 19
เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กล่าวย้ำในตอนท้ายว่า ขอให้ผู้ประกันตน นายจ้าง รวมถึงผู้มีส่วนเกี่ยวข้องมั่นใจว่าสำนักงานประกันสังคมทุกพื้นที่ทั่วประเทศ พร้อมมุ่งมั่นทำงานหนัก เชิงรุก และต่อเนื่อง ภายใต้แนวคิด “SSO TRUST” เพื่อให้ สปส. เป็นองค์กรที่เป็นที่ยอมรับ เชื่อมั่นไว้วางใจในการสร้างหลักประกันความมั่นคงดำรงชีวิตแก่ผู้ประกันตน