Site icon Mekha News (มีค่านิวส์) : เว็บไซต์ข่าว ที่จะนำเสนอข่าวสารเพื่อรักษาสิทธิให้กับคุณ

ครม.อนุมัติหลักการ ร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิตและคุ้มครองแรงงานนอกระบบ รวมกว่า 20 ล้านคน สร้างหลักประกัน ให้ได้รับการคุ้มครองทางกฎหมาย

แรงงานนอกระบบเช็กเลย! ครม.อนุมติ ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน เราได้สิทธิอะไร

นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยมติที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 28 ธันวาคม 2564 อนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิตและคุ้มครองแรงงานนอกระบบ พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ เพื่อส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิตและคุ้มครองแรงงานนอกระบบกว่า 19.6 ล้านคน หรือ ร้อยละ 52

ทั้งนี้ จากการสำรวจจำนวนแรงนอกระบบปี 2564 ส่วนใหญ่ทำอาชีพ ดังนี้

1.อาชีพเกษตรและประมง

2.พ่อค้า แม่ค้า แผงลอย

3.คนขับแท็กซี่

สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ มีรายละเอียด อาทิ

1.“แรงงานนอกระบบ” หมายความถึง คนทำงานสัญชาติไทยที่มีอายุตั้งแต่ 15 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป ซึ่งไม่ได้เป็นลูกจ้าง ตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน หรือ ไม่ได้เป็นผู้ประกันตน มาตรา 33 ตามกฎหมายประกันสังคม รวมถึงผู้ที่คณะกรรมการประกาศกำหนด

2.ให้แรงงานนอกระบบ มีสิทธิขึ้นทะเบียนแรงงานนอกระบบ และให้แรงงานนอกระบบ ตั้งแต่ 5 คนขึ้นไปขึ้นทะเบียนกลุ่มแรงงานนอกระบบตามลักษณะของอาชีพ แรงงานนอกระบบ ตั้งแต่ 15 กลุ่มขึ้นไป ขึ้นทะเบียนเพื่อจัดตั้งองค์กรแรงงานนอกระบบได้ รวมทั้งให้องค์กรแรงงานนอกระบบมีสิทธิเสนอความเห็นต่อคณะกรรมการเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงานนอกระบบ

3. ให้มี “คณะกรรมการส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงานนอกระบบแห่งชาติ” มีหน้าที่และอำนาจกำหนดนโยบายและ แผนปฏิบัติการด้านการส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิตและคุ้มครองแรงงานนอกระบบ และเสนอแนวทางในการแก้ไข ปรับปรุง กฎหมายที่เกี่ยวกับการส่งเสริมดังกล่าวต่อ ครม.

4.ให้มี “กองทุนส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิตและคุ้มครองแรงงานนอกระบบ” เพื่อเป็นทุนหมุนเวียน สำหรับใช้จ่ายเกี่ยวกับการส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิต และการคุ้มครองแรงงานนอกระบบ

สำหรับร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิตและคุ้มครองแรงงานนอกระบบ พ.ศ. …. ถือเป็นกฎหมายฉบับแรกของไทย ที่ออกมาเพื่อดูแลแรงงานนอกระบบ ซึ่งเป็นกำลังแรงงานกลุ่มใหญ่ของประเทศให้สามารถเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานในการทำงาน หรือ การประกอบอาชีพ ความปลอดภัยในการทำงาน หลักประกันทางสังคม ตลอดจนการรวมกลุ่ม รวมตัวในการจัดตั้งองค์กรเพื่อสร้างอำนาจต่อรองให้เกิดความเป็นธรรมในการจ้างงาน เพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายตามยุทธศาสตร์ชาติ

Exit mobile version