นางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยมติที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 28 ธันวาคม 2564 อนุมัติขยายระยะเวลาโครงการเยียวยานายจ้างและผู้ประกันตนมาตรา 33 มาตรา 39 และมาตรา 40 ในกิจการที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการของรัฐ ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 13 จังหวัด โดยเป็นกลุ่มจังหวัดที่ได้รับเยียวยาเพิ่ม 1 เดือนในเดือน ส.ค. 2564 ซึ่งจากเดิมจะสิ้นสุดในเดือน ธ.ค. 2564 เป็นสิ้นสุดเดือน มี.ค. 2565
เนื่องจากสำนักงานประกันสังคม ได้รายงานว่า จำเป็นต้องใช้ระยะเวลาในการดำเนินการเบิกจ่ายเงินให้แก่กลุ่มเป้าหมายที่ยังไม่ได้รับเงินเยียวยาตามโครงการฯ ซึ่งในการนี้ ครม.ให้สำนักงานประกันสังคม เร่งดำเนินการพิจารณาความเหมาะสมของการให้ความช่วยเหลือกลุ่มเป้าหมายดังกล่าว ตามขั้นตอนโดยเร็ว
ทั้งนี้ สำนักงานประกันสังคม รายงานความคืบหน้าโครงการเยียวยานายจ้างและผู้ประกันตนมาตรา 33 ณ วันที่ 16 ธันวาคม 2564 ได้ดำเนินการจ่ายเงินเยียวยาให้กับนายจ้าง และผู้ประกันตนมาตรา 33 แล้ว 2 รอบ รวมเป็นเงิน 31,721.52 ล้านบาท
จากการตรวจสอบข้อมูลพบว่า ยังมีกลุ่มผู้ที่ยังไม่ได้รับเงินเยียวยาตามโครงการฯ ประกอบด้วยนายจ้าง 5,948 แห่ง ผู้ประกันตนมาตรา 33 จำนวน 199,232 คน ประกอบด้วย
1.กลุ่มที่อยู่ระหว่างการจ่ายเงินเยียวยา
2.กลุ่มที่อยู่ระหว่างการทบทวนสิทธิ
3.กลุ่มที่อยู่ระหว่างการตรวจสอบนิติสัมพันธ์และยืนยันข้อมูล
4.กลุ่มที่อยู่ระหว่างเปลี่ยนแปลงรหัสประเภทกิจการ รวมถึงกรณีโอนเงินไม่สำเร็จ เนื่องจากบัญชีเงินฝากปิด หรือ ไม่ได้ผูกกับพร้อมเพย์ และมีวงเงินคงเหลือตามโครงการทั้งระยะที่ 1 และระยะที่ 2 รวม 1,984.24 ล้านบาท
ส่วนโครงการเยียวยาผู้ประกันตน มาตรา 39 และมาตรา 40 ณ วันที่ 21 ธันวาคม 2564 ได้จ่ายเงินเยียวยาแล้ว 72,015.33 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 92.70 ของวงเงินตามโครงการ 77,785 ล้านบาท ซึ่งขณะนี้เหลือผู้ประกันตนที่ยื่นอุทธรณ์/ทบทวนสิทธิ แยกเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 39 จำนวน 3,423 คน และผู้ประกันตนมาตรา 40 จำนวน 190,659 คน
สำหรับพื้นที่ 13 จังหวัดสีแดงเข้ม หรือ พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ประกอบด้วย
1.กรุงเทพมหานคร
2.นครปฐม
3.นนทบุรี
4.ปทุมธานี
5.สมุทรปราการ
6.สมุทรสาคร
7.ปัตตานี
8.ยะลา
9.นราธิวาส
10.สงขลา
11.ชลบุรี
12.ฉะเชิงเทรา
13.พระนครศรีอยุธยา