มีค่า นิวส์ มีข่าวดีมาฝากผู้ประกอบการเอสเอ็มอีค่ะ โดยตั้งแต่วันนี้ 17 มกราคม ถึง 31 พฤษภาคม 2565 กระทรวงอุตสาหกรรมร่วมกับธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME D Bank ทุ่มงบประมาณสินเชื่อกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ 2,000 ล้านบาท เปิดให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีกู้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ เพื่อหวังช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีและลูกหนี้ได้เข้าถึงแหล่งทุน ช่วยเสริมสภาพคล่อง รักษาการจ้างงาน ข้ามผ่านวิกฤตโควิด-19 ไปให้ได้ ประกอบด้วย 3 สินเชื่อ ดังต่อไปนี้
1.สินเชื่อเพิ่มศักยภาพ SME
1.1 สำหรับผู้ผลิตให้บริการค้าปลีก หรือ ค้าส่ง ในกลุ่มอุตสาหกรรม BCG (Bio Circular Green) ใน 5 กลุ่ม ดังนี้
– กลุ่มเกษตรอุตสาหกรรม/กลุ่มอาหารแปรรูปที่ใช้เทคโนโลยีชีวภาพ
– กลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานทดแทน
– กลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์
– กลุ่มผู้ผลิต/ผู้ใช้เทคโนโลยีหุ่นยนต์หรือระบบอัตโนมัติ
– กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า
1.2 กรอบวงเงิน 1,000 ล้านบาท แบ่งเป็น
– วงเงินสินเชื่อต่อรายสูงสุดไม่เกิน 15 ล้านบาท ระยะเวลากู้สูงสุดไม่เกิน 10 ปี
– ปลอดชำระคืนเงินต้นสูงสุดไม่เกิน 18 เดือน ดอกเบี้ย 2% ต่อปีตลอดอายุสัญญา
2.สินเชื่อ สร้างโอกาส เสริมสภาพคล่อง SME
2.1 สำหรับผู้ผลิตให้บริการค้าปลีก หรือ ค้าส่ง เพื่อสนับสนุนให้ความช่วยเหลือเงินทุนแก่เอสเอ็มอีที่มีศักยภาพที่เป็นนิติบุคคลและเป็นกลุ่มธุรกิจเป้าหมาย ที่ขาดสภาพคล่องทางการเงิน และเพิ่มช่องทางการเข้าถึงแหล่งเงินทุนให้นำเงินทุนไปใช้ในการปรับปรุง ลงทุนในกิจการ ฟื้นฟู กิจการในปัจจุบัน หรือเริ่มต้นกิจการใหม่ ใน 8 กลุ่มอุตสาหกรรม ประกอบด้วย
– กลุ่มอุตสาหกรรมท่องเที่ยว
– กลุ่มอุตสาหกรรมเกษตรและอาหารแปรรูป
– กลุ่มอุตสาหกรรมแฟชั่น
– กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน
– กลุ่มอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์
– กลุ่มอุตสาหกรรมพลาสติก
– กลุ่มอุตสาหกรรมก่อสร้าง
– กลุ่มอุตสาหกรรมโลจิสติกส์
2.2 กรอบวงเงิน 500 ล้านบาท แบ่งเป็น
– วงเงินสินเชื่อต่อรายตั้งแต่ 1 แสนบาท และสูงสุดไม่เกิน 2 ล้านบาท ระยะเวลากู้สูงสุดไม่เกิน 7 ปี
– ปลอดชำระคืนเงินต้น สูงสุดไม่เกิน 12 เดือน ดอกเบี้ย 2% ต่อปี ตลอดอายุสัญญา
3.สินเชื่อเพื่อฟื้นฟู SME
3.1 เพื่อเป็นเงินทุนช่วยเหลือให้กับลูกค้ากลุ่มเดิม ที่เป็นลูกหนี้สินเชื่อของกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ ดังนี้
– มีภาระหนี้เงินต้นวงเงินกู้สินเชื่อระยะยาว (Term Loan) คงเหลืออยู่กับกองทุนฯ
– ได้นำเงินทุนไปใช้ในการปรับปรุง ลงทุน เงินทุนหมุนเวียน เสริมสภาพคล่องในการดำเนินกิจการ หรือ ฟื้นฟูกิจการในปัจจุบันหรือ เริ่มต้นกิจการใหม่
3.2 ผู้รับสินเชื่อต้องเป็นลูกหนี้ในโครงการสินเชื่อของกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ หรือโครงการฟื้นฟูและเสริมศักยภาพวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม สำหรับ SMEs หรือโครงการสินเชื่อ SME โตไว ไทยยั่งยืน
3.3 กรอบวงเงิน 500 ล้านบาท แบ่งเป็น
– วงเงินสินเชื่อต่อรายสูงสุดไม่เกิน 3 ล้านบาท โดยเมื่อรวมกับภาระหนี้เงินต้นคงเหลือและดอกเบี้ยคงค้างของสัญญากู้ยืมเงินกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ ต้องไม่เกินจากวงเงินสินเชื่อที่ได้รับอนุมัติเดิม ระยะเวลากู้สูงสุดไม่เกิน 7 ปี
– ปลอดชำระคืนเงินต้นสูงสุดไม่เกิน 12 เดือน ดอกเบี้ย 2% ต่อปี ตลอดอายุสัญญา
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม คาดว่าจะสามารถช่วยเหลือผู้ประกอบการได้มากกว่า 500 ราย รักษาการจ้างงานได้กว่า 3,000 ราย ก่อให้เกิดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจกว่า 10,000 ล้านบาท
ผู้ที่สนใจทั้ง 3 โครงการ สามารถติดต่อขอรับสินเชื่อได้ที่สำนักงานกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดทุกจังหวัด หรือ ผ่าน www.thaismefund.com และที่ www.smebank.co.th