จากข่าวที่กระทรวงการคลัง เตรียมประกาศอัตราภาษี และแนวทางจัดเก็บรายได้ 5 กลุ่มสินค้าที่มีปริมาณโซเดียมเกินเกณฑ์กำหนด ภายในปี 2565 หรือ “ภาษีความเค็ม” โดยตั้งเป้าลดการบริโภคโซเดียมของประชาชน หลังพบว่าแต่ละปี มีคนไทยไม่น้อยกว่า 26 ล้านคนเจ็บป่วยด้วยโรคที่เกี่ยวกับการบริโภคโซเดียม ซึ่งคิดเป็นภารค่ารักษาพยาบาล ไม่น้อยกว่าปีละ 100,000 ล้านบาท ทั้งนี้ หลังจากมีประกาศออกมาแบบนี้ อาจทำให้หลายคนสงสัยว่า ภาษีความเค็ม คืออะไร มีหลักเกณฑ์การจัดเก็บเท่าไหร่ อย่างไร มีค่า นิวส์ จึงจะพามาทำความรู้จักกับ ภาษีดังกล่าว
ภาษีความเค็ม หรือ ภาษีโซเดียม เป็นภาษีที่กระทรวงการคลัง เตรียมเรียกเก็บจากผู้ประกอบอุตสาหกรรม ผู้ผลิตอาหาร ร้านอาหาร และภัตตาคาร เพื่อให้ช่วยลดการผลิตสินค้าที่มีปริมาณโซเดียมสูง โดยตั้งเป้าหมายลดการบริโภคโซเดียมของคนไทยในแต่ละวันให้น้อยกว่า 20% ต่อคนต่อวัน หรือ ประมาณ 2,800 มิลลิกรัมต่อคนต่อวัน จากเดิมที่คนไทยบริโภคโซเดียมสูงเฉลี่ย 3,600 มิลลิกรัมต่อวัน
ภาษีจากความเค็ม จะจัดเก็บทั้งจากอาหารสำเร็จรูป และอาหารกึ่งสำเร็จรูป ขนมขบเคี้ยว รวมถึงเครื่องปรุงอาหารทั้งหมด เช่น ผงชูรส น้ำปลา เกลือ ผงปรุงรส เป็นต้น โดยจะมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาช่วยดูแล ได้แก่ สำนักงานมาตรฐานอุตสาหกรรม
ขณะที่ร้านอาหาร ภัตคาร ก็ต้องมีองค์การอาหารและยา (อย.) เข้ามาช่วยดูคุณภาพ โดยจะใช้ระบบเดียวกับภาษีความหวาน ที่ต้องมีการวัดปริมาณที่ชัดเจน ซึ่งขณะนี้ กระทรวงการคลัง ได้มอบหมายให้กรมสรรพสามิต พิจารณาแนวทางการจัดเก็บภาษีความเค็ม คาดจะสามารถจัดเก็บได้ภายในปี 2565
ที่มา : นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ข้อมูล วันที่ 18 ม.ค. 65
อ่านเพิ่มเติม >> ภาษีความหวาน คือ https://mekhanews.com/2021/06/17/what-is-the-sugar-tax/