น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยมติที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 18 มกราคม 2565 รับทราบผลการพิจารณารายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง การปฏิรูปหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของประเทศไทย เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ของคณะกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา ตามที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอ โดยมีข้อเสนอแนะของคณะกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา ในเรื่องการยกระดับหลักประกันสุขภาพให้ครอบคลุมทุกคนที่มีปัญหาทางสถานะทางทะเบียนและสิทธิรวมถึงคนต่างด้าว
ทางกระทรวงสาธารณสุข ระบุในประเด็นนี้ว่า สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) อยู่ระหว่างขับเคลื่อนงานดังกล่าวร่วมกับผู้มีส่วนได้เสียและภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อจัดทำข้อเสนอแนวทางการขยายความครอบคลุมการประกันสุขภาพภาคบังคับ สำหรับคนต่างด้าวทุกคน ที่เข้ามาประเทศไทยที่ไม่มีระบบประกันสุขภาพ โดยนำร่องใน 4 กลุ่ม คือ
1.นักท่องเที่ยว
2.ผู้ต้องขัง
3.แรงงานต่างด้าว 4 สัญชาติ
4.Stateless (ไร้สัญชาติ)
เพื่อให้มีสิทธิประโยชน์ การจ่ายสมทบ ซื้อประกัน และการบริหารจัดการที่เหมาะสมเป็นระบบหรือมาตรฐานเดียว โดยจะเสนอ ครม.พิจารณาให้ความเห็นชอบและมอบหมายหน่วยงานหลักรับผิดชอบต่อไป
ส่วนประเด็นในระยะยาว ที่คณะกรรมาธิการฯ เสนอให้มีการเก็บภาษีสุขภาพสำหรับคนไทยทุกคน และรวมกองทุนประกันสุขภาพภาครัฐทุกระบบเป็นระบบเดียว (Single Fund) ทั้งสำหรับคนไทยและคนต่างด้าวที่อยู่ในประเทศไทยทุกคนเพื่อให้มีเอกภาพ โดยมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง
กระทรวงสาธารณสุข ระบุในประเด็นนี้ว่า การจัดเก็บภาษีส่วนประกอบอาหารที่มีผลกระทบต่อสุขภาพที่ ร้อยละ 5 ของมูลค่าการผลิตส่วนประกอบอาหารที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ ประมาณการจำนวนเงิน 9,500 ล้านบาทต่อปี ซึ่งเป็นการจัดเก็บที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพโดยตรงและอาจทำให้พฤติกรรมการบริโภคเปลี่ยนแปลงจนต้นทุนด้านสุขภาพในอนาคตลดลง อย่างไรก็ตามอาจเป็นภาระแก่ผู้บริโภค
สำหรับการรวมกองทุนประกันสุขภาพภาครัฐทุกระบบเป็นระบบเดียว ทั้งสำหรับคนไทยและคนต่างด้าวนั้น เห็นควรกำกับทิศทางนโยบาย ในกรณีมีหน่วยบริหารการคลังระบบสาธารณสุขหลายหน่วย โดยกำหนดให้มีองค์กรในระดับประเทศทำหน้าที่อภิบาลระบบ โดยมีอำนาจตามกฎหมายที่จะสั่งให้หน่วยบริหารการคลังระบบสาธารณสุขต้องปฏิบัติตามกติกาเดียวกัน