Mekha News (มีค่านิวส์) : เว็บไซต์ข่าว ที่จะนำเสนอข่าวสารเพื่อรักษาสิทธิให้กับคุณ

ครบรอบ 131 ปี วศ.เดินหน้าสู่องค์กรชั้นนำ ยกระดับวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ตอบโจทย์ผู้รับบริการ เพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาชน

วันที่ 30 มกราคม 2565 เป็นวันครบรอบ 131 ปี ของกรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) จึงตั้งเป้ายกระดับโครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (วทน.) ของประเทศให้มีความเข้มแข็ง ในการตรวจสอบและรับรองตามมาตรฐานสากล สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าด้วยนวัตกรรม และเดินหน้างานวิจัยที่ตอบโจทย์การใช้งานจริงให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันเพื่อความปลอดภัยของประชาชนตลอดจนยกระดับการผลิตสินค้าให้มีคุณภาพและมาตรฐานในทุกมิติ

นายแพทย์ปฐม สวรรค์ปัญญาเลิศ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์บริการ กล่าวว่า กรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) หน่วยงานในสังกัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ตลอดระยะเวลา 130 ปี ที่ผ่านมา เรามีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและการเจริญเติบโตของประเทศไทยด้วยงานด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (วทน.) ครอบคลุมการให้บริการวิเคราะห์ทดสอบ ตรวจสอบ รับรองบริการและผลิตภัณฑ์ ได้แก่

1.ผลิตภัณฑ์อุปโภคบริโภค

2.วัสดุทางการแพทย์

3.สิ่งแวดล้อม

4.เทคโนโลยีอนาคต เช่น

– หุ่นยนต์และระบบเซ็นเซอร์

– การพัฒนาศักยภาพนักวิทยาศาสตร์

– การวิจัยและถ่ายทอดเทคโนโลยีทั้งในระดับชุมชน จนถึงระดับอุตสาหกรรม

นอกจากนี้ วศ.เป็นแหล่งรวมข้อมูลสารสนเทศด้าน วทน. และเป็น 1 ใน 4 หน่วยงาน ที่ให้การรับรองห้องปฏิบัติการในด้านต่างๆ ของประเทศ จากผลการดำเนินงานดังกล่าวเป็นสิ่งที่ยืนยันได้ว่า วศ. มีความตั้งใจที่จะพัฒนาและขยายขอบข่ายงานบริการอย่างต่อเนื่อง มุ่งมั่นส่งมอบบริการที่ดี มีคุณภาพ เสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันให้ผู้ประกอบการอย่างไม่มีที่สิ้นสุด

ที่ผ่านมา วศ. เดินหน้าพัฒนางานบริการในด้านพัฒนาผลิตภัณฑ์ การพัฒนาวิธีทดสอบ การทดสอบเพื่อการพัฒนาคุณภาพ การทดสอบเพื่อการส่งเสริมการผลิต รวมถึงการพัฒนามาตรฐาน การพัฒนาระบบงาน เช่น

– ระบบความปลอดภัย

– ระบบคุณภาพ

– การพัฒนากำลังคน

ซึ่งก็ทำได้ครบทุกภารกิจในระดับที่ตอบโจทย์ทั้งผู้ให้ทุนและผู้รับบริการถือเป็นที่น่าพอใจ และในโอกาสก้าวสู่ทศวรรษที่ 14 กรมวิทยาศาสตร์บริการมุ่งมั่นที่จะพัฒนาและขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมของประเทศด้วยบริการ ดังนี้

1.บริการวิทยาศาสตร์ที่มีคุณภาพสูง

2.บริการให้คำปรึกษา

3.การพัฒนาศักยภาพกำลังคนทางด้านวิทยาศาสตร์

4.การกำหนดมาตรฐานงานทางวิทยาศาสตร์

5.การวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการ

6.การสร้างผลิตภัณฑ์นวัตกรรม

7.การตรวจสอบคุณภาพผลิตภัณฑ์

8.บริการทางวิทยาศาสตร์

ตลอดจนการรับรองระบบงานวิทยาศาสตร์ เพื่อการส่งเสริมและพัฒนาภาคอุตสาหกรรมและธุรกิจของไทยให้เติบโตได้ในระดับสากลต่อไป

Exit mobile version