ถ้าพูดถึง “เกี๊ยวซ่า” เชื่อว่าจะต้องเป็นเมนูโปรดของใครหลายคน ด้วยตัวเกี๊ยวสีขาว ห่อด้วยไส้หมู จับจีบสวย ๆ แล้วนำไปทอดกรอบ ทานคู่กับซอสโชยุสไตล์ญี่ปุ่น อร่อยอย่าบอกใครเชียวค่ะ โดยในสมัยก่อนหาทานได้ยาก เพราะยังไม่เป็นที่รู้จัก แต่ปัจจุบันเกี๊ยวซ่าได้รับความนิยมมากขึ้น ทำให้มีผู้สนใจลงทุนขายเกี๊ยวซ่าจำนวนมาก จนตอนนี้ กลายเป็นอาหารทานเล่นที่หาซื้อได้ง่าย มีให้เลือกหลายแบรนด์ โดยแต่ละแบรนด์ก็จะมีจุดเด่นของตัวเอง มีการคิดค้นสูตรใหม่ ๆ เพื่อดึงดูดลูกค้า
มีค่า นิวส์ มีโอกาสได้คุยกับคุณปาริฉัตร สิงห์สกุลรัตน์ หรือ คุณปลา หุ้นส่วน บริษัท เกี๊ยวหมีซ่า 456 จำกัด หรือ ร้านเกี๊ยวหมีซ่า (Gyomheeza) ยอดนิยมในจังหวัดเพชรบูรณ์ จากอดีตพนักงานออฟฟิศ ชอบตระเวนทานเกี๊ยวซ่าตามร้านต่าง ๆ จนวันหนึ่งเห็นช่องทางทำธุรกิจจากการสังเกตว่าในจังหวัดเพชรบูรณ์ ยังไม่มีร้านเกี๊ยวซ่า ประกอบกับคุณพ่อคุณแม่เป็นเชฟเปิดร้านอาหารที่บ้าน จึงอยากต่อยอดธุรกิจ ตัดสินใจลาออกมาลุยธุรกิจคู่กับแฟนหนุ่มในปี 2561 ด้วยเงินลงทุน 3,000 บาท แบ่งเป็น
– ค่าวัตถุดิบ (เนื้อหมู, แผ่นเกี๊ยว)
– บรรจุภัณฑ์ (เน้นดูดีที่สุด)
ส่วนอุปกรณ์ทอดเกี๊ยวซ่า คุณปลาใช้กระทะเทฟล่อนที่มีในครัวเรือนแทนการซื้ออุปกรณ์ใหม่ เพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย ขณะที่การคิดค้นสูตรทั้งตัวเกี๊ยวและน้ำซอส คุณปลาศึกษาจากอินเทอร์เน็ต นำมาประยุกต์จนได้เป็นสูตรเกี๊ยวซ่า ที่เน้นไส้เป็นเนื้อหมูเยอะ ๆ ไม่ใส่ขิง แต่จะมีท้อปปิ้งแยกให้ลูกค้า ส่วนการทอดเกี๊ยวซ่า จะใช้วิธีทอดน้ำสไตล์เทปันที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะ จะทำให้ตัวเกี๊ยวกรอบนอกนุ่มใน ด้านน้ำซอส คุณปลาปรุงรสชาติให้ถูกปากคนไทย มีให้เลือกทั้งแบบครีม ซีฟู้ด และ โซยุใส
คุณปลา เล่าเพิ่มเติมว่า หลังจากได้สูตรเกี๊ยวซ่าและน้ำซอสแล้ว เธอจึงเริ่มเปิดขายเกี๊ยวซ่าแบบพรีออเดอร์ในเฟซบุ๊ก โดยเปิดเพจ เกี๊ยวหมีซ่า https://www.facebook.com/เกี๊ยวหมีซ่า-479532125734674/ และ https://www.facebook.com/เกี๊ยวหมีซ่า-เพจหลัก-479532125734674/ ควบคู่กับการขายในร้านอาหารของคุณพ่อคุณแม่ เกิดการบอกต่อกันแบบปากต่อปาก ภายในอาทิตย์แรก คุณปลามีรายได้จากการขายเกี๊ยวซ่า สูงถึงหลักหมื่นบาท จึงผลิตเกี๊ยวซ่าให้หลากหลายมากขึ้น อาทิ ไส้ผักโขมอบชีส ไส้หม่าล่า ไส้พริกเผา เป็นต้น ลูกค้าชื่นชอบ ขายดีอย่างมาก
เมื่อเริ่มมีรายได้เพิ่มขึ้น คุณปลา คิดอยากต่อยอดธุรกิจย้ายไปเปิดขายในกรุงเทพฯ แต่ด้วยปัจจัยแวดล้อมที่มีคู่แข่งเยอะ คนไม่ค่อยนิยมทานเกี๊ยวซ่า ขายอยู่นาน 1 ปี สุดท้ายคุณปลา จึงกลับมาขายเกี๊ยวซ่าที่เพชรบูรณ์ดังเดิม ด้วยการลองเปิดขายในฟู้ดเดลิเวอรี่ เพื่อสังเกตฐานลูกค้าก่อน
ขายอยู่นาน 2 เดือนรายได้เริ่มกลับมา ได้รับความนิยมติด 1 ใน 10 ร้านดังในเพชรบูรณ์ จากการจัดอันดับของ Food Panda ซึ่งส่วนตัวคุณปลามองว่า ส่วนหนึ่งน่าจะมาจากความใส่ใจรายละเอียดทุกขั้นตอน ทั้งรสชาติ วัตถุดิบ และการบริการลูกค้า
“ถ้าจะให้พูดถึงจุดเด่นของเกี๊ยวหมีซ่า สำหรับปลาคิดว่า เกิดจากรสชาติที่โดดเด่น มีหลากหลายไส้ มีท้อปปิ้งให้ลูกค้าเลือกหลากหลาย และอีกอย่างคือปลาใส่ใจลูกค้ามาก ค่อนข้างแคร์ความรู้สึกของลูกค้า จะดูแลใส่ใจเองทุกขั้นตอนเลย”
คุณปลา ยังบอกอีกว่า การทำธุรกิจจำเป็น ต้องวางแผนให้รอบคอบ การขายสินค้าหลากหลายช่องทาง ย่อมดีกว่าขายช่องทางเดียว ดังนั้น เธอจึงตัดสินใจเปิดขายแบบหน้าร้านเพิ่มเติมด้วย โดยใช้เงินลงทุน 1 ล้านบาทในการรีโนเวทร้านอาหารของคุณพ่อคุณแม่ เป็นร้านเกี๊ยวหมีซ่า ขายแบบหน้าร้าน ควบคู่ไปกับการขายทางฟู้ดเดลิเวอรี่ โดยมีแฟนหนุ่ม ช่วยดูแลหน้าร้าน
ซึ่งการขายแบบหน้าร้านนี้เอง คุณปลา บอกว่า กลายเป็นจุดเปลี่ยนของการเริ่มต้นทำ “แฟรนไชส์ เกี๊ยวหมีซ่า” โดยคุณปลา เล่าว่า ตอนนั้นมีญาติของรุ่นพี่ที่รู้จักกันได้ลองชิมเกี๊ยวซ่าของเธอ แล้วประทับใจในรสชาติ จึงติดต่อขอทำแฟรนไชส์ ตอนแรกคุณปลา ยอมรับว่า มีความกังวลเพราะกลัวว่าจะดูแลธุรกิจในรูปแบบแฟรนไชส์ได้ไม่ดีพอ
แต่ท้ายที่สุด คุณปลาได้ลองทบทวนนึกถึงข้อดีของการเปิดขายแบบแฟรนไชส์ ที่จะสามารถทำให้แบรนด์ เกี๊ยวหมีซ่า เป็นที่รู้จักได้เร็วขึ้น จึงตัดสินใจวางระบบแฟรนไชส์ แต่เนื่องจากไม่มีความรู้ด้านนี้ คุณปลา จึงว่าจ้างบริษัทมาวางระบบแฟรนไชส์ให้ ประกอบด้วย การคิดกลยุทธ์ รูปแบบแฟรนไชส์ คำนวณต้นทุนด้านต่าง ๆ ทั้งการขนส่ง และต้นทุนวัตถุดิบ
กระทั่งได้รูปแบบแฟรนไชส์ 3 รูปแบบ แตกต่างกันที่วัตถุดิบ อุปกรณ์ ประกอบด้วย
1. แฟรนไชส์ไซส์เล็ก 69,000 บาท
2. แฟรนไชส์ไซส์กลาง 89,000 บาท
3. แฟรนไชส์ไซส์ใหญ่ 129,000 บาท
ส่วนขั้นตอนสำหรับคนที่อยากลงทุนแฟรนไชส์ เกี๊ยวหมีซ่า หรือ แฟรนไชส์อื่น ๆ คุณปลาแนะนำหลักการ 5 ข้อ ดังนี้
1.เริ่มจากกำหนดทำเลให้ชัดเจน เช่น เดลิเวอรี่เข้าไปรับสินค้าได้หรือไม่ หรือ ทำเลต้องสะดวกต่อการขายหน้าร้าน
2.เมื่อได้ทำเลแล้ว ก็ติดต่อแบรนด์ เพื่อเลือกรูปแบบการลงทุน ว่าอยากได้แบบไหน ขนาดเท่าไหร่
3.คำนวณรายได้ เช่น ค่าแรงงาน มีลูกน้องกี่คน ต้องจ่ายค่าเช่าสถานที่หรือไม่ เพื่อคำนวณรายได้คร่าว ๆ ที่จะได้ในแต่ละเดือน
4.เข้าไปอบรมที่สาขา เพื่อให้เห็นการทำสินค้าจริงของแบรนด์ ว่าจะสามารถแก้ปัญหาในเรื่องต่าง ๆ ได้หรือไม่
5.ส่งมอบสินค้า ติดตั้งอุปกรณ์ที่หน้าร้าน
คุณปลา บอกว่า เมื่อเริ่มทำระบบแฟรนไชส์ ธุรกิจเริ่มใหญ่ขึ้น คุณปลา จึงต้องจดทะเบียนรูปแบบบริษัท และจดสิทธิบัตรโลโก้ เพื่อให้แบรนด์มีความน่าเชื่อถือมากขึ้น พร้อมทั้งลงทุนซื้อเครื่องมือเพิ่มเติม เพื่อให้สามารถผลิตสินค้าได้เพิ่มขึ้น อาทิ เครื่องปั้นเกี๊ยว และเครื่องบรรจุซอสอัตโนมัติ เป็นต้น
สำหรับการดำเนินธุรกิจในช่วงที่โควิด-19 แพร่ระบาด เกี๊ยวหมีซ่าได้รับผลกระทบจากการขายหน้าร้านได้น้อยลง แต่ก็ยังมียอดขายจากฟู้ดเดลิเวอรี่ คุณปลา จึงปรับกลยุทธ์เพิ่มเติม 4 ข้อ ดังนี้
1.คงรสชาติ คุณภาพสินค้า หมั่นพัฒนาสินค้าอยู่เสมอ เช่น การคิดค้นไส้ใหม่ ๆ เพิ่ม เป็นต้น
2.จัดโปรโมชันที่น่าใจ ดึงดูดลูกค้า เช่น โปร 1 แถม 1 / โปรซื้อหน้าร้านถูกกว่า เป็นต้น
3.กำหนดราคาสินค้าให้เหมาะสมกับสถานการณ์ ไม่ฉวยโอกาสขึ้นราคาเกินจริง
4.เพิ่มฐานลูกค้าใหม่ โดยใช้การโปรโมทผ่านกลุ่มเฟซบุ๊กสาธารณะ และยิงโฆษณากับบริษัทฟู้ดเดลิเวอรี่
ในอนาคต คุณปลา วางแผนกับธุรกิจ เกี๊ยวหมีซ่า โดยอยากเพิ่มยอดขายหน้าร้านให้ได้ เนื่องจากตอนนี้มียอดขายจากฟู้ดเดลิเวอรี่มากกว่า รวมถึงเตรียมขยายสาขาต่างอำเภอด้วย
คุณปลา ให้แง่คิดทิ้งท้าย สำหรับการทำธุรกิจส่วนตัวในยุคโควิดว่า “การทำธุรกิจส่วนตัว เราต้องลงลึกกับมัน ยิ่งทุ่มเทมาก เราก็จะยิ่งได้มาก แตกต่างจากงานประจำที่ทุ่มเทอย่างไร เราก็ได้เงินเดือนเท่าเดิม แต่การทุ่มเท เราก็ต้องดูความเป็นไปได้ ศึกษากลุ่มเป้าหมาย เรียนรู้กลยุทธ์ต่าง ๆ ซึ่งในยุคนี้ ปลามองว่าการขายออนไลน์ และฟู้ดเดลิเวอรี่เข้ามามีบทบาทมาก อยากให้ลองเปิดใจเรียนรู้ พร้อมทั้งศึกษาคู่แข่ง ดูความต้องการของลูกค้า ถ้าเราทำให้ลูกค้าประทับใจได้ ธุรกิจของเราก็จะดำเนินต่อไปได้”
สำหรับใครที่สนใจแฟรนไชส์ เกี๊ยวหมีซ่า เข้าไปดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://www.facebook.com/เกี๊ยวหมีซ่า-479532125734674/ และ https://www.facebook.com/เกี๊ยวหมีซ่า-เพจหลัก-479532125734674/ ได้เลยนะคะ