นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังเป็นประธานเปิดการประชุมวิชาการวันมะเร็งโลกปี 2565 หัวข้อ “ยกระดับหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน” ของเขตสุขภาพที่ 7 โดยระบุว่า รัฐบาลและกระทรวงสาธารณสุขให้ความสำคัญกับการพัฒนาระบบบริการบำบัดรักษาโรคมะเร็ง ซึ่งเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญของประเทศ อาทิ
1.การยกระดับบริการคัดกรองปากมดลูก จากวิธี PAP smear และวิธี VIA เป็นการหาการติดเชื้อ HPV บริเวณช่องคลอด ซึ่งมีความแม่นยำสูง เก็บตัวอย่างได้ด้วยตัวเอง ช่วยแก้ปัญหาการเข้าไม่ถึงบริการของผู้หญิงจำนวนมาก
2.การคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ด้วยการตรวจหาเลือดในอุจจาระ
3.การป้องกันมะเร็งเต้านม โดยเพิ่มสิทธิประโยชน์การตรวจยีนเสี่ยงมะเร็งสำหรับสตรีที่มีประวัติโรคมะเร็งในครอบครัว
4.การป้องกันมะเร็งช่องปาก ด้วยการคัดกรองรอยโรคระยะก่อนมะเร็งโดยทันตบุคลากรในชุมชนร่วมกับการรักษาที่เหมาะสม
5.การเพิ่มสิทธิประโยชน์การตรวจ PET/CT Scan สำหรับมะเร็งปอดและมะเร็งต่อมน้ำเหลือง
6.การผ่าตัดแบบวันเดียวกลับสำหรับมะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งปอด มะเร็งไต มะเร็งตับอ่อนและมะเร็งท่อน้ำดี
7.การให้เคมีบำบัดที่บ้าน สำหรับผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่
8.การใช้กัญชาทางการแพทย์ในการบรรเทาอาการข้างเคียง สำหรับผู้ป่วยมะเร็งที่รับเคมีบำบัด และผู้ป่วยมะเร็งที่รับการรักษาแบบประคับประคอง ช่วยให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
นอกจากนี้ ยังเดินหน้านโยบาย “มะเร็งรักษาทุกที่” (Cancer Anywhere) พร้อมกับพัฒนาศักยภาพโรงพยาบาลในการให้บริการบำบัดรักษาโรคมะเร็ง เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถเลือกสถานที่รักษาได้มากกว่า 190 แห่งทั่วประเทศ โดยไม่ต้องใช้ใบส่งตัว ช่วยลดขั้นตอนให้ได้รับการรักษาอย่างรวดเร็วในสถานพยาบาลใกล้บ้าน เพิ่มโอกาสการรอดชีวิต
ทั้งนี้ สิ่งสำคัญไม่ใช่เพียงการเพิ่มศักยภาพในการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็ง แต่ต้องสื่อสารให้ความรู้แก่ประชาชน ในการป้องกันตัวเองให้ห่างไกลจากโรคมะเร็งด้วย