Mekha News (มีค่านิวส์) : เว็บไซต์ข่าว ที่จะนำเสนอข่าวสารเพื่อรักษาสิทธิให้กับคุณ

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คิดค้น “วัคซีนรักษามะเร็งเฉพาะบุคคล” ทดสอบในอาสาสมัครพบภูมิขึ้น มีผลข้างเคียงน้อย เตรียมทดสอบทางคลินิกในผู้ป่วยมะเร็งปี 2566

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดเสวนาวิชาการ Chula the Impact ครั้งที่ 7 เรื่อง “ความก้าวหน้าวัคซีนรักษามะเร็งเฉพาะรายบุคคล นวัตกรรมแห่งความหวังของสังคมไทย” เพื่อนำเสนอความคืบหน้าล่าสุดของนวัตกรรมการรักษาโรคมะเร็งด้วยวัคซีน โดยศูนย์ความเป็นเลิศด้านภูมิคุ้มกันบำบัดมะเร็ง คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย 

ทีมวิจัยได้ทดสอบวัคซีนรักษามะเร็งเฉพาะบุคคลกับอาสาสมัครผู้ป่วยมะเร็งจำนวน 4 ราย แบ่งเป็น

1.ผู้ป่วยมะเร็งผิวหนัง ชนิดเมลาโนมา (melanoma) 3 ราย

2.ผู้ป่วยมะเร็งไต 1 ราย

พบว่า การฉีดวัคซีนมีความปลอดภัย พบผลข้างเคียงน้อย เช่น มีอาการปวดตรงจุดที่ฉีดวัคซีน ไม่พบผลข้างเคียงรุนแรง และหลังจากการฉีดวัคซีน 3 สัปดาห์ พบว่า การตอบสนองทางภูมิคุ้มกันในผู้ป่วยทั้ง 4 ราย ดีขึ้นอย่างชัดเจน และเป็นการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันที่มีความจำเพาะต่อชิ้นส่วนการกลายพันธุ์ของผู้ป่วยมะเร็งรายนั้น

นอกจากนี้ ทีมวิจัยได้ตรวจติดตามการตอบสนองทางพยาธิวิทยาในผู้ป่วย 1 ราย โดยประเมินการกระจายตัวของเม็ดเลือดขาวชนิดทีเซลล์ในชิ้นเนื้อมะเร็ง (T-cell tumor infiltration) พบว่ามีการเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจน โดยก่อนฉีดวัคซีน ตรวจพบเซลล์เม็ดเลือดขาว (แสดงด้วยจุดสีเหลือง) อยู่บริเวณรอบนอกก้อนมะเร็งเป็นหลัก

หลังได้รับวัคซีน พบว่า เม็ดเลือดขาวมีการเปลี่ยนแปลง ตอบสนองในทางบวก มีการกระจายตัวเข้าไปในชิ้นเนื้อมะเร็งมากขึ้น โดยปัจจุบันผู้ป่วยรายนี้อาการคงที่หลังได้รับการรักษาด้วยวัคซีนมะเร็ง และตรวจติดตามเป็นเวลา 9 เดือน

อ.นพ.ไตรรักษ์ พิสิษฐ์กุล หัวหน้าศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาเชิงระบบ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เผยถึงโครงการพัฒนาวัคซีนรักษามะเร็งเฉพาะบุคคลว่า ทีมวิจัยได้พัฒนาวัคซีนรักษามะเร็งเฉพาะบุคคล มาตั้งแต่ปี 2560 จนถึงขั้นตอนทดสอบทางคลินิก ระยะที่ 1 ให้กับอาสาสมัครตั้งแต่เดือนมกราคม 2564 นับเป็นการทดสอบทางคลินิกครั้งแรกในประเทศไทย และในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

การผลิตวัคซีนเฉพาะบุคคลนี้ ต้องใช้ข้อมูลการกลายพันธุ์ที่ตรวจพบในผู้ป่วยรายนั้น เพื่อกระตุ้นให้เกิดการสร้างภูมิคุ้มกันที่จำเพาะต่อการกลายพันธุ์ของมะเร็ง เนื่องจากมะเร็งของผู้ป่วยแต่ละคนมีการกลายพันธุ์ส่วนใหญ่ที่ต่างกัน การผลิตวัคซีนจึงต้องทำทีละ 1 ราย เพื่อสร้างให้เกิดการกระตุ้นภูมิคุ้มกันที่จำเพาะและมีประสิทธิภาพไว้ต่อสู้กับโรคมะเร็ง

ในการให้วัคซีนรักษามะเร็งเฉพาะบุคคล เริ่มต้นด้วย

1.การนำชิ้นเนื้อมะเร็งจากผู้ป่วยมาถอดรหัสพันธุกรรม เพื่อตรวจหาการกลายพันธุ์ที่พบในชิ้นเนื้อมะเร็งเท่านั้น ซึ่งไม่พบในเซลล์ปกติของร่างกาย

2.นำข้อมูลการกลายพันธุ์มาผลิตเป็นชิ้นส่วนของโปรตีนของมะเร็งที่กลายพันธุ์ขนาดเล็ก ที่มีเพียงข้อมูลการกลายพันธุ์แต่ไม่สามารถก่อโรคได้ โดยไม่มีการฉีดเซลล์มะเร็งเข้าในร่างกายแต่อย่างใด

3.หลังฉีดวัคซีน เม็ดเลือดขาวชนิด antigen presenting cells จะกินชิ้นส่วนโปรตีนกลายพันธุ์ที่ผลิตไว้ และกระตุ้นเม็ดเลือดขาวชนิดทีเซลล์ให้รู้จักการกลายพันธุ์ของมะเร็งมากขึ้นอย่างจำเพาะ

ดังนั้น วัคซีนนี้จึงเป็น “วัคซีนรักษามะเร็ง” โดยนำข้อมูลจากชิ้นเนื้อมะเร็งมาผลิตวัคซีน “ไม่ใช่วัคซีนป้องกันมะเร็ง” และในต่างประเทศ เช่น ที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด มีการศึกษาพบว่า การใช้วัคซีนรักษามะเร็งเฉพาะบุคคล ร่วมกับการให้ยาแอนติบอดี ที่ช่วยเสริมการทำงานของภูมิคุ้มกัน สามารถเพิ่มประสิทธิภาพการรักษาให้สูงขึ้นได้

เป้าหมายอีก 4 ปีข้างหน้า ทีมวิจัยจะเดินหน้าเข้าสู่การทดสอบทางคลินิกระยะถัดไป คือ เริ่มเปิดให้บริการในโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย เมื่องานวิจัยสามารถพิสูจน์ถึงประสิทธิภาพและความปลอดภัย จะดำเนินการขึ้นทะเบียน และในขณะเดียวกัน ศูนย์ความเป็นเลิศด้านภูมิคุ้มกันบำบัดมะเร็ง ได้ทำการวิจัยและพัฒนายาแอนติบอดีรักษามะเร็ง (ยาภูมิต้านมะเร็ง) คู่ขนานกันไป

ปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนการผลิตในโรงงาน โดยจะเริ่มการทดสอบในสัตว์ทดสองในปี 2565 นี้ และมีเริ่มการทดสอบทางคลินิกในผู้ป่วยมะเร็งในปี 2566 ในต่อไป ซึ่งหากการพัฒนาวัคซีนรักษามะเร็งเฉพาะบุคคล และยาแอนติบอดีประสบผลสำเร็จ จะสามารถใช้การรักษาทั้ง 2 วิธีควบคู่กัน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษามะเร็งให้ดีขึ้น

ผู้ที่สนใจสามารถรับชมคลิปวิดีโอย้อนหลังได้ที่ https://www.facebook.com/MDCU.chulalongkornuniversity/videos/322279539836943

ที่มา : คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย https://www.facebook.com/MDCU.chulalongkornuniversity

Exit mobile version