Mekha News (มีค่านิวส์) : เว็บไซต์ข่าว ที่จะนำเสนอข่าวสารเพื่อรักษาสิทธิให้กับคุณ

ปะยางเคลื่อนที่ เดลิเวอรี่ 24 ชั่วโมง สร้างรายได้ยุคโควิด ลงทุนแค่หลักร้อย แต่ได้กลับมาหลักพัน!

การตรวจสอบสภาพยางรถจักรยานยนต์ รถยนต์ อย่างสม่ำเสมอเป็นเรื่องที่เราควรให้ความสำคัญ เพราะแม้ว่าเราจะขับขี่อย่างระมัดระวัง แต่อุบัติเหตุเกิดขึ้นได้ตลอดเวลาแบบที่บางครั้งเราก็คาดไม่ถึง เช่น ยางรั่ว หรือ ยางแตก ทำให้เราเสียเวลาในการหาร้านซ่อมแซม ซึ่งปัจจุบันก็มีร้านซ่อมรถ อู่ซ่อมรถ เปิดให้บริการจำนวนมาก แต่ส่วนใหญ่จะมีข้อจำกัดเกี่ยวกับเวลาเปิดปิดร้าน

ดังนั้น อาชีพรับปะยางเคลื่อนที่ จึงเริ่มได้รับความนิยม เนื่องจากไม่ต้องเสียเวลาเดินทางมาที่ร้าน และถ้าหากบางคนทำแบบเดลิเวอรี่ 24 ชั่วโมงด้วยแล้วนั้น ย่อมได้รับการตอบรับจากลูกค้าเป็นอย่างดี เพราะสามารถเรียกใช้บริการได้ตลอด แต่ก็ต้องยอมรับว่า ไม่ใช่ทุกราย ที่จะทำอาชีพนี้ได้ตลอดรอดฝั่ง หากไม่มีสิ่งสำคัญ คือ มีใจรักในงานบริการ และความเอาใจใส่ลูกค้า

ขอบคุณภาพประกอบ รายการเรื่องพลบค่ำ สำนักข่าวไทย >>  https://www.youtube.com/watch?v=DdprzaCM8FQ
ขอบคุณภาพประกอบ รายการเรื่องพลบค่ำ สำนักข่าวไทย >>  https://www.youtube.com/watch?v=DdprzaCM8FQ

มีค่า นิวส์ มีโอกาสคุยกับคุณกนก แซ่ยี่ หรือ คุณเอก หนุ่มเมืองหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา อดีตวินจักรยานยนต์รับจ้าง ที่เริ่มต้นรับปะยางเคลื่อนที่เดลิเวอรี่ 24 ชั่วโมง จากช่วงที่เขาขี่รถจักรยานยนต์รับจ้างตี 3 ตี 4 แล้วรถเกิดยางรั่ว ตระเวนหาร้านซ่อมยากมาก จึงซื้ออุปกรณ์มาปะยางรถตัวเอง ต่อมาเมื่อเพื่อนรู้ว่าคุณเอกปะยางได้ จึงโทรเรียกใช้บริการ

ซึ่งคุณเอกก็ไม่คิดค่าบริการ ทำให้เพื่อนประทับใจมาก บอกต่อปากต่อปาก จนมีลูกค้าเป็นคนแปลกหน้าโทรเรียกใช้บริการ แต่ตอนนั้นคุณเอก ยังไม่มีความรู้ด้านการปะยางที่ถูกต้อง จึงยังไม่กล้ารับลูกค้า แต่ก็เหมือนเป็นจังหวะที่ดีของชีวิต ที่โชคดีได้เพื่อนที่เคยทำอาชีพขับรถสิบล้อ และเถ้าแก่เปิดร้านรับปะยางสิบล้อ ช่วยสอนทักษะการปะยาง เปลี่ยนยางให้ฟรี

ขอบคุณภาพประกอบ รายการเรื่องพลบค่ำ สำนักข่าวไทย >>  https://www.youtube.com/watch?v=DdprzaCM8FQ

คุณเอก จึงตั้งใจฝึกฝนอยู่นานเกือบ 1 เดือนจนชำนาญ มองเห็นหนทางหารายได้เสริม นอกเหนือจากอาชีพหลัก คือ ขี่รถจักรยานยนต์รับจ้าง จึงใช้เงินลงทุนจากการหยอดกระปุกออมสิน ทยอยลงทุนซื้ออุปกรณ์ ครั้งละหลักสิบ จนถึงหลักพันบาท แล้วแต่ว่าจะสามารถเก็บเงินได้มากน้อยแค่ไหน ประกอบด้วย  

1.ปะแจ (ราคาตั้งแต่หลักสิบ ถึงหลักร้อย)

2.แผ่นปะยาง (ราคาตั้งแต่หลักสิบ ถึงหลักร้อย)

3.กาวปะยาง (ราคาตั้งแต่หลักสิบ ถึงหลักร้อย)

4.ยางใน (ราคาหลักร้อย)

5.ยางนอก (ราคาตั้งแต่หลักร้อย ถึงหลักพัน)

ขอบคุณภาพประกอบ รายการเรื่องพลบค่ำ สำนักข่าวไทย >>  https://www.youtube.com/watch?v=DdprzaCM8FQ
ขอบคุณภาพประกอบ รายการเรื่องพลบค่ำ สำนักข่าวไทย >>  https://www.youtube.com/watch?v=DdprzaCM8FQ

ช่วงแรก คุณเอก บอกว่า รับเพียงแค่การปะยางราคา 50 บาท และ เปลี่ยนยางราคาตั้งแต่ 140-160 บาท เท่านั้น เพราะยังมีลูกค้าไม่มาก ก่อนจะลองทำป้ายไวนิล ติดหลังกล่องโฟมใส่อุปกรณ์ซ่อมรถ ระบุข้อความว่า “ปะยาง มอไซค์เคลื่อนที่” ออกตะเวนขี่รถจักรยานยนต์รับจ้าง พร้อม ๆ กับหาลูกค้าไปด้วย  

นอกจากนี้ คุณเอกยังนำป้ายอีกจำนวนหนึ่งไปติดไว้ตามเสาไฟฟ้าในอำเภอหาดใหญ่ เพื่อหวังให้ลูกค้าได้เห็น เมื่อเกิดปัญหายางรั่ว ยางแตก จะได้นึกถึงธุรกิจปะยางเคลื่อนที่ของเขา ซึ่งคุณเอก บอกว่า กว่าลูกค้าจะโทรเรียกใช้บริการก็รอนาน 3 เดือน บางครั้งครึ่งปี ซึ่งคุณเอกก็ไม่คิดย่อท้อ เพราะมองว่าเป็นธรรมดาของการทำธุรกิจ ที่ในช่วงเริ่มต้น จะยังไม่ค่อยมีลูกค้ามากนัก

ขอบคุณภาพประกอบ Matichon Online https://www.youtube.com/watch?v=gxv17b07goc

คุณเอก เล่าเพิ่มเติมว่า เขาใช้รถจักรยานยนต์คันเดิม พร้อมนำอุปกรณ์ปะยาง ใส่ถุงเล็ก ๆ ตระเวนปะยางให้ลูกค้าไปเรื่อย ๆ ถ้านับจนถึงทุกวันนี้ ก็เป็นเวลากว่า 10 ปี แล้ว โดยช่วงที่โควิด-19 แพร่ระบาดเมื่อปี 2562 คุณเอก ตัดสินใจเลิกขี่รถจักรยานยนต์รับจ้าง หันมารับปะยาง เปลี่ยนยางเป็นอาชีพหลัก ถ้ามีลูกค้าเรียกก็ไปได้ 24 ชั่วโมง

รวมถึงยังได้รับความอนุเคราะห์จากเพื่อนที่เคยทำอาชีพขับรถสิบล้อ และเถ้าแก่เปิดร้านรับปะยางสิบล้อ ที่เคยสอนวิชาการปะยางให้ ช่วยสอนทักษะซ่อมรถให้เพิ่มเติม เช่น ปัญหารถสตาร์ทไม่ติด แบตเตอรี่หมด เป็นต้น ก่อนจะเปิดรับปะยางเปลี่ยนยาง ซ่อมรถยนต์ รถสิบล้อ เพื่อหารายได้เพิ่มจากเดิมที่แค่ปะยางรถจักรยานยนต์เพียงอย่างเดียว

ขอบคุณภาพประกอบ รายการเรื่องพลบค่ำ สำนักข่าวไทย >>  https://www.youtube.com/watch?v=DdprzaCM8FQ

ปัจจุบันคุณเอก มีรายได้หลักพันบาทต่อวัน โดยมีลูกค้าเรียกใช้บริการอย่างน้อยวันละ 8-9 คน ทั้งในเมืองหาดใหญ่และรอบนอก ซึ่งพื้นที่ไกลสุด คือ พื้นที่ อ.เมืองสงขลา ส่วนจุดเด่นที่ยังทำให้ลูกค้าเรียกใช้บริการต่อเนื่อง คุณเอกคิดว่า เป็นเพราะความซื่อสัตย์ต่อลูกค้า มีความอ่อนน้อมถ่อมตน รู้จักควบคุมอารมณ์ไม่ให้แสดงกิริยาที่ไม่เหมาะสมใส่ลูกค้า ยิ้มแย้มให้เกียรติลูกค้า

ผมไม่เคยคิดว่าจะต้องได้เงินเยอะเป็นหมื่น ๆ ได้เท่าไหร่ก็เท่านั้น ไม่คิดค่าบริการ จะคิดเฉพาะค่าอุปกรณ์ และเวลาไปซ่อมรถเสร็จ ผมก็จะไหว้ขอบคุณลูกค้าด้วยกิริยาที่อ้อนน้อมยิ้มแย้มทุกครั้ง ถ้าลูกค้ามีข้อแนะนำติชม ผมก็ยินดีรับฟัง พร้อมนำมาปรับปรุงการบริการให้ดีขึ้น

คุณเอก ยังบอกอีกว่า แม้ว่าลูกค้าจะชื่นชอบ และเรียกใช้บริการปะยางเคลื่อนที่เดลิเวอรี่ 24 ชั่วโมงของเขาต่อเนื่อง แต่สิ่งที่ยังต้องเพิ่มเติมในการทำธุรกิจช่วงโควิด-19 เพื่อให้ธุรกิจดำเนินต่อไปได้ มี 2 ข้อ คือ  

1.เพิ่มมาตรการป้องกันโควิด-19 เช่น  

– เว้นระยะห่างจากลูกค้า สวมหน้ากากอนามัย ขณะปฏิบัติงาน

– เพิ่มเติมช่องทางการจ่ายเงิน จากการรับเงินสดช่องทางเดียว ก็เพิ่มช่องทางการโอนเงินเข้าบัญชีด้วย

2.รักษามาตรฐานการให้บริการลูกค้าให้ดีที่สุด

ในอนาคตคุณเอก กำลังเก็บเงินเพื่อที่จะซื้อรถสามล้อพ่วงข้าง เพื่อบรรทุกอุปกรณ์ซ่อมรถที่เสียให้หลากหลายมากขึ้น และสำหรับคนที่อยากลงทุนปะยางเคลื่อนที่เดลิเวอรี่ 24 ชั่วโมง คุณเอก แนะนำว่า ควรเริ่มต้นทีละเล็กทีละน้อยตามกำลังทรัพย์ของตัวเอง ไม่ควรกู้หนี้ยืมสิน

คุณเอก ยังฝากแง่คิดการทำธุรกิจทิ้งท้ายว่า “การเป็นหนี้ จะทำให้เครียด เป็นทุกข์ หนทางที่จะประสบความสำเร็จเป็นไปได้ยากกว่าการค่อย ๆ ก้าวไปทีละก้าว สิ่งสำคัญ คือ ควรใช้จ่ายอย่างระมัดระวัง ใช้เท่าที่จำเป็นจริง ๆ ไม่ฟุ่มเฟือย ใช้เท่าที่มี รู้จักเก็บออม ภูมิใจในสิ่งที่มี ใช้ความอดทนเอาชนะอุปสรรคไปให้ได้” 

ขอบคุณภาพประกอบ Matichon Online https://www.youtube.com/watch?v=gxv17b07goc

มีค่า นิวส์ รู้สึกดีใจที่ได้คุยกับคุณเอก และชื่นชอบในแง่คิดดี ๆ ของคุณเอก ทำให้ได้ข้อคิดหนึ่งว่า แม้ทำมาหากินลำบาก แต่ถ้าเราไม่ย่อท้อต่ออุปสรรค และพยายามหาวิธีสร้างงาน สร้างเงินที่แตกต่าง ความสำเร็จที่ฝันไว้ ก็จะต้องเป็นจริงในสักวัน คุณว่าจริงไหมคะ หากใครที่อยู่ในอำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา สนใจอยากใช้บริการคุณเอก โทรไปได้ที่  082-306-6279 นะคะ

ขอบคุณภาพประกอบ :

รายการเรื่องพลบค่ำ สำนักข่าวไทย >>  https://www.youtube.com/watch?v=DdprzaCM8FQ

Matichon Online https://www.youtube.com/watch?v=gxv17b07goc

Exit mobile version