Mekha News (มีค่านิวส์) : เว็บไซต์ข่าว ที่จะนำเสนอข่าวสารเพื่อรักษาสิทธิให้กับคุณ

รายงานพิเศษ : รู้จักแคมเปญ “Visit Thailand Year 2022 : Amazing New Chapters” พลิกโฉม! ท่องเที่ยวไทย 2565

หลังจากประเทศไทย ต้องเผชิญกับวิกฤตสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอก 3 มานาน กระทั่งเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 ที่ผ่านมา พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ประกาศเริ่มนโยบาย “พลิกโฉมประเทศไทย” ต้อนรับชาวต่างชาติและชาวไทยเดินทางเข้าประเทศ โดยไม่ต้องกักตัว พร้อมวางแนวทางการทำงานใหม่ ๆ ก้าวเข้าสู่ชีวิตวิถีใหม่ในทุกมิติ เพื่อสร้างรายได้ ฟื้นฟูเศรษฐกิจให้เดินหน้าต่อไป

สำหรับภาคการท่องเที่ยวไทย ก็ได้รับอานิสงส์จากนโยบาย “เปิดประเทศ” นี้ด้วย จากการเริ่มต้นเปิดพื้นที่ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ นำร่องรับนักท่องเที่ยว ดังนั้น เมื่อก้าวเข้าสู่ศักราชใหม่ ปี 2565 การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย หรือ ททท. จึงเดินหน้า “ปีท่องเที่ยวไทย 2565” และ “Visit Thailand Year 2022 : Amazing New Chapters” เพื่อส่งสัญญาณให้เกิดการท่องเที่ยวอย่างเต็มรูปแบบ โดยยกโมเดล “DASH” ฟื้นการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจในภาพรวม

มีค่า นิวส์ จึงขอสรุปรายละเอียดของแคมเปญดังกล่าวมาฝากทุกคน โดยอ้างอิงข้อมูลจากงานแถลงข่าวของการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2565 ที่ผ่านมา ซึ่งนายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ระบุว่า แคมเปญ Visit Thailand Year 2022 : Amazing New Chapters หรือ ปีท่องเที่ยวไทย ปี 2565 เริ่มต้นมาจาก ททท.นำเสนอต่อที่ประชุม ศบศ.ครั้งที่ 4/2564 เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2564

จากนั้นที่ประชุม ครม.ได้มีมติเห็นชอบในหลักการแล้ว ททท.จึงเปิดตัวแคมเปญครั้งแรก เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 ในงาน World Travel Mart 2021 ณ กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร โดยตั้งเป้าให้เกิด Greatest Change ด้วย Soft Power of Thailand ตามแนวทาง 5F : 4M คือ Food,  Film, Fashion,  Festival, Fight, Music,  Museum, Master, Meta เพื่อเพิ่มสัดส่วนนักท่องเที่ยวคุณภาพ และสร้างประสบการณ์ที่แตกต่าง เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มและส่งเสริมการท่องเที่ยว

ผู้ว่าการ ททท.อธิบายเพิ่มเติมว่า นอกจากแนวทาง 5F : 4M ททท. ยังใช้หลัก Inclusive Tourism เจาะกลุ่มเป้าหมายคุณภาพและนักท่องเที่ยวที่มีกำลังซื้อสูง เต็มใจจ่าย เพื่อตอบสนองคุณค่าของประสบการณ์ แสดงออกซึ่งความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม 4-2-2 ประกอบด้วย  

1. 4 Personas (ประชากรโลกผู้ที่มีความมั่งคั่งสูง  ผู้เกษียณอายุจากต่างประเทศ ผู้ต้องการทำงานจากประเทศไทย และผู้ที่มีทักษะเชี่ยวชาญพิเศษ)

2. 2 Demographic (Millennials และ Active Senior)

3. 2 Behavior (Medical & Wellness และ Responsible Tourism)

ทั้งนี้ ได้วางโมเดล “DASH” เป็นแนวทางการดำเนินงานเพื่อพลิกโฉมการท่องเที่ยวไทย โดยระดมการทำงานของ ททท. มุ่งสู่การพลิกโฉมทั้งระบบ โดยมีขั้นตอนการดำเนินงานที่สำคัญ ดังนี้

1.D – Domestic Travel  เป็นการให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศ ทั้งนักท่องเที่ยวและผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว

 2.A – Accelerate Demand กระตุ้นอุปสงค์เชิงคุณภาพ สร้างความเชื่อมั่นและภาพลักษณ์ที่ดีบนพื้นฐานของความปลอดภัย มุ่งเน้นนักท่องเที่ยวคุณภาพและกลุ่มรายได้สูง และส่งมอบประสบการณ์ที่แตกต่าง มีคุณค่า อย่างประทับใจ 

3.S – Shape Supply ยกระดับระบบนิเวศท่องเที่ยวสู่ความมีคุณภาพและความยั่งยืน บนพื้นฐานของการท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบ และ Digital Tourism ให้ทุกฝ่ายได้รับประโยชน์ร่วมกัน มีการกระจายรายได้สู่แต่ละภาคส่วนอย่างยั่งยืน

4.H – Healing Thai Economy ฟื้นประเทศด้วยการท่องเที่ยว เยียวยาเศรษฐกิจ ด้วยการเปิดประเทศเพื่อให้อุตสาหกรรมท่องเที่ยว “ลุกเร็ว ก้าวไว” เติบโตอย่างเข้มแข็ง

นายยุทธศักดิ์ ผู้ว่าการ ททท. ย้ำว่า โมเดล “DASH” ดังกล่าว จะส่งผลให้แคมเปญ Visit Thailand Year 2022 : Amazing New Chapters เป็นปีที่มีการเปลี่ยนแปลงที่นำไปสู่ความยั่งยืน ส่งมอบความสุข ความปลอดภัย บนพื้นฐานความเป็นไทยที่สร้างประสบการณ์ที่แตกต่าง ด้วยความร่วมมือกันของทุกภาคส่วนในการฟื้นประเทศไทยด้วยการท่องเที่ยวเชิงคุณภาพ

ขณะเดียวกัน ททท.ยังวางสัดส่วนรายได้จากการท่องเที่ยวที่ให้ความสำคัญกับตลาดในประเทศมากขึ้น และเน้นตลาดคุณภาพจากต่างประเทศ โดยตลาดระยะไกล ได้ดำเนินโครงการ Amazing Thailand Workplace Paradise  คือ การดึงกลุ่ม Remote Workers มายังประเทศไทย ซึ่งกลุ่มดังกล่าวเกิดขึ้นจากการระบาดของโควิด-19 ที่ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงทั้งรูปแบบการเดินทางและรูปแบบการทำงาน สร้างให้ประเทศไทยเป็นที่ 1 Remote Workers Friendly Destination ของโลก

ด้านตลาดระยะใกล้ ได้ใช้โอกาสที่ดีในการที่รัฐบาลเปิดการท่องเที่ยวแบบ Test & Go อีกครั้ง โดยได้วางแนวคิด New Chapters, New Opportunity ในกลยุทธ์ 5 New ได้แก่

1.New Segment คือ กลุ่ม Bleisure (business & leisure), นักเรียน/นักศึกษา, Digital Nomad, Boy lovers, Soft Adventure เป็นต้น

2.New Area แสวงหากลุ่มนักท่องเที่ยวคุณภาพในพื้นที่ศักยภาพใหม่ ๆ เช่น มองโกเลีย เกาหลี (ปูซาน) และพื้นที่ในตลาดเดิม

3.New Partner สร้างพันธมิตรในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวใหม่ๆ เพิ่มเติม              

4.New Infrastructure ใช้เส้นทางการคมนาคมใหม่ ๆ ให้เกิดการกระจายนักท่องเที่ยว โดยเฉพาะเส้นทางรถไฟความเร็วสูงเชื่อมต่อ คุนหมิง สาธารณรัฐประชาชนจีน –  สปป.ลาว ที่สามารถเชื่อมโยงการเดินทางมายังจังหวัดหนองคายได้

5.New Way คือ กลุ่มนักท่องเที่ยวรุ่นใหม่ (Millennials) ที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม  

ส่วนตลาดในประเทศ ผู้ว่าการ ททท. อธิบายว่า ได้มุ่งเน้นการสร้างประสบการณ์ เพื่อตอบโจทย์ความคาดหวังของนักท่องเที่ยวด้วยการพลิกโฉมการท่องเที่ยวของไทยในอนาคตให้เป็นไปอย่างมีคุณภาพ และยั่งยืน ภายใต้ แคมเปญในประเทศ คือ เที่ยวเมืองไทย Amazing ยิ่งกว่าเดิม เป็นการนำเสนอความพิเศษในการท่องเที่ยวผ่านเมนูประสบการณ์ที่มีคุณค่าเหนือราคา ภายใต้แนวคิด 3 Ex ได้แก่

1.Experience

2.Expectation

3.Extraordinary

สินค้าและบริการทางการท่องเที่ยว 3 ประเภท ได้แก่

1.Nature to Keep

2.Food to Explore

3.Thainess to Discover

กำหนดธีมสีและธีมนำเสนอ เพื่อเป็นแรงบันดาลใจในการเดินทางท่องเที่ยวของแต่ละภูมิภาค ดังนี้ 

1.ภาคเหนือ : เสน่ห์วันวานเมืองเหนือ – North Nostalgia สี Navy

2.ภาคกลาง : Trendy C2 ภาคกลาง (Create new Experience และ Charming of Central)  – Chic Central สี Crimson

3.ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ : หลงรักแผ่นดินถิ่นอีสาน – Isan in Love สี Ivory

4.ภาคใต้ : หรอยแรงแหล่งใต้ – Savory South สี Silver

5.ภาคตะวันออก : สบ๊าย สบายภาคตะวันออก – East at Ease สี Emerald 

ส่วนสินค้าทางการท่องเที่ยว ททท.ก็ได้ปรับใหม่เช่นกัน โดยเน้นการสร้างประสบการณ์ใหม่ ๆ ที่ตอบโจทย์กลุ่ม Workation & Staycation Wellness Sport และการมีส่วนร่วมในการรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม (Low Carbon) ทั้งตลาดในประเทศและตลาดต่างประเทศ ด้วยการออกแบบเส้นทางท่องเที่ยวที่เจาะกลุ่มและหลากหลาย รวมทั้งการอัปเดตกิจกรรมทางการท่องเที่ยวที่อยู่ในกระแสนิยม เพื่อให้ทันต่อพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เช่น

1.การท่องเที่ยงเชิงดาราศาสตร์ 

2.กิจกรรมท่องเที่ยวทางน้ำ

3.เส้นทางท่องเที่ยวแบบ Happy Model  โดยที่ยังคงส่วนผสมของการท่องเที่ยวชุมชน เพื่อกระจายรายได้อย่างทั่วถึง 

นอกจากนี้ ททท. ยังคงให้ความสำคัญกับทางท่องเที่ยวเชิงอาหาร Soft Power ที่แข็งแกร่งของประเทศไทย โดยสร้างประสบการณ์อาหารในมุมของอาหารปลอดภัย ตอบสนองคนรุ่นใหม่ ที่ใส่ใจสุขภาพมากขึ้น (Organic Lifestyle) เป็นการเผยแพร่ Best Practice Model ให้กระจายในวงกว้าง รองรับการปรับเปลี่ยนโครงสร้างการท่องเที่ยวของประเทศไทยให้เกิดความยั่งยืนและสามารถสร้างมูลค่าและคุณค่าให้กับอาหารได้อย่างชัดเจน

อย่างไรก็ตาม ในการสื่อสาร เพื่อกระตุ้นการเดินทางท่องเที่ยวในภาพรวมใช้แคมเปญ “เที่ยวเมืองไทย Amazing ยิ่งกว่าเดิม” สำหรับตลาดในประเทศ โดยสร้างประสบการณ์การท่องเที่ยวด้วยมุมมองที่แตกต่างด้วยวิธีการท่องเที่ยวแบบ “ยิ่งไป ยิ่งให้ ยิ่งสุขใจกว่าที่เคย” ส่วนตลาดต่างประเทศใช้แคมเปญ “Amazing New Chapters” เพื่อพลิกโฉมประเทศไทยนำเสนอคุณค่าการท่องเที่ยวของประเทศไทยมุมมองใหม่ มีความโดดเด่นและแตกต่างจากประเทศคู่แข่ง

ซึ่งแคมเปญ “Amazing New Chapters” จะเป็นจุดที่สร้างความประทับใจให้กับนักท่องเที่ยวได้เป็นอย่างดี (Thai Cultural Values) รวมทั้งการท่องเที่ยวที่รับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม ยกระดับภาพลักษณ์สู่การเป็น World Class Destination โดยสร้างการรับรู้ภายใต้แบรนด์ Amazing Thailand ซึ่งเป็นแบรนด์ทางการท่องเที่ยวของประเทศไทยที่เป็นที่รู้จักในระดับโลกมาอย่างยาวนาน ภายใต้แนวคิด From A to Z Amazing Thailand Has it All ให้นักท่องเที่ยวได้เข้ามาค้นหาและสัมผัสประสบการณ์ใหม่ ๆ มากกว่าที่เคยตลอดปี 2565

ผู้ว่าการ ททท. กล่าวอีกว่า ในส่วนของการใช้นวัตกรรมและการบริหารบุคลากรว่า ททท. มีโครงการ TAT Amazing Influencer หรือ อินฟลูเอนเซอร์เสมือนจริง ที่จะนำเทคโนโลยี Virtual Character มาเป็นเครื่องมือในการสร้างประสบการณ์เฉพาะบุคคลให้มาเป็นส่วนหนึ่งของบุคลิกของอินฟลูเอนเซอร์ของ ททท. ผ่านโลก Metaverse และโครงการ TAT NFTs ที่จะก้าวสู่การนำเสนอสินค้าทางการท่องเที่ยวสู่ศิลปะดิจิทัล โดยเริ่มที่สินค้าภูมิปัญญาเฉพาะถิ่น เพื่อจำหน่าย ซึ่งเป็นการนำดิจิทัลสร้างมูลค่าและความยั่งยืน กล่าวคือ

1.Digital Industry สนับสนุนการนำเทคโนโลยีดิจิทัลปรับใช้ในธุรกิจ

2.Digital Investment ลงทุนในการพลิกโฉมสู่ยุคดิจิทัลของอุตสาหกรรมท่องเที่ยว

3.Digital Innovation ร่วมพัฒนานวัตกรรมบนพื้นฐานของเทคโนโลยีดิจิทัล

และในส่วนของการบริหารองค์กรและบุคลากรนั้น ททท. จะเสริมสร้างความรู้ด้านการตลาดและด้านดิจิทัล สร้างระบบการทำงานแบบ Hybrid Working ที่สามารถทำงานนอกสถานที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ สอดคล้องกับการส่งเสริมการท่องเที่ยวแบบ Remote Worker และ Workation โดยยังคงให้ความสำคัญกับการสร้างบุคลากรในองค์กร ตระหนักถึงการใช้ทรัพยากรอย่างรู้ค่าและคุ้มค่า ร่วมมือกับองค์กรภายนอกในหมุนเวียนทรัพยากร การจัดการทรัพยากรและขยะอย่างถูกต้องเหมาะสม เพื่อมุ่งไปสู่องค์กรสมรรถนะสูงอย่างจริงจัง

นายยุทธศักดิ์ ผู้ว่าการ ททท. ยังหวังว่าการดำเนินการทั้งหมด จะช่วยสร้างรายได้รวม 1.28 ล้านล้านบาท แบ่งเป็นตลาดในประเทศ 656,000 ล้านบาท (160 ล้านคน/ครั้ง) ตลาดต่างประเทศ 625,800 ล้านบาท (10 ล้านคน) ดันยอดรายจ่ายเฉลี่ยต่อคน 4,100 บาท สำหรับนักท่องเที่ยวในประเทศ และ 62,580 บาท สำหรับนักท่องเที่ยวต่างประเทศในปี  Visit Thailand Year 2022 : Amazing New Chapters นี้

Exit mobile version