นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยมติที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2565 เห็นชอบเพิ่มเงินอุดหนุนค่าใช้จ่ายรายบุคคลแก่นักเรียนพิการโรงเรียนเอกชน ประเภทสามัญศึกษา สังกัดสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) และโรงเรียนเอกชนประเภทอาชีวศึกษา สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ในปีงบประมาณ 2566 รวมทั้งสิ้น 118.74 ล้านบาท นอกจากนี้ ยังให้ปรับเพิ่มค่าจ้างครูและผู้ช่วยครู ในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน สำหรับนักเรียนพิการของโรงเรียนเอกชน ตามที่กระทรวงศึกษาธิการเสนอ มีค่า นิวส์ สรุปมาให้ดังนี้
- ประเภทสามัญศึกษา จำนวน 106.61 ล้านบาท แบ่งเป็น
1.1 ระดับก่อนประถมศึกษาและประถมศึกษา คิดสัดส่วนครู 1 คน ต่อนักเรียนพิการ 10 คน ทำให้ครูได้รับค่าจ้างเพิ่มขึ้น 18,060 บาท จากอัตราเดิม 7,224 บาท รวมเงินเดือนที่ครูได้รับทั้งสิ้น 25,284 บาท
1.2 ระดับมัธยมศึกษา คิดสัดส่วนครู 1 คน ต่อนักเรียนพิการ 15 คน ทำให้ครูได้รับค่าจ้างเพิ่มขึ้น 12,040 บาท จากอัตราเดิม 9,032 บาท รวมเงินเดือนที่ครูได้รับทั้งสิ้น 21,072 บาท - ประเภทอาชีวศึกษา (ระดับ ปวช.) จำนวน 12.13 ล้านบาท คิดสัดส่วนครู 1 คน ต่อนักเรียนพิการ 15 คน ทำให้ครูทั้งแบบประจำและไป-กลับ ได้รับค่าจ้างเพิ่มขึ้น 3,457 บาท จากอัตราเดิม 8,528 บาท รวมเงินเดือนที่ครูได้รับทั้งสิ้น 12,040 บาท
- ผู้ช่วยครูทุกระดับทั้งประเภทสามัญศึกษาและอาชีวศึกษา (ระดับ ปวช.) คิดสัดส่วนครู 1 คน ต่อนักเรียนพิการ 15 คน เฉลี่ยเงินเดือนที่ได้รับ 7,200 บาท (จากเดิมที่ไม่มีเงินอุดหนุนค่าจ้างผู้ช่วยครู)
นางสาวรัชดา กล่าวด้วยว่า การปรับเพิ่มอัตราเงินอุดหนุนรายบุคคล สำหรับนักเรียนพิการในโรงเรียนเอกชนในครั้งนี้ เพื่อให้การจัดการศึกษาสำหรับนักเรียนพิการในโรงเรียนเอกชน ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นการจัดการศึกษาในรูปแบบมูลนิธิและโรงเรียนเอกชนการกุศล ได้มีการพัฒนาคุณภาพการศึกษาให้ได้มาตรฐานมากยิ่งขึ้น และสามารถต่อยอดพัฒนาศักยภาพของนักเรียนพิการได้อย่างเต็มที่ เมื่อผู้พิการสำเร็จการศึกษาจะได้นำความรู้และทักษะไปประกอบอาชีพและอยู่ร่วมกับคนในสังคมได้อย่างมีความสุข
ทั้งนี้ สืบเนื่องจากอัตราเงินอุดหนุนค่าใช้จ่ายรายบุคคลที่อุดหนุนให้แก่นักเรียนพิการในโรงเรียนเอกชนต่ำกว่าเงินอุดหนุนที่นักเรียนภาครัฐได้รับ เนื่องจากการอุดหนุนในส่วนของเงินสมทบที่เป็นเงินเดือนครูโรงเรียนเอกชนยังใช้สัดส่วนครูต่อนักเรียนพิการเท่ากับโรงเรียนทั่วไป คือ
- ระดับก่อนประถมและประถมศึกษา ใช้ครู 1 คน ต่อนักเรียน 25 คน
- ระดับมัธยมศึกษาใช้ครู 1 คน ต่อนักเรียน 20 คน
ขณะที่สัดส่วนข้าราชการครูในโรงเรียนสอนคนพิการของรัฐ กำหนดสัดส่วน ดังนี้
- ความบกพร่องทางการมองเห็น การได้ยิน ทางร่างกาย ใช้ครู 1 คน ต่อนักเรียนพิการ 5 คน
- ความบกพร่องทางสติปัญญาใช้ครู 1 คน ต่อนักเรียนพิการ 4 คน
- ออทิสติก ใช้ครู 1 คน ต่อนักเรียนพิการ 3 คน
จึงส่งผลให้โรงเรียนเอกชนมีภาระด้านเงินเดือนครูสูงกว่าโรงเรียนทั่วไป ดังนั้น เพื่อเป็นการแก้ปัญหาดังกล่าว ครม.จึงมีมติเห็นชอบปรับเพิ่มเงินดังกล่าวข้างต้น