ถาม : สิทธิบัตรทองฟอกไต มีกี่วิธี แตกต่างกันยังไง ?
ตอบ : สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เดินหน้านโยบาย “เลือกฟอกไตแบบที่ใช่ ได้ทุกคน” โดยเปิดโอกาสให้ผู้ใช้สิทธิบัตรทองตัดสินใจร่วมกับแพทย์เพื่อเลือกวิธีฟอกไตที่เหมาะสมได้ ตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ. 2565 เป็นต้นมา มี 2 วิธี ดังนี้
1. การฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม (Hemodialysis หรือ HD)
– เป็นการฟอกไตที่ต้องนำเลือดออกจากเส้นเลือดผ่านตัวกรอง (dialyzer) และเครื่องฟอกเลือด
– ผู้ป่วยต้องได้รับการผ่าตัดทำเส้นเลือดสำหรับนำเลือดออกจากร่างกาย
ข้อดี
– ไม่ต้องทำเอง อาศัยพยาบาลไตเทียม ที่ต้องการผ่านการฝึกอบรมโดยเฉพาะทางให้การรักษา
– ใช้เวลาฟอกเฉลี่ย 4 ชั่วโมงต่อครั้ง / 2-3 ครั้งต่อสัปดาห์
ข้อจำกัด
– ต้องเดินทางไปโรงพยาบาล หรือคลินิกไตเทียมบ่อย
– มีค่าใช้จ่ายแฝง เช่น ค่าเดินทาง
– โรคประจำตัวรุนแรง เช่น โรคหัวใจบางชนิด อาจจะเพิ่มความเสี่ยงภาวะแทรกซ้อนระหว่างการฟอกเลือด
2. การล้างไตทางช่องท้อง (peritoneal dialysis หรือ PD)
– เป็นการฟอกไตที่อาศัยผนังในช่องท้องเป็นตัวกรองในการเอาของเสียออกจากร่างกาย
– ผู้ป่วยต้องได้รับการผ่าตัดวางสายล้างไตที่ผนังหน้าท้องก่อน
– ทำเองที่บ้าน มี 2 แบบ คือทำเอง (CAPD) หรือ ใช้เครื่องล้างไตอัตโนมัติ (APD)
ข้อดี
– ทำเองได้ที่บ้าน ไม่ต้องเดินทางมาโรงพยาบาลบ่อย ๆ
– โอกาสติดเชื้อน้อยมาก หากทำถูกต้องตามขั้นตอน
– ไม่เสี่ยงต่อความดันตกขณะพอก
ข้อจำกัด
– ต้องพกเอาน้ำยาติดตัว หากเดินทางไปต่างจังหวัด หรือ พักค้างคืนที่อื่น
– อาจติดเชื้อหากทำผิด หรือข้ามขั้นตอน หรือ มีการปนเปื้อน
ที่มา : สปสช. https://www.facebook.com/NHSO.Thailand