Mekha News (มีค่านิวส์) : เว็บไซต์ข่าว ที่จะนำเสนอข่าวสารเพื่อรักษาสิทธิให้กับคุณ

รายงานพิเศษ :  M-Flow ระบบเก็บค่าผ่านทางอัตโนมัติไร้ไม้กั้น วิ่งก่อน จ่ายทีหลัง อำนวยความสะดวกผู้ใช้ทาง

หลังจากกรมทางหลวง เปิดใช้ระบบ M-Flow หรือ ระบบจัดเก็บค่าผ่านทางอัตโนมัติแบบไม่มีไม้กั้น วิ่งก่อน จ่ายทีหลัง ตั้งแต่วันที่ 15 ก.พ. 65 ที่ผ่านมา ในด่านนำร่องบนถนนทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 9 รวม 4 ด่าน ได้แก่ ด่านธัญบุรี 1, ด่านธัญบุรี 2, ด่านทับช้าง 1, และด่านทับช้าง 2 แต่จู่ ๆ กลับกลายเป็นกระแสดราม่าขึ้นมา เมื่อมีผู้ใช้ถนนหลายคน โวยเรื่องการขับรถผ่านช่อง M-Flow แล้วถูกปรับเงินมากถึง 10 เท่า เช่น จากที่ควรต้องจ่ายเพียง 60 บาท กลับต้องเสีย 600 บาท

ทำให้หลายคนมองว่า เป็นระบบใหม่ที่เพิ่งปรับเปลี่ยน คนจำนวนมากอาจจะยังไม่รู้ และไม่เข้าใจระบบ แต่กลับโดนปรับสูงขนาดนี้ ถือว่าแพงเกินไปหรือไม่ ด้วยเหตุนี้ กระทรวงคมนาคม จึงงดเว้นค่าปรับ สำหรับผู้ที่ชำระค่าธรรมเนียมผ่านทางและถูกปรับไปก่อนหน้านี้ให้อัตโนมัติตามช่องทางที่ชำระเข้ามาภายในวันที่ 1-7 มี.ค. 65 แต่หากยังไม่ได้รับค่าปรับคืนภายในวันที่ 1-7 มี.ค. 65 ให้แจ้งข้อมูลขอคืนค่าปรับได้ที่เว็บไซต์ และแอปพลิเคชัน MFlowThai ดูวิธีที่นี่ >> https://mekhanews.com/2022/02/27/how-to-request-a-refund-from-m-flow/

พร้อมทั้งยังชะลอการเก็บเงิน ผู้ที่ไม่ได้สมัครเป็นสมาชิก M-Flow จนถึงวันที่ 31 มี.ค. 65 หลังจากนั้น ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. 65 เป็นต้นไป ผู้ใช้บริการ M-Flow ต้องชำระค่าผ่านทางภายใน 7 วัน หากเกิน 7 วัน จะต้องจ่ายค่าปรับ 10 เท่า เช่น ใช้บริการวันที่ 1 เม.ย. 65 ต้องชำระเงินภายในวันที่ 8 เม.ย. 65

นอกจากนี้ ยังเพิ่มโปรโมชันให้ผู้สมัครใช้บริการเต็มรูปแบบได้สิทธิ์วิ่งฟรี 2 เที่ยว พร้อมรับส่วนลด 20% ทุกเที่ยวที่วิ่งตลอด 3 เดือน เพิ่มอีก 100,000 สิทธิ์ สมาชิก M-Pass ใช้บริการรับส่วนลดทันที 100 บาทเช่นเดิม และผู้สมัครผ่าน Line Official Account : @mflowthai จะได้รับ E-Coupon ส่วนลดมูลค่า 60 บาทใช้ซื้อสินค้าในร้าน 7-11 ทุกสาขา 50,000 สิทธิ

เมื่ออ่านมาถึงตรงนี้ เชื่อว่าหลายคนอาจจะยังสงสัยอยู่ดีว่า M-Flow คืออะไร ใช้งานอย่างไร สมัครอย่างไร และทำอย่างไรจึงจะไม่ให้ถูกปรับเงิน 10 เท่า มีค่า นิวส์ จึงสืบค้นข้อมูล รวบรวมมาให้ทุกคนได้ทำความเข้าใจ โดย M-Flow คือ ระบบจัดเก็บค่าธรรมเนียมผ่านทางอัตโนมัติแบบไม่มีไม้กั้น (Multi-lane Free Flow) ทำงานด้วยระบบ AI ใช้เทคโนโลยีแบบ Video Tolling ตรวจจับป้ายทะเบียนรถอัตโนมัติวิ่งผ่านได้เลย ไม่ต้องต่อแถวจ่ายเงิน

ซึ่งความตั้งใจของกระทรวงคมนาคม ตั้งใจพัฒนาระบบ M-Flow เพื่อช่วยแก้ปัญหาการจราจรติดขัดบนทางด่วน เพิ่มความสะดวกสบายแก่ผู้ใช้บริการด้วยระบบวิ่งก่อนจ่ายทีหลัง หรือ Postpaid ซึ่งมีความแตกต่างจากระบบ M-pass / Easy pass ดังนี้

1. ระบบ M-Flow ไม่มีไม้กั้นที่ช่องทางเก็บเงิน ในขณะที่ ระบบ M-pass / Easy pass มีระบบไม้กั้นที่ช่องทางเก็บเงิน ต้องแตะบัตรไม้กั้นจึงจะเปิดให้ผ่านไปได้

2. ระบบ M-Flow ไม่ต้องชะลอความเร็วขับได้ตามปกติ สามารถรองรับความเร็วได้ถึง 120 กม./ชม. ระบายรถเร็วขึ้น 5 เท่า ในขณะที่ ระบบ M-pass / Easy pass ต้องชะลอความเร็ว หรือ จอดรอและถอยหลังหากไม้กั้นไม่เปิด เว้นระยะห่างระหว่างคันในระยะ 5 เมตร

3. ระบบ M-Flow ใช้เทคโนโลยี Video Tolling ระบบกล้องตรวจจับป้ายทะเบียนอัตโนมัติ ในขณะที่ ระบบ M-pass / Easy pass ใช้ Tag ติดกับตัวรถ เพื่อรับส่งสัญญาณ บางครั้งมีปัญหาไม้กั้นไม่เปิดทำให้รถติดขัด

4. ระบบ M-Flow ใช้ได้กับรถทุกประเภท ที่ได้รับอนุญาตให้วิ่งบนทางด่วน ทั้งรถยนต์ 4 ล้อ รถยนต์ 6 ล้อ และรถยนต์มากกว่า 6 ล้อขึ้นไป ในขณะที่ ระบบ M-pass / Easy pass รองรับเฉพาะรถยนต์ 4 ล้อ

5. ระบบ M-Flow มีรูปแบบและช่องทางชำระเงินที่หลากหลาย ลดใช้เงินสด ลดการสัมผัส ลดเสี่ยงโควิด-19 ในขณะที่ ระบบ M-pass / Easy pass ชำระค่าผ่านทางได้รูปแบบเดียว โดยต้องเติมเงินก่อนล่วงหน้า

สำหรับผู้ที่ใช้บริการระบบ M-Flow จะต้องลงทะเบียนเป็นสมาชิก โดยผู้ที่สามารถลงทะเบียนได้ ประกอบด้วย

1.บุคคลธรรมดา สัญชาติไทย

2.บุคคลต่างชาติ

3.นิติบุคคล

มีขั้นตอนการสมัคร ดังนี้

1.สมัครใช้บริการได้ 4 ช่องทาง

1.1  Website : https://mflowthai.com/mflow/register

1.2  Mobile Application : MFlowThai (สามารถดาวน์โหลดได้ทั้งระบบ iOS และ Andriod)

1.3 จุดบริการที่กรมทางหลวงกำหนด คือ

– กรมทางหลวง(พระราม6)

– ด่านทับช้าง 1 ขาเข้า กม.51+445

– ด่านทับช้าง 2 ขาออก กม.49+035

– สถานที่บริการทางหลวง (Service Area) บางปะกง 1 ขาออก กม. 49+300

– สถานที่บริการทางหลวง (Service Area) บางปะกง 2 ขาเข้า กม. 49+300

– สำนักงานขนส่งพื้นที่ 5 (จตุจักร) อาคาร 2 ชั้น 1

– สำนักงานขนส่งพื้นที่ 4 (หนองจอก) ชั้น 3

1.4 แอดไลน์ Line ID : @mflowthai แล้วกดเลือกช่องสมัครเป็นสมาชิก

2. เมื่อเข้าระบบแล้ว ระบบจะแสดงข้อมูลเงื่อนไข และการใช้งาน เมื่ออ่านทั้งหมดแล้ว ให้คลิกยอมรับเงื่อนไข และกด “ตกลง”

3. จากนั้นจะเข้าสู่หน้า ลงทะเบียนสมัครใช้บริการระบบ M-Flow ยืนยันตัวตนด้วยเบอร์โทรศัพท์มือถือ และเบอร์โทรศัพท์มือถือนี้ จะสามารถใช้แทนชื่อบัญชีผู้ลงทะเบียนใช้บริการ สำหรับการล็อกอินเข้าสู่ระบบข้อมูลในครั้งต่อไป

4. รอรับรหัส OTP เพื่อทำการยืนยัน

5. กรอกข้อมูลส่วนตัว, อัปโหลดรูปหน้าคู่กับบัตรประชาชน จากนั้นระบบจะทำการยืนยันรหัส passcode ซึ่งทางระบบจะส่งรหัสไปให้ทางอีเมลที่ลงทะเบียนไว้ จากนั้นกดยืนยัน

6. กรอกที่อยู่ ตามทะเบียนบ้าน และที่อยู่ปัจจุบันให้ครบถ้วน จากนั้นกด “ถัดไป”

7. กรอกข้อมูลของรถที่จะนำมาลงทะเบียน เลือกสถานะความเป็นเจ้าของรถ และประเภทป้ายทะเบียนรถ รวมถึงข้อมูลรถให้ครบถ้วน จากนั้นอัปโหลดรูปถ่ายทะเบียนรถ และลักษณะของรถ จากนั้นกด “ถัดไป”

8. เลือกรูปแบบชำระเงิน

8.1 ชำระแบบอัตโนมัติ ได้ 5 ประเภท คือ

– ชำระผ่านบัตรเดบิต

– ชำระผ่านบัตรเครดิต

– ชำระผ่านบัญชีธนาคาร

– ตัดเงินจาก M-PASS

– ตัดเงินจาก Easy Pass

8.2  ชำระด้วยตัวเอง ผ่านทางเว็บไซต์ หรือ โมบายแอปพลิเคชัน ของ M-Flow

– บัตรเครดิตหรือเดบิต ชำระผ่านทางระบบบาร์โค้ด หรือ คิวอาร์โค้ดผ่านทาง ตู้ ATM / เคาน์เตอร์ธนาคาร / เคาน์เตอร์เซอร์วิส (7-11) หรือ ชำระผ่าน Mobile Banking ได้ทุกธนาคาร

8.3 การชำระเป็นรอบบิล (ทุกวันที่ 1 และ 16 ของเดือน) แบ่งเป็น

– ชำระแบบอัตโนมัติ ได้ 3 ประเภท คือ

– ชำระผ่านบัตรเดบิต

– ชำระผ่านบัตรเครดิต

– ชำระผ่านบัญชีธนาคาร

9. เมื่อเลือกรูปแบบการชำระเงินแล้ว ให้กด “ลงทะเบียน” ระบบจะตรวจสอบ ก่อนแจ้งผลการลงทะเบียนผ่าน SMS และอีเมลภายใน 24 ชม. โดยจะสามารถใช้ระบบ M-Flow ได้หลังจากที่ได้รับการแจ้งยืนยันผลการลงทะเบียนสำเร็จแล้วเท่านั้น

ทั้งนี้ เมื่อสมัครแล้ว สามารถรับบริการเพิ่มเติมได้ทันที ประกอบด้วย

1.รับแจ้งเตือนยอดชำระ เมื่อขับผ่านช่องทาง M-Flow

– ผู้ใช้บริการจะได้รับแจ้งเตือนยอดชำระเงินทาง SMS/ Email และ Notification

– เมื่อผู้ใช้บริการขับรถผ่านช่องทาง M-Flow ค่าธรรมเนียมผ่านทางที่แสดงในระบบจะเท่ากับ 0 บาท

2.การเรียกดูประวัติรายการผ่านทาง ผู้ใช้บริการสามารถเรียกดูประวัติรายการผ่านทางของรถแต่ละคันได้ ค่าธรรมเนียมผ่านทางที่แสดงในระบบจะเท่ากับ 0 บาท

ขณะที่การใช้งานระบบ สำหรับสมาชิก ที่เลือกการชำระเงินแบบอัตโนมัติไว้ แต่พบว่าเงินในบัตรหรือในบัญชีไม่เพียงพอ ขณะครบรอบตัดบัญชี ระบบจะส่งข้อความเตือน ผ่าน sms, Mobile Application หรืออีเมล ซึ่งจะต้องรีบเติมเงินให้เพียงพอ ก่อนเวลา 12.00 น. ในวันเดียวกัน เพื่อที่ระบบจะตัดค่าใช้บริการผ่านบัตรและบัญชีธนาคารอีกครั้งโดยอัตโนมัติ แต่หากเติมเงินไม่ทันเวลา 12.00 น. ในวันเดียวกัน จะต้องทำการดาวน์โหลดใบแจ้งหนี้ เพื่อนำไปชำระเงินด้วยตัวเอง ผ่านช่องทาง Mobile Application ของธนาคารต่างๆ, ATM, เคาน์เตอร์ธนาคาร และเคาน์เตอร์เซอร์วิส

ทั้งนี้ ประเด็นสำคัญที่หลายคนสงสัย คือ หากไม่ได้ลงทะเบียนเป็นสมาชิกในระบบ M-Flow จะสามารถวิ่งผ่านช่องทางของ M-Flow ได้หรือไม่ คำตอบ คือ ได้ แต่จะต้องชำระค่าผ่านทางภายหลัง 7 วันนับจากวันที่ใช้ทาง ซึ่งถ้าเกินกำหนด จะต้องชำระค่าผ่านทางบวกกับค่าปรับ 10 เท่า

ตัวอย่างค่าปรับ กรณีที่เป็นสมาชิก M-Flow

ประเภทรถสี่ล้อ ชำระตามยอดจริง 30 บาท หากยังไม่จ่ายหลังระยะเวลา แต่ไม่เกิน 12 วัน จะต้องชำระค่าผ่านทาง เป็นค่าผ่านทาง 30 บาท + ค่าเสียหาย 2 เท่า หรือ 60 บาท รวมเป็น 90 บาท โดยทาง M-Flow จะทำการติดตามทวงถามเมื่อเลยวันที่ครบกำหนด ผ่านช่องทาง ดังนี้

1. ระบบแจ้งเตือนติดตามทวงถาม

2. ส่งหนังสือติดตามทวงถามทางไปรษณีย์

หลังจากระยะเวลา 12 วัน เป็นต้นไป จะต้องจ่ายทั้งหมดเท่ากับ ค่าผ่านทาง 30 บาท + ค่าเสียหาย 2 เท่าหรือ 60 บาท + ค่าปรับ 10 เท่า หรือ 300 บาท + ค่าปรับ 200 บาท รวมเป็นเงิน 590 บาท การติดตามทวงถาม เมื่อเลยวันที่ครบกำหนด 12 วัน ระบบจะแจ้งเตือนติดตามทวงถามค่าผ่านทาง ผ่าน SMS/E-mail/ Push Notification)

ตัวอย่างค่าปรับ กรณีที่ไม่ได้เป็นสมาชิก M-Flow

ประเภทรถสี่ล้อ ชำระตามยอดจริง 30 บาท หากยังไม่จ่าย แต่ไม่เกิน 12 วัน จะต้องชำระค่าผ่านทาง เป็น ค่าผ่านทาง 30 บาท + ค่าปรับ 300 บาท (ค่าปรับ 10 เท่า) รวมเป็น 330 บาท โดยทาง M-Flow  จะดำเนินการ

1. ส่งหนังสือติดตามทวงทางไปรษณีย์

2. รวบรวมหลักฐานพยาน และส่งข้อมูลให้ตำรวจทางหลวง (ทั้งกรณีที่ชำระแล้วและไม่ชำระ เพื่อออกใบสั่งจราจรฐานฝ่าฝืนป้ายบังคับ)

หลังจากระยะเวลา 12 วัน เป็นต้นไป จะต้องจ่ายทั้งหมดดังนี้ค่าผ่านทาง 30+300 (ค่าปรับ 10เท่า) +200 (ค่าปรับ) รวมเป็น 530 บาท บวกกับโทษปรับสูงสุดไม่เกิน 5,000 บาท รวมเป็นเงินที่ต้องชำระทั้งสิ้น 5,530 บาท (ผู้ที่ไม่เป็นสมาชิก หากหลีกเลี่ยงการชำระค่าผ่านทาง อาจจะโดนโทษปรับขั้นสูงสุดมากถึง 5,530 บาทต่อการวิ่งผ่านระบบ M-Flow แค่ครั้งเดียว)

นอกจากนี้ M Flow ยังมีระดับมาตรการที่เข้มข้น สำหรับผู้ที่ฝ่าฝืนเลยกำหนดชำระ 12 วัน เป็นต้นไป ดังนี้

1. ดำเนินการตามขั้นตอนของประมวลกฎหมาย วิธีพิจารณาความอาญา

2. บูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

3. มาตราการขึ้นบัญชีดำ

4. การเรียกให้ชำระค่าผ่านทางและค่าปรับในขั้นตอนการชำระภาษีรถยนต์ประจำปี

กรณีที่ไม่ได้เป็นสมาชิก M-Flow  ชำระค่าบริการได้ตามขั้นตอนต่อไปนี้

1. เข้าไปที่เว็บไซต์ www.mflowthai.com  หรือ Mobile Application : MFlowThai

2. เลือก “วิ่งช่องผ่านทาง M-Flow แต่ไม่ใช่สมาชิก”

3. แจ้งเลขทะเบียน เพื่อทำรายการออก E-Bill สำหรับนำไปชำระค่าบริการ

4. นำ E-Bill ไปชำระค่าบริการทางช่องทาง Mobile Application ของธนาคารต่างๆ, ATM, เคาน์เตอร์ธนาคาร และเคาน์เตอร์เซอร์วิส

5. ถ้าหากไม่สะดวกเข้าใช้งานเว็บไซต์ หรือ Mobile Application สามารถแจ้งเลขทะเบียนรถเพื่อชำระค่าบริการได้ทางเคาน์เตอร์ธนาคารและเคาน์เตอร์เซอร์วิซโดยไม่ต้องออก E-Bill ภายในระยะเวลาที่กำหนด

ส่วนข้อสงสัย เกี่ยวกับป้ายทะเบียนประเภทใดบ้าง ที่ไม่สามารถใช้งานระบบ M-Flow ได้ มีค่า นิวส์ หาข้อมูลมาให้ ดังนี้

1. รถป้ายแดง

2. รถป้ายทะเบียนดัดแปลง

3. รถโดนสวมทะเบียน

4. รถที่ป้ายทะเบียนไม่ชัดเจน, ชำรุด, มีสิ่งบดบัง

อย่างไรก็ตาม หากฝ่าฝืนนำรถที่มีลักษณะข้างต้น มาใช้งานในระบบ ระบบ M-Flow จะมีความผิดตาม พ.ร.บ. ทางหลวงมาตรา 5 (2) และมีความผิดตาม พ.ร.บ. จราจรทางบก 2522 มีโทษปรับสูงสุด 5,000 บาท โดยกรมทางหลวงและกรมการขนส่งทางบกได้ออกแบบระบบที่บูรณาการเชื่อมฐานข้อมูลร่วมกัน

ซึ่งข้อมูลภาพป้ายทะเบียนรถจากกล้องอัตโนมัติด้วยเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) ของระบบ M-Flow จะถูกนำมาตรวจสอบกับฐานข้อมูลของ กรมการขนส่งทางบก เพื่อตรวจสอบความสอดคล้องของป้ายทะเบียนและรูปพรรณสัณฐานของยานพาหนะ หากมีความไม่สอดคล้องกัน จะดำเนินการแจ้งให้ทางกรมการขนส่งทางบกและสำนักงานตำรวจแห่งชาติดำเนินการตามกฎหมาย สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ Call Center 1586 กด 1 และแชทเฟซบุ๊ก M-Flow

ที่มาข้อมูล : Facebook : M-Flow https://www.facebook.com/mflowthailand

Exit mobile version