Mekha News (มีค่านิวส์) : เว็บไซต์ข่าว ที่จะนำเสนอข่าวสารเพื่อรักษาสิทธิให้กับคุณ

รู้ความเสี่ยงก่อนเป็นโรค ชีวิตก็ออกแบบได้กับ Atgenes บริการตรวจสุขภาพด้วยเทคโนโลยีชีวภาพ

การตรวจสุขภาพ เป็นสิ่งจำเป็น ที่ยังมีหลายคนไม่ค่อยให้ความสำคัญ อาจจะด้วยความคิดที่ว่า เมื่ออาการปรากฏแล้ว จึงค่อยพบแพทย์เพื่อทำการรักษา ซึ่งบางครั้งอาการอาจจะรุนแรง ทำให้การรักษาล่าช้า โดยเฉพาะในปัจจุบันที่เริ่มมีโรคต่าง ๆ เกิดขึ้นใหม่มากมาย อย่างวิกฤติโรคระบาด COVID-19 ดังนั้น การที่เรารู้ทันโรคภัย ด้วยการหมั่นตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี หรือ การตรวจคัดกรองเมื่อมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรค จึงย่อมดีกว่า เพราะจะช่วยให้รักษาได้อย่างทันท่วงทีและมีประสิทธิภาพ

ศ.ดร.นพ.วิปร วิประกษิต ผู้ก่อตั้งบริษัท Atgenes จำกัด (แอท-ยีนส์)

มีค่า นิวส์ มีโอกาสคุยกับ ศ.ดร.นพ.วิปร วิประกษิต ศาสตราจารย์ทางกุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล และนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ ประจำปี 2564 สาขาวิทยาศาสตร์การแพทย์ ผู้มีบทบาทสำคัญในการผสานองค์ความรู้ทางการแพทย์ระดับโมเลกุล Biotech หรือ เทคโนโลยีชีวภาพ จนนำไปสู่การพัฒนางานวิจัยฐานข้อมูลพันธุกรรมของสิ่งมีชีวิต หรือ DNA Technology เพื่อใช้ตรวจวินิจฉัย ควบคุม ป้องกันโรค มานานกว่า 20 ปี

ศ.ดร.นพ.วิปร วิประกษิต ผู้ก่อตั้งบริษัท Atgenes จำกัด (แอท-ยีนส์)

ด้วยความชำนาญด้านนี้เอง ศ.ดร.นพ.วิปร อยากต่อยอดงานวิจัย เพื่อให้ประชาชนเข้าใจและเห็นความสำคัญของการตรวจวินิจฉัยโรคทางพันธุกรรม จึงก่อตั้งบริษัท Atgenes จำกัด (แอท-ยีนส์) ในปี 2557 โดยปรับรูปแบบให้เป็นการบริการที่หลากหลายกว่า 300 ชนิด (SKU) ครอบคลุมทุกบริบทของการตรวจโรคทางพันธุกรรม และเป็นผู้บุกเบิกเจ้าแรกในไทย ที่สามารถตรวจและวิเคราะห์โรคทางพันธุกรรมในประเทศไทยได้ โดยไม่ต้องส่งตัวอย่างไปวิเคราะห์ในต่างประเทศ

สำหรับบริการเบื้องต้น ที่เปิดให้บริการ เช่น

1. การตรวจหาโรคพันธุกรรมที่เกี่ยวกับภูมิคุ้มกันบกพร่อง

2. การตรวจความเสี่ยงเกิดโรคอัลไซเมอร์ 

3. การตรวจคัดกรองความเสี่ยงโรคมะเร็งชนิดต่าง ๆ

4. การตรวจหาโรคพันธุกรรมในเด็ก

5. การตรวจความเสี่ยงเกิดโรคธาลัสซีเมีย

6. การตรวจพันธุกรรมในตัวอ่อน เพื่อวิเคราะห์ความแข็งแรง ความสมบูรณ์  เป็นต้น

ศ.ดร.นพ.วิปร อธิบายเพิ่มเติมถึงความสำคัญของการนำ DNA Technology มาใช้วินิจฉัยโรค โดยระบุว่า ในอดีตแพทย์จะวินิจฉัยโรคจากอาการของผู้ป่วยเป็นหลัก บางครั้งอาการรุนแรง อาจทำให้รักษาไม่ทันและเสียชีวิตได้  ดังนั้น การตรวจหาสารพันธุกรรมเพื่อเจอโรคก่อน จึงช่วยลดความเสี่ยงในการเจ็บป่วย รวมถึงยังช่วยลดอัตราการเสียชีวิตจากโรคต่าง ๆ ได้ สำหรับแอท-ยีนส์ ใช้ข้อมูลนี้ ช่วยในการวินิจฉัยโรคให้แม่นยำมากขึ้น โดยการตรวจที่ทำให้รู้ว่าเป็นโรคอะไร หรือ แม้แต่มีความเสี่ยงจะเกิดโรคอะไรในอนาคต ธุรกิจของแอท-ยีนส์ จึงไม่ใช่การตรวจเชื้อโรค แต่เป็นการตรวจข้อมูลพันธุกรรมเพื่อการวินิจฉัย ป้องกัน หรือรักษาโรค เป็นโปรแกรมออกแบบและดูแลสุขภาพได้ตรงจุดกับความเสี่ยงของแต่ละคน

ศ.ดร.นพ.วิปร วิประกษิต ผู้ก่อตั้งบริษัท Atgenes จำกัด (แอท-ยีนส์)

ศ.ดร.นพ.วิปร ยังเปิดใจกับมีค่า นิวส์ว่า ในระยะแรก ศ.ดร.นพ.วิปร ไม่มีความเข้าใจในเรื่องของการของการบริหารธุรกิจ ด้วยภาพลักษณ์ที่เป็นแพทย์ เป็นอาจารย์แพทย์ จึงไม่ได้เห็นความสำคัญของการทำการตลาด เนื่องจากมีความเชื่อว่า บริการดังกล่าว เป็นบริการที่ดีอยู่แล้ว น่าจะสามารถเข้าถึงกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย คือ ผู้รักสุขภาพได้ง่าย ซึ่งเป็นความคิดที่ไม่ถูกต้องนัก เนื่องจากต้องทำความเข้าใจว่า การตรวจโรคทางพันธุกรรมด้วยดีเอ็นเอ ยังเป็นเรื่องที่ใหม่มาก ๆ สำหรับคนไทย ทำให้ในระยะแรกผู้ใช้บริการ บริษัทแอท-ยีนส์ จึงจำกัดอยู่เฉพาะกลุ่มแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเป็นหลักเท่านั้น  

ในระยะหลัง ศ.ดร.นพ.วิปร จึงต้องเปลี่ยนความคิด เริ่มศึกษาการดำเนินธุรกิจ และเรื่องการทำการตลาดมากขึ้น ก่อนจะวางแผนทำการตลาด ประชาสัมพันธ์ผ่านเพจเฟซบุ๊ก  https://www.facebook.com/atgenes.th , ยูทูป,  เว็บไซต์ เพื่อให้ประชาชนเข้าใจความหมายของการตรวจโรคทางพันธุกรรมด้วยดีเอ็นเอ กระทั่งประชาชนสนใจใช้บริการมากขึ้น

ศ.ดร.นพ.วิปร วิประกษิต ผู้ก่อตั้งบริษัท Atgenes จำกัด (แอท-ยีนส์)

แต่ ศ.ดร.นพ.วิปร ก็ไม่หยุดพัฒนา ยังคงมองหา Challenge ใหม่ ๆ อยู่เสมอ โดยในช่วงปี 2563 ที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 ศ.ดร.นพ.วิปร จึงลงทุนสร้างห้องปฎิบัติการขึ้นใหม่ เพื่อรองรับการตรวจหาสารพันธุกรรมของเชื้อโควิด-19 ซึ่งเป็นห้องปฏิบัติการ 5 อันดับแรกของไทย ที่ได้รับการรับรองในระบบ ISO 15189 ด้านคุณภาพมาตรฐานสากลสำหรับตรวจคัดกรองโควิด-19 อาทิ  

1. การตรวจ ATK หาเชื้อโดยการ Swab ทางจมูก ANTIGEN TEST ได้รับผลภายใน 1 ชั่วโมง

2. การตรวจ RT-PCR หาเชื้อโดยการ Swab ทางจมูก และนำตัวอย่างเข้าห้องปฏิบัติการ พร้อมใบรายงานผลตรวจผ่านอีเมล์

3. บริการตรวจ Fit To Fly พร้อมใบรับรองแพทย์ภาษาอังกฤษ 

นอกจากนี้ ยังมีบริการที่สำคัญ ที่ทำให้บริษัทแอท-ยีนส์ กลายเป็นที่รู้จักมากขึ้น คือ ศ.ดร.นพ.วิปร และทีมนักวิจัย ได้มีโอกาสระดมความคิดออกแบบเทคโนโลยีรถเก็บตัวอย่างชีวนิรภัย ที่น้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายต้นแบบให้กับสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ พระราชทานให้กรมควบคุมโรคนำไปใช้ตรวจโควิด-19 เชิงรุกตามชุมชนต่าง ๆ

พร้อมทั้งยังมีรถบริการเอกชน ออกให้บริการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ให้กับหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ทั้งการตรวจ ATK และ RT-PCR มามากกว่า 1,000,000 เทส  โดย ศ.ดร.นพ.วิปร ยังเปิดเผยแนวคิดการดำเนินธุรกิจของตัวเอง ที่มีความเชื่อว่า การทำธุรกิจจะต้องกล้าออกจาก Comfort zone หากคิดแล้ว ต้องรีบลงมือทำ กล้ายอมรับในความผิดพลาด แล้วนำมาเป็นบทเรียนในการพัฒนาธุรกิจให้เดินหน้าต่อไป

ผมคิดว่าทุกอย่างที่ทำ หากคิดแล้วต้องลงมือทำทันที ผมไม่กลัวที่จะก้าวออกจาก Comfort zone ของตัวเอง เราต้องกล้าที่จะล้ม ต้องกล้าที่จะผิดพลาด พร้อมเอาสิ่งที่เราคิดและวางแผน มาเริ่มต้นให้เป็นภาพปัจจุบันที่แท้จริง ผมคิดว่าถ้าเรามีทั้งหมดนี้ เราก็จะสามารถประสบความสำเร็จได้”

ปัจจุบัน บริษัทแอท-ยีนส์ ได้ขยายสาขาไปทั่วประเทศ ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่, จังหวัดภูเก็ต, จังหวัดขอนแก่น, จังหวัดตาก และกำลังจะขยายสาขาเพิ่มเติมในปี 2565 อีก 3 สาขาด้วย คือ ที่อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา, จังหวัดนครราชสีมา, และเมืองพัทยา จังหวัดชลบุรี ในขณะที่การปรับกลยุทธ์ทางการตลาดใหม่ ๆ เพื่อให้ยังสามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ในสถานการณ์โควิด-19 แพร่ระบาด ศ.ดร.นพ.วิปร วางแนวทางไว้ 3 ข้อหลัก ดังนี้

1. ยึดหลักความยืดหยุ่น จะต้องปรับตัวเข้ากับทุกสถานการณ์ให้ได้

2. สร้างโอกาสใหม่ ๆ ทางธุรกิจ เพิ่มรายได้ให้กับบริษัท

3. ชะลอการลงทุนในส่วนที่ไม่จำเป็น จำกัดรายจ่ายให้เหมาะสม

ศ.ดร.นพ.วิปร ยังกล่าวอีกว่า ที่ผ่านมา บริษัทแอท-ยีนส์ พัฒนาบริการเชิงลึก ที่เกี่ยวข้องกับการตรวจหาสารทางพันธุกรรมครบทุกมิติแล้ว เพราะฉะนั้นในอนาคต ศ.ดร.นพ.วิปร ตั้งใจจะพัฒนาเชิงกว้าง เพื่อให้ประชาชนได้เข้าถึงบริการมากขึ้น ทำให้ราคาถูกลง โดยภายในปี 2565 บริษัทแอท-ยีนส์ เตรียมเปิดตัวเทคโนโลยีการตรวจหาเชื้อไวรัส HPV จากปัสสาวะ ที่เป็นสาเหตุสำคัญของโรคมะเร็งปากมดลูก และมีอัตราการเสียชีวิตเป็นอันดับ 1 ของผู้หญิง โดยเน้นออกแบบแพ็กเกจให้สามารถใช้งานได้ง่าย และมีราคาไม่สูงมากเพียงหลักร้อยบาท เพื่อให้เกิดการนำไปใช้งานได้ทั่วถึงมากขึ้น

สุดท้าย ศ.ดร.นพ.วิปร ได้ฝากกำลังใจถึงผู้ประกอบการว่า “ปัจจัยภายนอกเราไม่สามารถควบคุมได้ เช่น โรคระบาด สงครามโลก แต่ปัจจัยที่เราสามารถควบคุมได้ คือ จิตใจของเรา เราจะต้องไม่หมดกำลังใจ และมองหาโอกาสใหม่ ๆ  พร้อมปรับตัวยืดหยุ่นต่อทุกสถานการณ์ มีความอดทน ก็จะผ่านสถานการณ์ต่าง ๆ ไปได้ด้วยดี”   

Exit mobile version