Site icon Mekha News (มีค่านิวส์) : เว็บไซต์ข่าว ที่จะนำเสนอข่าวสารเพื่อรักษาสิทธิให้กับคุณ

ครม.เห็นชอบ! ขยายระยะเวลายกเว้นอากรขาเข้า สินค้าที่มีความจำเป็นของโรคโควิด-19 ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. ถึง 30 ก.ย. 65

ยืดเวลา ยกเว้นอากรขาเข้า สินค้ารักษาโควิด ถึง ก.ย. 65

น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยมติที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 8 มีนาคม 2565 เห็นชอบในหลักการร่างประกาศกระทรวงการคลัง รวม 3 ฉบับ ซึ่งเป็นการขยายระยะเวลามาตรการยกเว้นอากรขาเข้าสินค้าที่มีความจำเป็นเนื่องจากสถานการณ์การแร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19  โดยให้มีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. ถึง 30 ก.ย. 65 ประกอบด้วย

1.ประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง การยกเว้นอากรศุลกากรสำหรับของที่นำเข้ามาเพื่อใช้รักษา วินิจฉัย หรือป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019  มีสาระสำคัญ คือ

– ยกเว้นอากรสำหรับของที่นำเข้ามาเพื่อรักษา วินิจฉัย หรือป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ไม่ว่าจะอยู่ในพิกัดประเภทใด ตามรายการที่กระทรวงสาธารณสุขประกาศกำหนด

2. ประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง การลดอัตราอากรและยกเว้นอากรศุลกากรตามมาตรา 12 แห่งพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2530 มีสาระสำคัญ คือ

– ยกเว้นอากรสำหรับสินค้าหน้ากากอนามัยชนิดที่ใช้ในห้องผ่าตัด หน้ากากกรองฝุ่น หมอกควัน หรือสารพิษ อุปกรณ์เพื่อป้องกันภัยและหน้ากากกรองเชื้อโรค หน้ากากทางการแพทย์นอกจากหน้ากากชนิดที่ใช้ในห้องผ่าตัด

3. ประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง การยกเว้นอากรศุลกากรสำหรับของที่นำเข้ามาเพื่อผลิตเป็นหน้ากาก มีสาระสำคัญ คือ

– ยกเว้นอากรสำหรับวัตถุดิบที่นำมาใช้ผลิตหน้ากากอนามัย เป็นหน้ากากชนิดที่ใช้ในห้องผ่าตัด หน้ากากกรองเชื้อโรค หน้ากากทางการแพทย์นอกจากหน้ากากชนิดที่ใช้ในห้องผ่าตัด และหน้ากากกรองฝุ่น หมอกควัน หรือสารพิษ บรรดาที่เป็นอุปกรณ์เพื่อความปลอดภัย

ทั้งนี้ การยกเว้นอากรสำหรับประกาศกระทรวงการคลังทั้ง 3 ฉบับข้างต้น ได้มีการเริ่มการให้สิทธิมาตั้งแต่ มีนาคม 2563 และมีการขยายระยะเวลาการให้สิทธิเรื่อยมาจนถึงปัจจุบันที่การให้สิทธิจะสิ้นสุดในวันที่ 31 มีนาคม 2565 นี้ สำหรับของที่มีการยกเว้นอากร จะมีอัตราอากรอยู่ระหว่าง 5 – 20%

การขยายระยะเวลายกเว้นอากรขาเข้าสินค้าที่มีความจำเป็นดังกล่าว เป็นการรองรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่เกิดขึ้น เพื่อให้มีทรัพยากรในการป้องกัน รักษา และวินิจฉัยโรคเพียงพอสำหรับความต้องการใช้ของบุคลากรทางการแพทย์ ผู้ป่วย กลุ่มเสี่ยงต่าง ๆ และประชาชน เพื่อให้ทุกฝ่ายสามารถดำเนินการรับมือกับสถานการณ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นประโยชน์ต่อทั้งเศรษฐกิจและสังคม

Exit mobile version