Mekha News (มีค่านิวส์) : เว็บไซต์ข่าว ที่จะนำเสนอข่าวสารเพื่อรักษาสิทธิให้กับคุณ

สธ.ยืนยันใช้สิทธิ UCEP Plus 16 มี.ค. 65 กำหนดหลักเกณฑ์เบิกจ่ายผู้ป่วยสีเหลือง สีแดง รักษาได้ทุกที่ตามเกณฑ์ สพฉ. ส่วนผู้ป่วยสีเขียว รักษาฟรีตามสิทธิ

หลังจากมติที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 8 มี.ค. 65 เห็นชอบหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขการกำหนดค่าใช้จ่ายในการดำเนินการผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต กรณีผู้ป่วยโควิด-19 หรือ UCEP Plus ซึ่งจะเริ่มวันที่ 16 มีนาคม 2565 นี้ อ่านเพิ่มเติม >> https://mekhanews.com/2022/03/09/adopted-ucep-plus-to-treat-only-yellow-red-covids-16-mar-65/

ล่าสุด กระทรวงสาธารณสุข แถลงข่าวประเด็นการใช้สิทธิ UCEP Plus และการเข้ารับบริการตามสิทธิ โดยระบุว่า หากติดเชื้อโควิด-19 และมีการประเมินอาการแล้วว่าเป็นผู้ป่วยสีเหลือง และสีแดง สามารถเข้ารักษาที่โรงพยาบาลใดก็ได้จนหายป่วย ไม่จำกัดแค่ 72 ชั่วโมงเหมือน UCEP ปกติ และไม่เสียค่าใช้จ่าย

หากอาการรุนแรงขึ้นจำเป็นต้องส่งต่อไปโรงพยาบาลอื่นในเครือข่าย จะไม่เสียค่าใช้จ่ายเช่นกัน เนื่องจากโรงพยาบาลจะเก็บค่าใช้จ่ายจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) แต่หากผู้ป่วย หรือญาติประสงค์จะไปรักษาที่โรงพยาบาลนอกเครือข่าย จะต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายเอง

ส่วนผู้ป่วยสีเขียว หรือผู้ป่วยโควิดที่มีอาการน้อยให้รักษาตามสิทธิที่มี เช่น สิทธิประกันสังคม สิทธิบัตรทอง โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายและหากอาการเปลี่ยนเป็นสีเหลืองหรือสีแดง สามารถส่งต่อไปยังโรงพยาบาลอื่นโดยใช้สิทธิ UCEP Plus ได้ทั้งนี้ แนะนำให้ผู้ป่วยกลุ่มสีเขียวรักษาในระบบ Home Isolation (HI) Community Isolation (CI) หรือระบบ “เจอ แจก จบ” ซึ่งผู้ป่วยกลุ่มนี้ สามารถขอใบรับรองแพทย์จากสถานพยาบาล หรือผู้รับผิดชอบได้

ด้านสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) ระบุถึงเกณฑ์การประเมินคัดแยกผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต กรณีโรคโควิด-19 สำหรับ UCEP Plus หรือผู้ป่วยกลุ่มสีเหลือง หรือสีแดง จะต้องมีผลตรวจ Antigen Test Kit (ATK) หรือ RT-PCR เป็นบวก ร่วมกับมีอาการ อย่างใดอย่างหนึ่ง คือ

1. ภาวะหัวใจหยุดเต้น มีสิ่งอุดกั้นทางเดินหายใจ หายใจลำบากเฉียบพลัน มีภาวะช็อก มีภาวะโคม่า ซึมลง (เมื่อเทียบกับระดับความรู้สึกเดิม) หรือกำลังชักเมื่อแรกรับที่จุดคัดแยก

2. มีอาการไข้สูงเกิน 39 องศาเซลเซียส มากกว่า 24 ชั่วโมง หรือหายใจเร็วมากกว่า 25 ครั้งต่อนาทีในผู้ใหญ่ หรือออกซิเจนในเลือดเมื่อแรกรับน้อยกว่า 94% หรือมีระดับออกซิเจนลดต่ำลงกว่าภาวะปกติ 3% เมื่อออกแรง หรือโรคประจำตัวเปลี่ยนแปลงรุนแรง หรือจำเป็นต้องรับการติดตามใกล้ชิดตามดุลยพินิจของแพทย์ หรือในเด็กมีอาการหายใจลำบาก ซึมลง ดื่มนมหรือกินอาหารน้อยลง หรือผู้ป่วยมีความเสี่ยงสูงตามดุลยพินิจของแพทย์  

3. มีอาการอย่างอื่นร่วมด้วย คือ เหนื่อยหอบ หายใจเร็ว มีปัจจัยเสี่ยงอาการรุนแรงหรือโรคร่วม เช่น อายุมากกว่า 60 ปี โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคปอดเรื้อรังอื่น ๆ ไตเรื้อรัง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคหัวใจแต่กำเนิด โรคหลอดเลือดสมอง เบาหวานที่คุมไม่ได้ ภาวะอ้วน น้ำหนักเกิน 90 กิโลกรัม หญิงตั้งครรภ์ ตับแข็ง ภูมิคุ้มกันต่ำ และเม็ดเลือดขาวน้อยกว่า 1,000 เซลล์ต่อไมโครลิตร หรืออื่น ๆ ตามดุลยพินิจของผู้คัดแยก

การใช้สิทธิ UCEP Plus สามารถโทรแจ้ง 1669 โรงพยาบาลจะประเมินอาการและรักษาเบื้องต้น และกรอกรายละเอียดอาการผ่านโปรแกรม Pre-Authorization (PA) ของ สพฉ. หาก สพฉ. เห็นว่าเข้าเกณฑ์เป็นผู้ป่วยสีเหลืองหรือสีแดง ก็จะได้สิทธิ UCEP Plus เข้ารักษาในโรงพยาบาลทันที  

ทั้งนี้ สพฉ.ได้เตรียมศูนย์ประสานคุ้มครองสิทธิผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต หมายเลข 02-872-1669 เพื่อให้คำปรึกษากรณีมีข้อสงสัยหรือมีปัญหาในการใช้สิทธิ รวมถึงสถานพยาบาลเอกชนกว่า 300 แห่ง ใช้ประสานงานกรณีมีข้อติดขัดการลงข้อมูลผ่านระบบ

ขณะสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเผยถึงขั้นตอนการใช้สิทธิ UCEP Plus หากติดเชื้อโควิด-19 และเป็นผู้ป่วยสีเขียว ผู้ที่มีสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง) สามารถเดินทางไปรักษาพยาบาลที่โรงพยาบาลตามสิทธิได้เลย และสามารถเดินทางไปยังโรงพยาบาลปฐมภูมิที่ใดก็ได้ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

ส่วนกรณีที่เป็นผู้ป่วยสีเหลือง หรือสีแดง สามารถเข้ารับการรักษาได้ทุกโรงพยาบาล ทั้งรัฐและเอกชน โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายทุกรายการ ทั้งค่ารักษาพยาบาล ค่าห้อง ค่าอาหาร ยกเว้นรายการเพิ่มเติมอื่น ๆ เช่น ห้องพิเศษ อาหารพิเศษ เป็นต้น หากประชาชนท่านใดไปรักษาแล้วพบว่ามีค่าใช้จ่าย สามารถแจ้งไปยังสายด่วน สปสช. 1330 หรือแอดไลน์ @nhso จะจับคู่กับหน่วยบริการที่ให้บริการได้รวดเร็วขึ้น

ส่วนสำนักงานประกันสังคม ชี้แจงสิทธิ UCEP Plus สำหรับผู้ประกันตน หากมีสิทธิการรักษาใด ก็สามารถใช้สิทธินั้นได้เหมือนเดิม โดยหากมีอาการเล็กน้อย หรือผู้ป่วยสีเขียว สามารถเข้ารักษาได้ทุกโรงพยาบาลในคู่สัญญาของประกันสังคม ไม่จำเป็นต้องเป็นโรงพยาบาลที่ลงทะเบียนไว้ เช่น หากใช้สิทธิประกันสังคมอยู่โรงพยาบาล ก. แต่เดินทางไปทำงานที่จังหวัดเชียงใหม่ และติดเชื้อโควิด-19 สามารถเข้ารักษาที่โรงพยาบาลจังหวัดเชียงใหม่ ที่เป็นคู่สัญญาของประกันสังคม โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใด ๆ จนสิ้นสุดการรักษา หากมีข้อสงสัยสามารถโทรสายด่วน 1506 กด 1 หรือกรณีไปรับบริการแล้วสถานพยาบาลมีข้อขัดข้อง ให้กด 6 หรือ กด 7

Exit mobile version