Mekha News (มีค่านิวส์) : เว็บไซต์ข่าว ที่จะนำเสนอข่าวสารเพื่อรักษาสิทธิให้กับคุณ

สปส. เดินหน้าแก้กฎหมาย สิทธิลาคลอดบุตร 98 วัน เบื้องต้น ยังอยู่ระหว่างเสนอ ครม.

เมื่อวันสตรีสากล 8 มีนาคม 2565 ที่ผ่านมา เครือข่ายสตรียื่นข้อเรียกร้องเกี่ยวกับสิทธิของลูกจ้างประเด็นวันลาคลอดบุตรที่ปัจจุบันให้ลาได้ 98 วัน แต่การจ่ายค่าจ้างครอบคลุมเพียง 90 วัน จึงเห็นได้ว่าจำนวนวันลา 8 วัน ที่เพิ่มขึ้นนั้น ลูกจ้างยังไม่ได้รับความคุ้มครองในเรื่องค่าจ้าง

ล่าสุด มีค่า นิวส์ ทราบจากนายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) ชี้แจงความคืบหน้าการแก้ไขกฎหมายดังกล่าวว่า หลังจาก สปส. เสนอแก้ไขกฎหมายในกรณีคลอดบุตร (เงินสงเคราะห์การหยุดงานเพื่อการคลอดบุตร) ขณะนี้ ยังอยู่ในขั้นตอนการเสนอร่างพระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ….เข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี

สำหรับร่างพระราชบัญญัติประกันสังคม ที่ปรับแก้ใหม่ มีรายละเอียด ดังนี้

1. กฎหมายเดิม กฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน ให้ผู้ประกันตนหญิงลาคลอดได้ 90 วัน โดยรับค่าจ้างจากนายจ้าง 45 วัน ในอัตรา 100% ของค่าจ้าง และสำนักงานประกันสังคมจ่ายเพิ่มอีก 50% ของค่าจ้าง เป็นเวลา 90 วัน เช่น

–  ฐานค่าจ้าง 15,000 บาท จะได้รับ 22,500 บาท ซึ่งเมื่อรวมกับค่าคลอดบุตร 15,000 บาท ผู้ประกันจะได้รับทั้งสิ้น 37,500 บาท

2. กฎหมายใหม่ กฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน ให้ผู้ประกันตนหญิงลาคลอดได้ 98 วัน โดยรับค่าจ้างจากนายจ้าง 45 วัน ในอัตรา 100% ของค่าจ้าง และสำนักงานประกันสังคมจ่ายเพิ่มอีก 50% ของค่าจ้าง เป็นเวลา 98 วัน เช่น

– ฐานค่าจ้าง 15,000 บาท จะได้รับ 24,500 บาท ซึ่งเมื่อรวมกับค่าคลอดบุตร 15,000 บาท ผู้ประกันตนจะได้รับทั้งสิ้น 39,500 บาท

ทั้งนี้ สำนักงานประกันสังคม พร้อมร่วมขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาล และให้ความสำคัญในการมุ่งส่งเสริมคุณภาพชีวิตแก่พี่น้องผู้ประกันตนทุกกลุ่มให้เข้าถึงหลักประกันสังคม เพื่อให้ได้รับประโยชน์สูงสุดอย่างเท่าเทียมกัน  ซึ่งที่ผ่านมา สำนักงานประกันสังคมได้มีการเพิ่มสิทธิประโยชน์ กองทุนประกันสังคม ได้แก่

1. เพิ่มค่าคลอดบุตรจากเดิม 13,000 บาท เพิ่มเป็น 15,000 บาท

2. เงินสงเคราะห์บุตรจากเดิมเดือนละ 600 บาท เพิ่มเป็นเดือนละ 800 บาท

3. ค่าฝากครรภ์ตามเกณฑ์คุณภาพ จากเดิม 1,000 บาท เพิ่มเป็น 1,500 บาท

รวมทั้งการตรวจสุขภาพ ตรวจสุขภาพเต้านม ตรวจมะเร็งปากมดลูกฟรีให้แก่ผู้ประกันตนและการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคกรณีวัคซีนไข้หวัดใหญ่ เพื่อการคุ้มครองดูแลแรงงานสตรีให้เข้าถึงหลักประกันทางสังคม

อ่านเพิ่มเติม >> How To ตรวจเต้านม ตรวจมะเร็งปากมดลูก สิทธิประกันสังคม ฟรี! https://mekhanews.com/2022/03/08/how-to-check-the-breast-check-for-cervical-cancer-social-security-rights-free/

Exit mobile version