Mekha News (มีค่านิวส์) : เว็บไซต์ข่าว ที่จะนำเสนอข่าวสารเพื่อรักษาสิทธิให้กับคุณ

รายงานพิเศษ : เจอ แจก จบ ทางเลือกใหม่รักษาโควิด-19 ไม่ต้องรอสาย ไม่ต้องลงทะเบียน ไม่เสียค่าใช้จ่าย

1 มี.ค. 2565 คือ วันแรกที่กระทรวงสาธารณสุข เริ่มใช้แนวทางการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 แบบใหม่ “เจอ แจก จบ” ซึ่งเป็นบริการตรวจรักษาผู้ป่วยโควิด-19 แบบผู้ป่วยนอก ในกลุ่มที่ไม่มีอาการ หรือ มีอาการเล็กน้อย โดยจะจ่ายยารักษาตามอาการ ควบคู่ไปกับระบบการดูแลรักษาที่บ้าน หรือ ชุมชน ถือเป็นหนึ่งในแผนปลดโควิดฯ ออกจากโรคระบาดมาเป็นโรคประจำถิ่น (Endemic) วันที่ 1 ก.ค. 65 อ่านเพิ่มเติม >> https://mekhanews.com/2022/03/10/designate-covid-as-an-endemic-disease-when-did-it-start/ โดยหลังจากเริ่มใช้แนวทางดังกล่าว มีค่า นิวส์ เชื่อว่าประชาชนส่วนใหญ่ อาจยังไม่เข้าใจว่าเจอ แจก จบ คืออะไร ขั้นตอนรักษาเป็นอย่างไร จึงรวบรวมมาให้เข้าใจกันง่ายขึ้น

เจอ แจก จบ คือ

นโยบายของกระทรวงสาธารณสุข เพื่อรักษาผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่ไม่มีอาการ หรือมีอาการเล็กน้อย แบบผู้ป่วยนอก หรือ OPD ด้วยระบบ Tele-health โดยสามารถแยกกักตัวเองที่บ้านได้ จะมีการติดตามประเมินอาการ 48 ชั่วโมง หากอาการดีขึ้นทุกอย่าง ก็จะให้ผู้ป่วยแยกกักตัวที่บ้านต่อจนครบกำหนดระยะเวลากักตัว

สำหรับผู้ป่วยที่มีภาวะเสี่ยง มีโรคประจำตัว เมื่อแพทย์ตรวจมีอาการไม่รุนแรง ก็ให้เข้าระบบรักษาที่บ้าน (Home Isolation หรือ HI) หรือการรักษาในระบบชุมชน (Community Isolation หรือ CI), Hospitel และ Hotel Isolation แต่หากมีอาการรุนแรงมาก มีภาวะเสี่ยงจะถูกคัดแยกไปที่โรงพยาบาล

แนวทางหลักๆ สรุปได้ดังนี้

1. (เจอ) ผู้ที่สงสัยป่วยโควิด-19 ตรวจ ATK แล้วหากพบผลเป็นบวก ไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลตามสิทธิ เพื่อตรวจที่คลินิกโรคทางเดินหายใจ (ARI Clinic) ในโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุขทุกแห่ง

2. (แจก) แพทย์จะพิจารณาจ่ายยารักษาตามอาการ 3 สูตร ได้แก่

– ยาฟ้าทะลายโจร

– ยารักษาตามอาการ เช่น ยาลดไข้ แก้ไอ ลดน้ำมูก

– ยาฟาวิพิราเวียร์ (การจ่ายยาขึ้นอยู่กับข้อบ่งชี้ของแพทย์)

2. (จบ) แพทย์จะแนะนำการดูแลรักษาต่อไป โดยจะจ่ายยาแล้วให้กลับมากักตัวที่บ้าน แต่หน่วยบริการ ยังให้ผู้ป่วยดูแลป้องกันตนเองเหมือนเดิม และติดตามอาการ 1 ครั้งใน 48 ชั่วโมง

หลักเกณฑ์รักษา 4 กลุ่ม คือ

กลุ่มที่ 1 ผู้ป่วยไม่มีอาการ พบกว่า 90% อาจมีอาการคันคอจะไม่มีการให้ยาฟาวิพิราเวียร์ เนื่องจากส่วนมากหายเองได้ ไม่ต้องเสี่ยงจากผลข้างเคียง เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ตาสีฟ้า เสี่ยงดื้อยา กลุ่มนี้จะพิจารณาให้ฟ้าทะลายโจรตามดุลพินิจแพทย์ ยกเว้น เด็ก คนท้อง คนป่วยโรคตับ

กลุ่มที่ 2 กรณีมีอาการไม่รุนแรง ไม่มีปอดอักเสบ ไม่มีปัจจัยเสี่ยง ไม่มีโรคร่วม แพทย์พิจารณาให้ยาฟาวิพิราเวียร์ได้หรือไม่ หากให้ต้องหยุดกินฟ้าทะลายโจร แต่หากตรวจพบเชื้อมีอาการเกิน 5 วัน การให้ยาต้านอาจจะไม่มีประโยชน์

กลุ่มที่ 3 กรณีผู้ป่วยอาการไม่รุนแรง แต่มีปัจจัยเสี่ยง เช่น อายุ 65 ปีขึ้นไป มีโรคร่วม  แพทย์จะพิจารณาแอดมิทในโรงพยาบาล ส่วนยาที่ใช้จะมีหลายตัว

กลุ่มที่ 4 อาการรุนแรง อยู่ในโรงพยาบาลอยู่แล้ว แพทย์จะพิจารณาการรักษาที่เหมาะสม ตลอดการรักษาแบบ OPD ยังคงอยู่ที่บ้านกักตัว 7 วันเป็นอย่างน้อย ตรวจ ATK ในวันที่ 5-6 หากไม่เจอใช้ชีวิตตามปกติ แต่งดการรวมตัวกันจำนวนมาก

ส่วนขั้นตอนรับบริการ เจอ แจก จบ ที่ทุกคนอาจยังสับสนว่าจะต้องเริ่มอย่างไร มีค่า นิวส์ สรุปมาให้ตามสิทธิรักษา ประกอบด้วย

สิทธิบัตรทอง 30 บาท มีขั้นตอนการรับบริการ ดังนี้

ให้ไปสถานพยาบาลตามสิทธิใกล้บ้านทุกที่ เช่น สถานีอนามัย, โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบล (รพ.สต.), หน่วยบริการปฐมภูมิของโรงพยาบาล, ศูนย์สุขภาพชุมชน ศูนย์บริการสาธารณสุข รวมถึง คลินิกชุมชนอบอุ่น เป็นต้น

หมายเหตุ : แนะนำโทรนัดหมายก่อน (จะไม่มีการเรียกให้กลับไปรับใบส่งตัวมาเหมือนในอดีต)

แนวทางการจ่ายชดเชยค่าบริการโควิด สิทธิบัตรทอง รวม 1,300 บาทให้สถานพยาบาล แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ

1. การจ่ายชดเชยเหมาจ่าย 1,000 บาทต่อราย ประกอบด้วย

– ค่าบริการให้คำแนะการแยกกักตัวที่บ้าน

– การให้ยารักษาตามอาการ

– การประสานติดตามอาการเมื่อให้การดูแลครบ 48 ชั่วโมง

– การจัดระบบส่งต่อเมื่อผู้ป่วยมีอาการเปลี่ยนแปลงจำเป็นต้องส่งต่อ

2.ค่าบริการสำหรับการให้คำปรึกษาหรือการดูแลรักษาเบื้องต้น 300 บาทต่อราย เมื่อผู้ป่วยโควิด-19 มีอาการเปลี่ยนแปลง และหรือให้ปรึกษาอื่น ๆ หลังให้การดูแลครบ 48 ชั่วโมง

สิทธิประกันสังคม มีขั้นตอนการรับบริการ ดังนี้

กรณีผู้ประกันตนสงสัย/เข้าข่ายเป็นผู้ป่วยติดเชื้อ/สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยโควิด-19 หรือเป็นผู้ติดเชื้อโควิด-19 สามารถทำการตรวจคัดกรองด้วยตนเอง หรือที่สถานพยาบาลตามสิทธิ ตามขั้นตอน ดังนี้

1. กรณีผลตรวจ ATK เป็นบวก ผู้ป่วยสีเขียวไม่มีอาการ/อาการเล็กน้อย-ปานกลาง

1.1  การเข้ารับการรักษา (Home Isolation : HI)

กรณีผู้ประกันตนประสงค์เข้ารักษาที่บ้าน และมีความพร้อมด้านสถานที่ โดยไม่ต้องขอตรวจยืนยันผล RT-PCR โดยติดต่อสถานพยาบาลตามสิทธิ/สถานพยาบาลใกล้บ้านเพื่อขอรับการรักษา หรือติดต่อที่สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่/จังหวัด/สาขา ทุกแห่ง หรือโทรสายด่วน 1506 กด 6 และกด 7

1.2  การเข้ารับการรักษาในระบบชุมชน (Community Isolation : CI)

กรณีผู้ประกันตนประสงค์เข้ารักษาที่บ้าน แต่สภาพบ้านไม่พร้อมทำ CI สามารถติดต่อสถานพยาบาลตามสิทธิฯ/สถานพยาบาลใกล้บ้าน เพื่อขอรับการตรวจยืนยันด้วยวิธี RT-PCR ก่อน หรือติดต่อประสานหน่วยงานของสำนักงานประกันสังคม ได้ที่ สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่/จังหวัด/สาขา ทุกแห่ง สายด่วน 1506 กด 6 และ กด 7

1.3  การเข้ารับการรักษาใน Hospitel

– กรณีผู้ประกันตนประสงค์รักษาใน Hospitel ด้วยมีข้อจำกัดไม่สามารถรักษาที่บ้านได้สามารถติดต่อสถานพยาบาลตามสิทธิฯ/สถานพยาบาลใกล้บ้าน เพื่อขอรับการตรวจยืนยันด้วยวิธี RT-PCR

– การตรวจ RT-PCR ยืนยันผลเป็นบวก ให้สถานพยาบาลตามสิทธิฯ/สถานพยาบาลที่ทำการตรวจ จัดหา Hospitel รับผู้ประกันเข้ารักษาโดยเร็ว

2. กรณีผลตรวจ ATK เป็นบวก ผู้ป่วยสีเหลืองเข้ม-สีแดง/มีอาการรุนแรง

– มีไข้/ไอ/หายใจเหนื่อย/มีโรคประจำตัว

– ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไปและมีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจและหลอดเลือดหัวใจ/ไตวายเรื้อรัง/เบาหวาน/โรคหลอดเลือดสมอง/โรคมะเร็ง เป็นต้น

– กรณีที่มีโรคประจำตัวควบคุมไม่ได้

– ตั้งครรภ์ที่มีอายุครรภ์ มากกว่า 12 สัปดาห์

– ติดต่อสถานพยาบาลตามสิทธิฯ/สถานพยาบาลใกล้บ้าน เพื่อขอตรวจยืนยันผลด้วยวิธี RT-PCR และเข้าสู่กระบวนการรักษาในสถานพยาบาลตามแนวทางที่สาธารณสุขกำหนด

3. กรณีผลตรวจ ATK เป็นลบ (ไม่ติดเชื้อ)

– ไข้สูง 37.5 องศาเซลเซียส/ไอ/มีน้ำมูก/เจ็บคอ/หายใจเหนื่อย/ตาแดง/ผดผื่น/ถ่ายเหลว (หากมีอาการอย่างใดอย่างหนึ่ง) แนะนำให้ผู้ประกันตนติดต่อสถานพยาบาลตามสิทธิฯ/สถานพยาบาลใกล้บ้าน เพื่อขอตรวจยืนยันผลด้วยวิธี RT-PCR

– ผลตรวจยืนยันเป็นลบ มีประวัติเสี่ยงแนะนำให้กักตัว สังเกตอาการ และตรวจ ATK ซ้ำทุก 3 วัน ไม่มีประวัติเสี่ยงไม่ต้องกักตัว

– ผลตรวจยืนยันเป็นบวก สถานพยาบาลรับผู้ประกันตนเข้ารับการรักษาโดยเร็ว ตามแนวทางการรักษาโควิด-19

– กรณีแพทย์ซักประวัติ ไม่มีความเสี่ยง/ไม่เข้าเกณฑ์การตรวจของกระทรวงสาธารณสุข ผู้ประกันตนประสงค์ขอตรวจเอง ซึ่งไม่อยู่ในดุลยพินิจของแพทย์ ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นผู้ประกันตนต้องรับผิดชอบเอง

แนวทางการจ่ายชดเชยค่าบริการโควิด สิทธิประกันสังคม ให้สถานพยาบาล รวม 1,300 บาท แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ

1.ค่าบริการดูแลรักษาผู้ติดเชื้อหรือผู้ป่วยโรคโควิด-19 ที่ไม่มีภาวะเสี่ยงตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด แบบบริการผู้ป่วยนอก จ่ายแบบเหมาจ่ายในอัตรา 1,000 บาทต่อราย โดยครอบคลุมรายการ ประกอบด้วย

– ค่าบริการให้คำแนะนำการปฏิบัติตัวในการแยกกักตัวที่บ้าน

– การให้ยาที่เป็นการรักษาโรคโควิด-19 ได้แก่ ยาฟ้าทะลายโจร หรือยา Favipiravir (เบิกจากกระทรวงสาธารณสุข) ตามแนวทางกรมการแพทย์ และหรือยารักษาตามอาการรวมค่าจัดส่ง เป็นต้น

– การประสานติดตามอาการเมื่อให้การดูแลครบ 48 ชั่วโมง

– การจัดระบบส่งต่อเมื่อผู้ป่วยมีอาการเปลี่ยนแปลงจำเป็นต้องส่งต่อ

2.ค่าบริการสำหรับการให้คำปรึกษาหรือการดูแลรักษาเบื้องต้นเมื่อได้รับคำปรึกษาจากผู้ป่วยโควิด-19 หลังให้การดูแลครบ 48 ชั่วโมงไปแล้ว เมื่อผู้ป่วยมีอาการเปลี่ยนแปลง และหรือให้ปรึกษาอื่นๆ จ่ายแบบเหมาจ่ายในอัตรา 300 บาทต่อราย สำหรับหน่วยบริการที่ให้การดูแลตามข้อ 1.

สิทธิข้าราชการ สามารถเดินทางไปโรงพยาบาลรัฐหรือสถานพยาบาลภาครัฐได้ทุกแห่ง เช็กรายชื่อโรงพยาบาลที่นี่ https://ww2.chi.or.th/dataupload/Cscd/Ref/2561/%E0%B8%82%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%A1%E0%B8%B9%E0%B8%A5_%E0%B8%A3%E0%B8%9E_%E0%B9%80%E0%B8%82%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B9%88%E0%B8%A7%E0%B8%A1%E0%B8%88%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B8%95%E0%B8%A3%E0%B8%87_update_26_%E0%B9%80%E0%B8%A1%E0%B8%A2_61.pdf

แนวทางการจ่ายชดเชยค่าบริการโควิด สิทธิข้าราชการ ให้สถานพยาบาล ประเภทผู้ป่วยนอก

1. การตรวจยืนยันการติดเชื้อโควิด-19

1.1 การตรวจยืนยันการติดเชื้อด้วยวิธี Real Time PCR โดยการทำป้ายหลังโพรงจมูกและลำคอ ประเภท 2 ยีน ให้เบิกได้เท่าที่จ่ายจริงไม่เกิน 900 บาท จากเดิม 1,300 บาท

1.2 การตรวจยืนยันการติดเชื้อด้วยวิธี Real Time PCR โดยการทำป้ายหลังโพรงจมูกและลำคอ ประเภท 3 ยีนขึ้นไป ให้เบิกได้เท่าที่จ่ายจริงไม่เกิน 1,100 บาท จากเดิม 1,500 บาท

1.3 การตรวจการติดเชื้อด้วยวิธี Antigen test ด้วยเทคนิค Chromatography ให้เบิกได้เท่าที่จ่ายจริงไม่เกิน 250 บาท จากเดิม 300 บาท

1.4  การตรวจการติดเชื้อด้วยวิธี Antigen test ด้วยเทคนิค Fluorescent Immuunoassay (FIA) ให้เบิกได้เท่าที่จ่ายจริงไม่เกิน 350 บาท จากเดิม 400 บาท

1.5 การตรวจการติดเชื้อด้วยวิธีอื่น ๆ นอกเหนือจาก 1.3 – 1.4 ให้เบิกได้เท่าที่จ่ายจริงไม่เกิน 350 บาท จากเดิม 400 บาท

2. การเบิกค่ารักษาพยาบาลกรณีให้การรักษาพยาบาลผู้ป่วยที่บ้าน (Home Isolation) หรือที่ที่ชุมชนจัดไว้ (Community Isolation) หรือสถานที่อื่นของสถานพยาบาลของทางราชการ

2.1 ค่าบริการของสถานพยาบาลและการดูแลผู้ป่วย ให้เบิกได้เท่าที่จ่ายจริงไม่เกิน 1,000 บาทต่อวัน ไม่เกิน 10 วัน

2.2 ค่าอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่จำเป็นต้องใช้ในการติดตามอาการผู้ป่วย ค่ายา ค่าเอกซเรย์ ค่าตรวจทางห้องปฏิบัติการ และค่ารักษาพยาบาลอื่น ๆ ให้เบิกได้ในอัตราเท่าที่จ่ายจริงไม่เกิน 2,000 บาทต่อราย

อ่านเพิ่มเติม >> กรมบัญชีกลาง ปรับลดอัตราค่ารักษาพยาบาลโควิด-19 https://mekhanews.com/2022/03/08/the-comptroller-generals-department-cuts-the-rate-of-medical-expenses-for-covid-19-outpatient-type-inpatient/

ทั้งนี้ การรักษาแบบ เจอ แจก จบ เป็นแนวทางเสริมเพิ่มเติมจาก HI/CI มีส่วนคล้ายและต่างกันหลายข้อ มีค่า นิวส์ สรุปมาให้ ดังนี้

1. ความแตกต่าง

1.1 การโทรติดตามอาการจากบุคลากรสาธารณสุข

เจอ แจก จบ ทางแพทย์ หรือบุคลากรด้านสาธารณสุขโทรติดตามอาการผู้ป่วยติดเชื้อ 1 ครั้ง ในรอบ 48 ชั่วโมง แต่ HI /CI มีการโทรติดตามอาการทุกวัน โดยการโทรติดตามอาการ 1 ครั้งใน 48 ชั่วโมง นอกจากนี้ ยังมีข้อมูลทางการแพทย์ที่ประเมินแล้วว่าการโทรติดตามอาการผู้ป่วย 1 ครั้งในรอบ 48 ชั่วโมง ถือว่าเพียงพอสำหรับผู้ติดเชื้อไม่มีภาวะเสี่ยงและฉีดวัคซีนมาแล้ว

1.2 อุปกรณ์ตรวจประเมิน เจอ แจก จบ ไม่มีให้ แต่แบบ HI/CI จะได้รับอุปกรณ์เพื่อติดตามอาการประจำวัน

1.3 บริการอื่น ๆ เจอ แจก จบ ไม่มีบริการส่งอาหารฟรีให้ 3 มื้อ แต่แบบ HI/CI มีบริการให้ในส่วนนี้

2. ความเหมือน

2.1 การแยกกักตัวที่บ้านทั้ง เจอ แจก จบ และ HI /CI เป็นผู้ป่วยนอก ที่ต้องแยกกักตัวที่บ้านหรือชุมชน จนครบตามกำหนด

2.2 การจ่ายยาทั้งสองแบบ แพทย์จะจ่ายยาให้ตามระดับอาการของโรค ใน 3 สูตรอย่างที่กล่าวข้างต้น

2.3  ระบบส่งต่อเมื่อมีอาการแย่ลง ทั้งสองแบบหากผู้ป่วยมีอาการหนักขึ้น ผู้ป่วยสามารถติดต่อกลับมายังโรงพยาบาล และจะได้รับการส่งตัวต่อเข้ารักษาในโรงพยาบาลได้อย่างทันท่วงที

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าแนวทางการรักษาโควิดแบบผู้ป่วยนอก “เจอ แจก จบ” จะมีข้อดีหลายข้อ อาทิ การอยู่ร่วมกับโควิด ลดภาระของสถานบริการ ลดค่าใช้จ่ายภาครัฐที่ต้องใช้งบจากเงินกู้ แต่ทางชมรมแพทย์ชนบท ได้แสดงข้อห่วงกังวลว่า แนวคิดนี้อาจทำให้เกิดการหย่อนมาตรการควบคุมโรคหรือไม่ เพราะการอนุญาตให้กลับไปกักตัวเอง เสมือนกับโรคหวัดทั่วไป อาจมีการหย่อนความจริงจังในการกักตัว หรือข้อจำกัดเรื่องที่พัก

ดังนั้น ในพื้นที่ระบาดน้อย อาจต้องใช้การกักตัวในชุมชน หรือบ้าน ที่มีเจ้าหน้าที่สาธารณสุขดูแล ซึ่งจะช่วยลดการระบาดได้มากกว่าการใช้แนวทาง “เจอ แจก จบ” นอกจากนี้ ยังเห็นว่า ระดับบนไม่ควรผลักภาระให้กับ รพ. เนื่องจากการรักษาแบบผู้ป่วยนอก รพ. จะต้องใช้งบจัดสรรรายหัวตามสิทธิหลักประกันสุขภาพของกองทุนผู้ป่วยนอกของ รพ. แต่ค่าใช้จ่ายอื่นอันเกี่ยวเนื่อง อาจกลายเป็นภาระด้านงบประมาณ

ขณะเดียวกัน ยังมีหลายฝ่ายออกมาแสดงความคิดเห็น เกี่ยวกับปริมาณสายที่โทรเข้าสายด่วน สปสช. 1330 มีปริมาณมาก ทั้งในระบบสายด่วน และระบบ Non Voice (ไลน์และเฟซบุ๊ก สปสช.) อาจจะไม่ทันกับการให้บริการหรือไม่ ซึ่งเรื่องนี้ นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเผยว่า ได้ขอความร่วมมือหน่วยงานต่าง ๆ และจิตอาสา รวมถึงระดมกำลังบุคลากร สปสช.จากส่วนงานอื่นมาช่วยรับสายแล้ว คาดว่าจะสามารถรองรับผู้ป่วยได้มากขึ้น

ที่มาข้อมูล : https://www.facebook.com/NHSO.Thailand

https://www.thairath.co.th/news/local/2329853

https://thainews.prd.go.th/th/news/detail/TCATG220306181252982?fbclid=IwAR2xiaVp8LxybPpRxCJ-qqtBsGKTRQ7heaO6Q8KM76ebwO_Ccvf3Gu6hM2A

https://www.bbc.com/thai/thailand-60572119

Exit mobile version