Mekha News (มีค่านิวส์) : เว็บไซต์ข่าว ที่จะนำเสนอข่าวสารเพื่อรักษาสิทธิให้กับคุณ

กรุงเทพมหานคร ชวนประชาชนปิดไฟดวงที่ไม่จำเป็น 1 ชั่วโมง วันที่ 26 มี.ค. 65 แสดงพลังลดโลกร้อน

ตามที่กรุงเทพมหานคร ร่วมกับกองทุนสัตว์ป่าโลก (World Wildlife Fund : WWF) ประเทศไทย และภาคีเครือข่าย จัดกิจกรรมปิดไฟ 1 ชั่วโมง เพื่อลดโลกร้อน มาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2551 จนถึงปัจจุบัน เพื่อกระตุ้นให้ทุกภาคส่วนรวมถึงประชาชน เห็นความสำคัญของปัญหาภาวะโลกร้อน ด้วยการรณรงค์ให้ผู้ประกอบการ และอาคารบ้านเรือนร่วมกันปิดไฟดวงที่ไม่จำเป็น เป็นเวลา 1 ชั่วโมง

ล่าสุด พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เตรียมจัดกิจกรรม “ปิดไฟ 1 ชั่วโมง เพื่อลดโลกร้อน (60+ Earth Hour 2022)” ในวันเสาร์ที่ 26 มีนาคม 2565 ณ บริเวณสกายวอล์คช่องนนทรี เขตสาทร พร้อมทั้งรณรงค์และเชิญชวนประชาชน บริษัท ห้างร้าน ผู้ประกอบการ และร้านค้า ลดการใช้พลังงานและปิดไฟที่ไม่จำเป็น เช่น ไฟประดับ  ไฟอาคาร  ป้ายโฆษณา การถอดปลั๊กเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ไม่ใช้งาน ลดการใช้เครื่องปรับอากาศในอาคารบ้านเรือน เป็นเวลา 1 ชั่วโมงพร้อมกับเมืองต่าง ๆ กว่า 190 ประเทศทั่วโลก ตั้งแต่เวลา 20.30 – 21.30 น.

พร้อมชวนแชร์การมีส่วนร่วมในกิจกรรม ด้วยการติดแฮชแท็ก คำว่า #EarthHour #Connect2Earth #ShapeOurFuture #อนาคตเราสร้างได้ เพื่อเป็นการแสดงพลังให้รับรู้ถึงความตั้งใจของประเทศไทยในการช่วยลดปัญหาภาวะโลกร้อนอย่างยั่งยืน และใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพอย่างต่อเนื่อง

ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวต่อว่า จากการจัดกิจกรรมอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2551 – 2564 สามารถลดกระแสไฟฟ้าได้ 22,398 เมกะวัตต์ ลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ 12,235.40 ตัน คิดเป็นมูลค่า 80.90 ล้านบาท

นอกจากนี้ ภาคีเครือข่าย ทั้งองค์กรภาครัฐ  เอกชน ประชาชน ในพื้นที่กรุงเทพมหานครทั้ง 50 เขต มากกว่า 100 แห่ง และเจ้าของอาคารบ้านเรือนในถนน 100 สาย ยังได้ร่วมปิดไฟตามอาคาร ตึกสูง และบ้านเรือน พร้อมกับการปิดไฟเชิงสัญลักษณ์ในสถานที่ที่เป็นแลนมาร์คของกรุงเทพมหานคร 5 สถานที่หลัก ) ในวันดังกล่าว ประกอบด้วย

1. วัดพระศรีรัตนศาสดาราม (วัดพระแก้ว) พระบรมมหาราชวัง

2. วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร

3. เสาชิงช้า

4. สะพานพระราม 8

5. ภูเขาทอง(วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร)

กรุงเทพมหานครหวังว่า กิจกรรมปิดไฟ 1 ชั่วโมงเพื่อลดโลกร้อน จะเป็นเสมือนสัญลักษณ์ที่แสดงออกถึงความร่วมมือที่จะนำไปสู่การผลักดันให้ทุกภาคส่วนในประเทศไทยเห็นความสำคัญในการลดภาวะโลกร้อนอย่างจริงจัง เช่นเดียวกับนานาประเทศทั่วโลก การแก้ไขปัญหาภาวะโลกร้อนจะเป็นไปได้หรือไม่นั้น ขึ้นอยู่ที่ความ ร่วมแรงร่วมใจกันปฏิบัติอย่างง่าย ๆ แต่จริงจังในทุกวัน อาทิ

– ใช้ไฟฟ้าเท่าที่จำเป็น

– ถอดปลั๊กไฟทุกครั้งเมื่อไม่ใช้งาน

– การปลูกต้นไม้

– ลดการใช้พลังงานเปลี่ยนวิธีเดินทางมาเป็นการใช้ระบบขนส่งสาธารณะ การเดิน หรือการขี่จักรยาน

– ลดการสร้างขยะ

ซึ่งความร่วมมือเล็ก ๆ แต่เมื่อทำบ่อยครั้ง จะเป็นพลังในการลดปัญหาภาวะโลกร้อนได้อย่างยั่งยืน

ที่มา : กรุงเทพมหานคร โดยสำนักงานประชาสัมพันธ์

Exit mobile version