“อาหารทะเลดอง” ไม่ว่าจะเป็นแซลมอน ปูไข่ หอยแครง กุ้ง ที่มีจุดเด่นตรงน้ำดอง ราดด้วยน้ำจิ้มสุดแซ่บ ยังเป็นกระแสที่ถูกพูดถึงอย่างไม่หยุดหย่อน เพราะแค่ใครได้เห็น ก็อยากลองชิมใจจะขาดแล้ว ยิ่งปัจจุบันดูเหมือนว่า “อาหารทะเลดอง” จะได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เกิดแบรนด์น้อยใหญ่มากมาย ทั้งแบบมีหน้าร้าน เน้นขายทางออนไลน์ ซึ่งแต่ละแบรนด์ก็ใช้เวลาที่ต่างกันกว่าจะประสบความสำเร็จจนกลายเป็นที่รู้จัก ดำเนินธุรกิจได้แม้อยู่ในช่วงโควิด-19 แพร่ระบาด
มีค่า นิวส์ ได้คุยกับคุณกุลชา ตั้งมหาศุกร์ หรือ คุณเป้ ผู้ก่อตั้งแบรนด์ “เฮียเก๋าทะเลดอง” (HereKao.Talaydong) ซึ่งปัจจุบันมีสาขาแฟรนไชส์มากถึง 10 สาขาทั่วไทย ภายในเวลาไม่ถึงปี โดยจุดเริ่มต้น คุณเป้เล่าว่า มาจากความชอบทานอาหารทะเลดอง จึงมองเห็นโอกาสสร้างรายได้เสริม นอกเหนือจากงานประจำที่ทำอยู่ คือ นักข่าวและผู้ประกาศข่าว ประกอบกับครอบครัวเปิดร้านอาหาร (ร้านส้มตำ ยำ ครก) ขณะนั้นได้รับอาหารทะเลดองแบรนด์หนึ่งมาวางขายในร้าน ลูกค้าให้ความสนใจมาก
แต่ต่อมาแบรนด์ดังกล่าวได้เปลี่ยนไปทำธุรกิจแบบอื่น คุณเป้ จึงต้องหาวิธีอุดช่องว่างทางธุรกิจว่าจะทำอย่างไรให้ยังคงมีอาหารทะเลดองขายในร้านเหมือนเดิม เพราะความต้องการสินค้าของลูกค้ายังมีมาก คุณเป้ จึงใช้เงินเก็บหลักหมื่นบาทลงทุนธุรกิจอาหารทะเลดอง แบรนด์ “เฮียเก๋าทะเลดอง” โดยศึกษาทุกเรื่องเกี่ยวกับอาหารทะเลดองก่อนเปิดขายจริงนานถึง 4 เดือน เริ่มตั้งแต่การสำรวจตลาด เรียนรู้วัตถุดิบ ไปจนถึงกลยุทธ์ทางการตลาด
คุณเป้ อธิบายเพิ่มเติมว่า เธอเริ่มจากการซื้ออาหารทะเลดองมากกว่า 20-30 เจ้ามาทาน เพื่อหารสชาติที่ลงตัวที่สุด รวมถึงศึกษา Pain Point หรือจุดอ่อนของธุรกิจอาหารทะเลดองว่า มีข้อจำกัดด้านใดบ้าง เช่น กระบวนการผลิต การเตรียมวัตถุดิบที่ต้องสดใหม่ตลอดเวลา, การขนส่ง ต้องควบคุมอุณหภูมิที่เหมาะสม เพื่อรักษาคุณภาพของสินค้า เป็นต้น
จากนั้น คุณเป้ จึงศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมจากอินเตอร์เน็ต และทำแจกลูกค้า เชฟที่ร้าน ร้านในละแวกเคียง เพื่อนบ้าน ญาติ ๆ ทาน เพื่อขอคำแนะนำ ปรับสูตรเรื่อยมา จนได้สูตรที่ลงตัว ดังนี้
1. วัตถุดิบที่ใช้ดอง คุณเป้ เน้นคุณภาพพรีเมียม คัดสรรเองทุกชนิด ศึกษาสายพันธุ์ของวัตถุดิบ ประกอบด้วย
– แซลมอน จะเลือกใช้ สายพันธุ์นอร์เวย์ คิงส์ไซส์ เกรดพรีเมี่ยม ที่ทานสดได้ แล่สดก่อนดอง จะแล่ไม่ให้ติดบราวน์ (ส่วนเนื้อติดหนัง) เพื่อให้ได้สัมผัสเป็นเอกลักษณ์ นุ่ม สีสวย ไม่ดำคล้ำ
– ปูไข่ รับตรงจากฟาร์มเลี้ยงระบบปิด คัดเฉพาะปูไข่มากกว่า 80% ปูไม่มีกลิ่นสาป เนื้อแน่น รสสัมผัสดี
– กุ้งคัดไซส์ รับตรงจากแพปลา ได้กุ้งสด คุณภาพดี ผ่าน 7 ขั้นตอน ให้กรอบ เด้ง
– หมึกสาย (สุก) สำหรับคนไม่ทานของดิบ หรือเด็ก ๆ มีเอกลักษณ์ คือ ความกรอบ เด้ง
– หอยแครง (สุก) ดองซีอิ๊ว เนื้อสัมผัสโดดเด่น กรอบ เด้ง ให้ใกล้เคียงกับการทานหอยแครงสดมากที่สุด แต่เพิ่มรสชาติด้วยน้ำดองรสกลมกล่อมให้ซึมเข้าไปในตัวหอย
2. น้ำดอง คุณเป้ ทำเป็นแบบเกาหลี สูตรเฉพาะ 2 สูตร ได้แก่ น้ำ
– น้ำดองซีอิ๊วเกาหลีแท้ ผ่านขั้นตอนการเคี่ยว ได้รสกลมกล่อม
– น้ำดองโคชูจัง (เผ็ด) สูตรเกาหลีแท้ หอม เข้มข้น กลมกล่อม
3 .น้ำจิ้ม 8 เซียน ใช้มะนาวแท้เท่านั้น เครื่องเทศ 8 อย่าง น้ำจิ้มเคี้ยวได้
4. แพ็คเกจที่บรรจุ เน้นทานง่าย ซึ่งทะเลดองทุกเมนู สามารถแช่ฟรีซเก็บไว้ทานได้ 1-3 เดือน โดยไม่เสียรสชาติ
นอกจากวัตถุดิบ ที่คุณเป้ให้ความสำคัญ คุณเป้ ยังทำการตลาดอย่างรอบคอบ นำความรู้ที่เรียนจบมาทางด้านการตลาดและกราฟิก ผลิตสื่อประชาสัมพันธ์ อย่างป้ายสแตนดี้ ป้ายตั้งหน้าร้าน สติ๊กเกอร์แบรนด์
พร้อมทั้งกำหนดช่องทางการขายที่ชัดเจน 3 ช่องทาง ประกอบด้วย
1. ทำตู้ทะเลดองวางขายที่ร้านอาหารของครอบครัว
2. เปิดขายทุกแพลตฟอร์มออนไลน์ ทั้งเพจเฟซบุ๊ก, ฟู้ดเดลิเวอรี่, Line OR, Tiitok
3. เปิดสาขาแฟรนไชส์ 10 สาขาทั่วไทย
คุณเป้ ขยายความในแต่ละข้อว่า เริ่มแรกเธอทำตู้ทะเลดองวางขายที่หน้าร้านอาหารของครอบครัวก่อน ได้ผลตอบรับดีมาก ลูกค้ากลับมาซื้อซ้ำ ภายใน 4 เดือนก็สามารถคืนทุนได้แล้ว ซึ่งคุณเป้ทำไปพร้อม ๆ กับการเปิดขายทางเพจเฟซบุ๊ก ขายผ่านฟู้ดเดลิเวอรี่ และยังให้อินฟลูเอนเซอร์ลองทานและช่วยรีวิวให้ด้วย
กระทั่งมีคนติดต่อขอลงแฟรนไชส์ คุณเป้ พิจารณาแล้วว่า จะเป็นการขยายช่องทางจำหน่ายสินค้าได้มากขึ้น จึงนำความรู้ระบบตัวแทนจำหน่ายที่เคยทำให้กับสินค้าหลายแบรนด์ รวมถึงระบบแฟรนไชส์ที่ได้เรียนรู้จากการทำร้านอาหารของครอบครัวเอามาปรับใช้ ก่อนเปิดรับแฟรนไชส์ในเดือนมกราคม 2565 โดยมีระบบการคัดเลือกที่เน้นความเข้าใจผู้ลงทุน ที่ตั้งใจอยากทำธุรกิจ แต่มีข้อจำกัดเรื่องเงินลงทุน
วิธีการ คือ คุณเป้ จะลงตู้อาหารทะเลดองให้ โดยให้เครดิตลงสินค้าลองขาย ก่อนวางบิล 2 สัปดาห์ ชำระค่าสินค้า เฉพาะส่วนที่ขายได้ 25% สิ่งที่ได้รับในการเป็นสาขาแฟรนไชส์ จะมีอาหารทะเลดองพร้อมทานบรรจุกล่องให้พร้อมน้ำจิ้ม, ตู้แช่ติดสติ๊กเกอร์ทั้งตู้ตกแต่งสวยงาม, ป้ายหัวตู้ ป้ายสแตนดี้, เมนู, ชุดจาน ถ้วยสำหรับเสิร์ฟ, ชุดสำหรับขายเดลิเวอร์รี่ เป็นต้น โดยมีขั้นตอน 3 ข้อ ดังนี้
1. เมื่อมีผู้ติดต่อขอลงทุนแฟรนไชส์ ซึ่งจะมีให้เลือก 2 แบบ คือ แบบวางขายในร้านอาหาร และขายทางออนไลน์ คุณเป้จะให้ผู้ลงทุนกรอกแบบฟอร์มที่กำหนด ซึ่งต้องระบุข้อมูลส่วนตัว ทำเลที่ตั้ง และช่องทางการขายให้ชัดเจน
2. เมื่อกรอกแบบฟอร์มเรียบร้อยแล้ว คุณเป้ จะลงพื้นที่เพื่อช่วยพิจารณาว่า จะสามารถขายได้หรือไม่ ทั้งการสำรวจตลาดว่าบริเวณดังกล่าวมีคู่แข่งทางธุรกิจอย่างไร มีทำเลเหมาะสมหรือไม่ เป็นต้น
3. เมื่อผ่านการคัดเลือก คุณเป้ จึงจะลงตู้ทะเลดองให้ดังที่กล่าวข้างต้น และรับเป็นสาขาแฟรนไชส์อย่างสมบูรณ์
นอกจากนี้ คุณเป้ ยังดูแลระบบการขายให้สาขาแฟรนไชส์อย่างดี คอยช่วยเหลือ แก้ปัญหากรณีพบปัญหาในการขายสินค้า ไม่มีการขายข้ามเขตสาขา จึงทำให้ “เฮียเก๋าทะเลดอง” กลายเป็นที่รู้จักมากขึ้น โดยคุณเป้ ยึดหลักการทำธุรกิจที่เน้นให้ทุกคนในระบบธุรกิจ ได้ประโยชน์ทุกฝ่าย ตัวแทนมีรายได้โดยไม่ต้องทุน แบ่งปันแง่คิดในการทำธุรกิจร่วมกัน ก้าวหน้าไปพร้อมกัน ในขณะลูกค้าต้องได้รับประทานทะเลดองเกรดพรีเมียมในราคาที่เหมาะสม
“การทำธุรกิจสำหรับเป้ คือความแฟร์ ทุกคนในระบบต้องไปต่อได้ ตัวแทนได้ขายของ ได้มีร้านค้าโดยไม่ต้องลงทุน มีรายได้เสริม ไม่ใช่ว่าเราได้อยู่คนเดียว แต่เป็นการก้าวไปข้างหน้า เรียนรู้ไปด้วยกัน ส่วนลูกค้าต้องให้เขารู้สึกว่าได้กินอาหารที่คุ้มค่า คุ้มราคา เกรดพรีเมียมในราคาที่เหมาะสม และกลับมาซื้อซ้ำ”
คุณเป้ ดำเนินธุรกิจ “เฮียเก๋าทะเลดอง” มาได้อย่างราบรื่น แม้จะเป็นช่วงที่โควิด-19 แพร่ระบาด ด้วย 2 เทคนิคง่าย ๆ คือ
1. ควบคุมคุณภาพการผลิตให้ดีที่สุดในทุกสาขา
2. เน้นช่องทางการขายออนไลน์ให้มากขึ้น และหลากหลาย
อย่างไรก็ตาม ในปี 2565 คุณเป้ ตั้งเป้าหมายจะขยายสาขาแฟรนไชส์ให้ได้ 20 สาขาทั่วไทย และจะพยายามปรับปรุงระบบการผลิตให้ดียิ่งขึ้นต่อไป
สำหรับใครที่อยากจะเริ่มต้นธุรกิจอาหารทะเลดอง คุณเป้ให้คำแนะนำว่า ควรศึกษาวัตถุดิบวาง Position ลูกค้าให้ชัดเจนว่าจะขายใคร และมีพฤติกรรมการกินอาหารทะเลดองแบบไหน การเก็บวัตถุดิบอย่างไรให้คงความสดใหม่จนกว่าจะถึงมือลูกค้า จากนั้นจึงหาทำเล ช่องทางการขาย ทั้งขายผ่านออนไลน์ หรือแฟรนไชส์ ตัวแทน หรือแบบมีหน้าร้าน รวมถึงการคิดโปรโมชัน ทำรีวิวเพื่อดึงกลุ่มลูกค้าเข้าหาแบรนด์ นอกจากนี้ ยังต้องกำหนดราคาให้เหมาะสม เพื่อให้วงจรธุรกิจไปด้วยกันได้อย่างยั่งยืน
คุณเป้ ยังฝากแง่คิดดี ๆ สำหรับผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ว่า “เวลาล้มแล้ว ให้รีบลุก อย่าท้อนาน อย่าเอาจิตไปจดจ่อกับสิ่งที่ผ่านไปแล้ว เราเริ่มต้นใหม่ ให้นึกว่า ทุกครั้งที่เราล้ม เราได้ประสบการณ์อะไร นำมาต่อยอด ศึกษา สร้างคุณค่า ให้ธุรกิจของเราเดินหน้าต่อไปได้”
มีค่า นิวส์ เชื่อว่า แนวคิดการทำธุรกิจทั้งหมดของคุณเป้ จะเป็นประโยชน์ให้ผู้ประกอบการท่านอื่นได้นำไปปรับใช้ไม่มากก็น้อยนะคะ ทั้งนี้ ถ้าสนใจแฟนไชส์ “เฮียเก๋าทะเลดอง” ติดต่อคุณเป้ที่ 097-464-1456 หรือเพจเฟซบุ๊ก https://www.facebook.com/herekao.talaydong