การปลูกถ่ายไต คือ หนึ่งในวิธีการรักษาภาวะไตวายเรื้อรัง นอกเหนือจากการฟอกเลือด หรือล้างไตทางช่องท้อง ซึ่งทีมแพทย์จะนำไตที่ได้จากการรับบริจาคมาผ่าตัดปลูกถ่ายไต ให้แก่ผู้ป่วยโรคไตระยะสุดท้าย ซึ่งแน่นอนว่าหลายคนอาจจะยังไม่รู้ขั้นตอนว่า การบริจาคไต จะต้องทำยังไงบ้าง มีค่า นิวส์ จึงสรุปมาฝากทุกคนค่ะ
การบริจาค ทำได้ 2 แบบ
1.ผู้บริจาคที่มีชีวิต ในกรณีที่ผู้ป่วยรับไตจากผู้บริจาคที่ยังมีชีวิตอยู่ ผู้บริจาคจะต้องมีความสัมพันธ์กับผู้รับบริจาคข้อใดข้อหนึ่ง ดังนี้
1.1 มีความสัมพันธ์ทางสายเลือด ได้แก่ บิดาหรือมารดา บุตร พี่น้องที่เกิดจากบิดามารดาเดียวกัน หรือพี่น้องต่างบิดาหรือมารดา ลุง ป้า น้า อา หลาน หรือลูกพี่ลูกน้อง
1.2 สามี/ภรรยาที่จดทะเบียนสมรสกันมาไม่น้อยกว่า 3 ปี หรือมีบุตรด้วยกันอย่างน้อย 1 คน
ผู้บริจาคจะต้องรับการตรวจร่างกายอย่างละเอียด คือ
– ตรวจเลือด เพื่อดูชนิดและการเข้ากันได้ของเนื้อเยื่อ (HLA typing and cross matching)
– ตรวจหาไวรัสหรือโรคติดเชื้ออื่นๆ เช่น ไวรัสตับอักเสบเอ บี ซี เชื้อซิฟิลิส เชื้อไวรัสเอชไอวี
– เข้ารับการเอกซเรย์ อัลตราซาวนด์ และการตรวจวินิจฉัยพิเศษอื่นๆ ตามที่แพทย์กำหนด
– ตรวจประเมินสภาพจิตใจและจิตสังคมโดยจิตแพทย์ เพื่อดูความพร้อมและความสมัครใจของการบริจาค
หากไม่พบปัญหาใด ๆ ผู้บริจาคก็จะสามารถบริจาคไต 1 ข้างให้กับผู้ป่วยได้ ซึ่งเมื่อบริจาคไตแล้ว ผู้บริจาคสามารถใช้ชีวิตอยู่ได้ตามปกติด้วยไตอีกข้างที่เหลืออยู่ โดยระดับของเสียในเลือดยังคงอยู่ในเกณฑ์ปกติ
2. ผู้บริจาคที่เสียชีวิตโดยภาวะสมองตาย โดยผู้ตายได้แสดงความจำนงบริจาคอวัยวะไว้ก่อนตาย หรือได้รับความยินยอมจากญาติ ซึ่งเท่ากับว่าเป็นการทำบุญกุศลครั้งยิ่งใหญ่
ศึกษาวิธีแสดงความจำนงบริจาคอวัยวะได้ที่ https://mekhanews.com/2022/02/23/how-to-organ-donation-thai-red-cross-society/
ที่มา : ศูนย์รับบริจาคอวัยวะสภากาชาดไทย https://www.facebook.com/organdonationthailand