Site icon Mekha News (มีค่านิวส์) : เว็บไซต์ข่าว ที่จะนำเสนอข่าวสารเพื่อรักษาสิทธิให้กับคุณ

หมอเตือนผู้ปกครอง ระวังตับอักเสบเฉียบพลันในเด็ก ส่วนใหญ่พบในเด็กอายุต่ำกว่า 10 ปี มีอาการท้องเสีย อาเจียน ไม่มีไข้ หากปล่อยให้รุนแรง อาจเกิดภาวะตับวายได้

ตับอักเสบ

นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ เผยว่า องค์การอนามัยโลกได้มีการแจ้งเตือนถึงการมีผู้ป่วยเด็กเป็นตับอักเสบเฉียบพลันเพิ่มสูงขึ้นโดยส่วนใหญ่เป็นผู้ป่วยเด็กที่อายุน้อยกว่า 10 ปี มีอาการท้องเสีย อาเจียน มักไม่มีไข้ ต่อมาพบว่ามีตับอักเสบรุนแรงตามมา โดย 1 ใน 3 ของผู้ป่วยพบการติดเชื้อ Adenovirus และในผู้ป่วยบางรายมีการติดเชื้อ SARS-CoV-2 ร่วมด้วย

Adenovirus เป็นเชื้อไวรัสที่ติดต่อจากการสัมผัสใกล้ชิด ปกติแล้วมักทำให้ผู้ป่วยเด็กมีอาการทางระบบทางเดินหายใจ ไม่ทำให้เกิดโรคตับอักเสบในเด็กที่มีภูมคุ้มกันปกติ แต่การสันนิษฐานครั้งนี้พบว่าจากการระบาดของโรคโควิดทำให้ภูมิต้านทานของเด็กต่อ adenovirus ลดลง หรือเชื้อไวรัสอาจเกิดการกลายพันธุ์ทำให้ผู้ป่วยเด็กจึงเกิดตับอักเสบเฉียบพลันขึ้น

นอกจากนี้ นายแพทย์อดิศัย ภัตตาตั้ง ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กรมการแพทย์ กล่าวว่า ตับอักเสบเฉียบพลันนั้นผู้ป่วยมักมีอาการ ดังนี้

1.ไข้

2.อ่อนเพลีย

3.เบื่ออาหาร

4.คลื่นไส้

5.อาเจียน

6.ปวดท้อง

7.ตัวเหลือง ตาเหลือง

8.ปัสสาวะสีเข้ม อุจจาระสีซีด

ทั้งนี้ อาการดังกล่าว มักมีสาเหตุของตับอักเสบเฉียบพลันในเด็ก อาจเกิดจากการติดเชื้อ เช่น ไวรัสตับอักเสบเอ – อี ไข้เลือดออก ยา/สารพิษ ภูมิคุ้มกันทำลายตับ หรือโรคพันธุกรรมทางตับ เป็นต้น ซึ่งโดยปกติแล้วการติดเชื้อ adenovirus จะเป็นการรักษาตามอาการเท่านั้น

แต่ในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการรุนแรงจนเกิดภาวะตับวาย ผู้ป่วยมักมีการเปลี่ยนแปลงของระดับการรับรู้ ซึมลง เลือดออกผิดปกติ และอาจเสียชีวิตได้ ถ้าไม่ได้รับการปลูกถ่ายตับ แต่ในขณะนี้ยังไม่มีรายงานว่าพบการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบจากการติดเชื้อ adenovirus ในประเทศไทย

ที่มา: นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ และนายแพทย์อดิศัย ภัตตาตั้ง ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กรมการแพทย์ ให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2565

Exit mobile version