Site icon Mekha News (มีค่านิวส์) : เว็บไซต์ข่าว ที่จะนำเสนอข่าวสารเพื่อรักษาสิทธิให้กับคุณ

ครม.เห็นชอบ “ร่างแผนพัฒนาประชากรเพื่อการพัฒนาประเทศระยะยาว” ปี 2565-2580 พร้อมเดินหน้าตาม 6 ยุทธศาสตร์ รองรับอนาคต

เดินหน้า 6 ยุทธศาสตร์ ร่างแผนพัฒนาประชากรฯ ระยะยาว

นางสาวไตรศุลี  ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยมติที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 17 พฤษภาคม 2565 เห็นชอบ “ร่างแผนพัฒนาประชากรเพื่อการพัฒนาประเทศระยะยาว” ปี 2565-2580 ตามที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) เสนอ เพื่อนำไปสู่การขับเคลื่อนให้เกิดผลเป็นรูปธรรม โดยมีกรอบแนวทางการพัฒนาประชากร 3 ด้าน มีค่า นิวส์ สรุปมาให้เข้าใจง่าย ๆ ดังนี้

1. ด้านการเกิดอย่างมีคุณภาพ

2. ด้านการอยู่อย่างมีคุณภาพและมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศ

3. ด้านการแก่และตายอย่างมีคุณภาพ

ทั้งนี้ ต้องมีวาระการพัฒนาบนฐานของกระบวนทัศน์ใหม่และคำนึงถึงอิทธิพลของเทคโนโลยี โซเชียลมีเดีย และเจเนอเรชั่น ที่จะส่งผลให้การดำรงชีวิตของประชากรในประเทศไทยเปลี่ยนแปลงไปจากอดีต

ร่างแผนพัฒนาประชากรเพื่อการพัฒนาประเทศระยะยาว ปี 2565-2580 ประกอบด้วย 6 ยุทธศาสตร์ ได้แก่

1. การสร้างครอบครัวที่มีคุณภาพ และพัฒนาระบบที่เอื้อต่อการมีและการเลี้ยงดูบุตร

2. การพัฒนายกระดับผลิตภาพประชากร

3. การยกระดับความมั่นคงทางการเงิน

4. การสร้างเสริมสุขภาวะเพื่อลดการตายก่อนวัยอันควร และมีระบบดูแลระยะยาวและช่วงท้ายของชีวิต

5. การสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการดำรงชีวิตอย่างมีคุณภาพกับทุกกลุ่มวัยและการบริหารจัดการด้านการย้ายถิ่น

แบ่งลำดับความสำคัญในการดำเนินการเป็น 2 ระยะ คือ

1. ระยะเร่งด่วน เน้นการจัดการกับปัญหาที่เป็นผลพวงจากสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 มุ่งให้เด็กเรียนรู้ได้อย่างเต็มที่ เยียวยาครอบครัวที่เปราะบางและผู้ว่างงาน

2. ระยะยาว มุ่งเน้นการสร้างครอบครัวคุณภาพ ซึ่งจะช่วยพัฒนาประชากรรุ่นถัดไปให้มีคุณภาพและการเสริมความแข็งแกร่งของระบบการดูแลคนรุ่นพ่อแม่เมื่อเข้าสู่การเป็นผู้สูงอายุ รวมทั้งพัฒนาระบบการศึกษาและการเรียนรู้ตลอดชีวิตที่มีคุณภาพสูง เพื่อให้สามารถสร้างรายได้อย่างมั่นคงต่อเนื่อง ตามแนวคิด “ชุมชนน่าอยู่ สุขภาวะดี มีงานทำ”

สำหรับภาพอนาคต ประชากรไทยระยะยาว สรุปได้ดังนี้ คือ 

1. ประชากรรวมจะยังคงเพิ่มขึ้นและจะเพิ่มขึ้นไปจนถึงปี 2571 ที่มีจำนวนสูงสุดที่ 67.19 ล้านคน 

2. จากนั้นตั้งแต่ปี 2572 เป็นต้นไป จำนวนประชากรรวมจะลดลง

3. ในปี 2580 วัยเด็กจะมีสัดส่วนลดลงเหลือร้อยละ 14.3 แต่ผู้สูงอายุกลับเพิ่มขึ้นร้อยละ 29.85

4. ในอนาคตจะเกิดการขาดแคลนแรงงาน เนื่องจากโครงสร้างประชากรวัยแรงงานจะลดลงกว่า 3 ล้านคนในทุก 10 ปี

5. ในขณะที่ความต้องการแรงงานมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจาก 37.55 ล้านคนในปี 2560 เพิ่มเป็น 44.71 ล้านคน

6. ในปี 2580 ทางออกหนึ่ง คือ การใช้ระบบอัตโนมัติทดแทนแรงงาน

7. สัดส่วนผู้สูงอายุหญิงเพิ่มขึ้น เนื่องจากเพศหญิงมีอายุยืนกว่าเพศชาย และผู้สูงอายุจำนวนมากยังมีระดับการศึกษาต่ำ

8. อัตราสูงวัยในแต่ละจังหวัดไม่เท่ากัน จึงจำเป็นต้องมีการวางแผนระดับพื้นที่มากยิ่งขึ้น

สศช. ยังระบุด้วยว่า การเพิ่มขึ้นของประชากรเจเนอเรชั่น Alpha ซึ่งเกิดในช่วงปี 2553 เป็นต้นไป โดยประชากรกลุ่มนี้ใช้ชีวิตตามความต้องการของตัวเอง เนื่องจากมีพลังความรู้ความสามารถที่มาก

ขณะเดียวกันก็มีความสนใจที่อยากเป็นส่วนหนึ่งที่สร้างสรรค์ให้โลกนี้ดีขึ้น แต่การอยู่กับเทคโนโลยีมากเกินไปอาจทำให้คนกลุ่มนี้ขาดปฏิสัมพันธ์ที่ดีต่อมนุษย์คนอื่นเท่าที่ควร ทำให้มีความเข้าใจระหว่างกันน้อยลง ไม่เคารพซึ่งกันและกัน จึงจะเป็นปรากฏการณ์ใหม่ที่ต้องหาแนวทางตั้งรับอย่างเหมาะสม

Exit mobile version