Mekha News (มีค่านิวส์) : เว็บไซต์ข่าว ที่จะนำเสนอข่าวสารเพื่อรักษาสิทธิให้กับคุณ

หมอแนะปวดหลังเรื้อรังควรรีบตรวจ เสี่ยงเป็น “โรคข้อกระดูกสันหลังอักเสบชนิดติดยึด” ย้ำเป็นแล้วรักษาไม่หาย ทำได้เพียงคุมอาการ ไม่ให้รุนแรงจนต้องผ่าตัด

มีค่า นิวส์ มีเรื่องมาเตือนคนที่มีอาการปวดหลังมานาน ปวดแบบเรื้อรัง ไม่หายสักที ระวังเข้าข่ายเป็น “โรคข้อกระดูกสันหลังอักเสบชนิดติดยึด” โดยกรมการแพทย์ ระบุว่า ระยะแรกผู้ป่วยอาจมาพบแพทย์ด้วยอาการปวดหลังส่วนล่าง หรือปวดสะโพกเรื้อรัง โดยเฉพาะช่วงเช้าหรือหลังพักผ่อน อาการหลังติดยึด ทำให้เคลื่อนไหวลำบาก ทำงานไม่ได้ จนเกิดภาวะหลังคด ทรงตัวลำบากและช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ปัจจุบันยังไม่สามารถระบุสาเหตุที่แน่ชัดของโรคได้

แต่คาดว่าอาจเกิดขึ้นจากปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ เช่น พันธุกรรม ตรวจพบโปรตีน HLA-B27 และผู้ป่วยโรคนี้ มักมีญาติเป็นโรคเช่นเดียวกัน อายุจะเริ่มแสดงอาการในผู้ป่วยอายุน้อย ระหว่าง 20-30 ปี พบเพศชายมากกว่าเพศหญิง ผู้ป่วยควรไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาบรรเทาอาการ เพราะหากปล่อยให้อาการรุนแรงมากขึ้น อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนได้

สำหรับอาการของโรคข้อกระดูกสันหลังอักเสบชนิดติดยึด โดยผู้ป่วยแต่ละราย จะมีอาการที่แตกต่างกันไปตามระดับความรุนแรง หลัก ๆ มี 4 อาการ ดังนี้

1. ปวดหลังเรื้อรังมานาน

2. หลังติดยึด เคลื่อนไหวลำบาก

3. ปวดหลังมากเฉพาะช่วงเช้า หรือหลังพักผ่อน

4. มีอาการอักเสบของข้อ กระดูกสันหลัง ข้อต่อ ตามร่างกาย

ส่วนการรักษา ปัจจุบันใช้ Modified New York Criteria โดยแพทย์จะให้การวินิจฉัย  รักษาผู้ป่วยตั้งแต่ระยะแรก และติดตามการเปลี่ยนแปลงผลการรักษาของผู้ป่วยอย่างเป็นระบบ ติดตามการดำเนินโรคได้อย่างถูกต้อง และปรับให้เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละราย ทั้งการตรวจร่างกายและตรวจทางห้องปฏิบัติการ รวมถึงการสื่อสารกับผู้ป่วย ด้วยวิธี ดังนี้

1. การให้ความรู้แก่ผู้ป่วย ในการสังเกตตัวเองและเข้าใจตัวโรค ว่ายังไม่มีวิธีป้องกันหรือรักษาให้หายขาด แต่สามารถควบคุมและชะลอการดำเนินโรคได้

2. การรักษาจำเป็นต้องให้ยาเพื่อคุมการอักเสบเรื้อรังและอาการปวดแบบต่าง ๆ

3. ควรบริหารร่างกาย เพื่อยืดหยุ่นข้อต่อและกล้ามเนื้อ จะช่วยให้ผู้ป่วยเคลื่อนไหวได้สะดวกใกล้เคียงปกติ ป้องกันข้อติดยึด

อย่างไรก็ตาม หากผู้ป่วยได้รับการรักษาในระยะท้ายของโรค การรักษาด้วยยาและกายภาพ อาจไม่เพียงพอ ต้องผ่าตัดเพื่อแก้ไขโครงสร้างและมีการดูแลแบบสหวิชาชีพต่อไป

Exit mobile version