Mekha News (มีค่านิวส์) : เว็บไซต์ข่าว ที่จะนำเสนอข่าวสารเพื่อรักษาสิทธิให้กับคุณ

วศ. จับมือ วช. เปิดตัวความร่วมมือ โครงการตรวจประเมินและรับรองห้องปฏิบัติการ รูปแบบ Peer Evaluation มุ่งยกระดับมาตรฐานความปลอดภัย

กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยกรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) และ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการดำเนินงานโครงการตรวจประเมินและรับรองห้องปฏิบัติการในรูปแบบ Peer Evaluation โดยมี ดร.นพ.ปฐม สวรรค์ปัญญาเลิศ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์บริการ และดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เป็นประธานการลงนาม พร้อมด้วยคณะผู้บริหารทั้ง 2 หน่วยงาน เข้าร่วมเป็นสักขีพยาน ณ ห้องประชุมอัครเมธี ชั้น 6 อาคาร ดร.ตั้ว ลพานุกรม กรมวิทยาศาสตร์บริการ

ดร.นพ.ปฐม สวรรค์ปัญญาเลิศ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์บริการ กล่าวว่า ความร่วมมือครั้งนี้ เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการพัฒนาความร่วมมือ ซี่ง วช. มีนโยบายยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยห้องปฏิบัติการวิจัยในประเทศไทย และมีความต้องการจะขยายเครือข่ายห้องปฏิบัติการปลอดภัยโดยขยายให้ครอบคลุมหน่วยงาน/องค์กรภาครัฐ และภาคเอกชนในทุกภูมิภาค ซึ่ง วศ. มีความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ในด้านการตรวจประเมินและรับรองห้องปฏิบัติการ จึงให้ความร่วมมือกับ วช. ในการทำหน้าที่เป็นหน่วยตรวจประเมินมาตรฐานความปลอดภัยห้องปฏิบัติการ และพัฒนาผู้ตรวจประเมินห้องปฏิบัติการในรูปแบบ   Peer evaluation ให้เพียงพอและรองรับกับความต้องการของหน่วยงานที่ต้องการยื่นขอการรับรองห้องปฏิบัติการปลอดภัยในรูปแบบ Peer evaluation

ด้าน ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวเพิ่มเติมว่า วช. มีนโยบายดำเนินการยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยห้องปฏิบัติการวิจัยในประเทศไทย โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อพัฒนาและเสนอแนวทางปฏิบัติในการบริหารจัดการให้เกิดวัฒนธรรมการทำงานในห้องปฏิบัติการอย่างปลอดภัยทั้งต่อตนเองและผู้เกี่ยวข้อง ซึ่ง วช. ได้ดำเนินการสนับสนุนการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องเพื่อเตรียมความพร้อมในด้านต่าง ๆ ได้แก่

1. การส่งเสริมและสนับสนุนระดับนโยบายด้านมาตรฐานความปลอดภัยของห้องปฏิบัติการ

2. การพัฒนาหน่วยบริหารจัดการ ภายใต้กองมาตรฐานการวิจัยและสถาบันพัฒนาการดำเนินการต่อสัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ เพื่อนำไปสู่ห้องปฏิบัติการที่ได้มาตรฐานความปลอดภัยของห้องปฏิบัติการแบบองค์รวม 7 ด้าน อาทิ

– การบริหารระบบการจัดการความปลอดภัย

– ระบบการจัดการสารเคมี

– ระบบการจัดการของเสีย ฯลฯ

ทั้งนี้ การดำเนินงานดังกล่าวจำเป็นต้องมีระบบการให้การรับรองห้องปฏิบัติการที่เป็นไปตามมาตรฐาน เพื่อรองรับการยื่นขอการรับรองห้องปฏิบัติการปลอดภัยจากมหาวิทยาลัยรวมถึงเครือข่ายห้องปฏิบัติการจากองค์กรวิจัยทั้งภาครัฐและเอกชน ซึ่งมีห้องปฏิบัติการมากกว่าสามหมื่นห้องปฏิบัติการจากทั่วประเทศ

สำหรับความร่วมมือดังกล่าว ถือเป็นการพัฒนาและเสนอแนวทางปฏิบัติในการใช้ห้องปฏิบัติการอย่างปลอดภัยและสร้างจิตสำนึกของผู้ปฏิบัติงาน ผู้ที่เกี่ยวข้องให้ตระหนักในความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม และร่วมกันขับเคลื่อนการพัฒนามาตรฐานห้องปฏิบัติการปลอดภัยอย่างเป็นรูปธรรมเพื่อพัฒนาสู่มาตรฐานห้องปฏิบัติการวิจัยในระดับสากล

Exit mobile version