Site icon Mekha News (มีค่านิวส์) : เว็บไซต์ข่าว ที่จะนำเสนอข่าวสารเพื่อรักษาสิทธิให้กับคุณ

กรมควบคุมโรค เปิดมาตรการคัดกรองโรคฝีดาษลิง ที่สนามบินสุวรรณภูมิ ผ่านการสแกน QR code ในระบบ Thailand Pass พร้อมแจกบัตรเตือนสุขภาพ เพื่อติดตามให้คำแนะนำนักท่องเที่ยว สังเกตอาการตนเอง

thailand pass คัดกรองโรคฝีดาษลิง

ประเด็นร้อนที่กำลังเป็นที่พูดถึงและประชาชนให้ความสนใจเป็นอย่างมากตอนนี้ คือ การเดินทางเข้าประเทศไทย ในสถานการณ์ที่มีโรคฝีดาษลิงระบาดว่าจะสามารถทำได้หรือไม่ รวมถึงมีมาตรการอย่างไร มีค่า นิวส์ มีคำตอบให้ครับ

โดยนายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดเผยถึงเรื่องนี้ว่า ขณะนี้ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ กรมควบคุมโรค โดยกองด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศและกักกันโรค เริ่มให้บริการคัดกรองโรคฝีดาษลิง สำหรับผู้ที่เดินทางเข้าประเทศ ผ่านระบบ Thailand Pass แล้ว ซึ่งจะช่วยให้ตรวจจับกลุ่มเสี่ยงได้รวดเร็วขึ้น และป้องกันการแพร่ระบาดในประเทศ หลังพบการแพร่ระบาดในหลายประเทศ และสามารถติดต่อจากคนสู่คนได้

สำหรับมาตรการเฝ้าระวังโรคฝีดาษลิงภายในประเทศ จะเน้นการติดตามเฝ้าระวังผู้ที่เดินทางมาจากประเทศที่มีความเสี่ยงสูง เช่น ประเทศในแถบทวีปแอฟริกากลาง เช่น ไนจีเรีย และคองโก และประเทศในยุโรป ที่มีการแพร่ระบาดภายในประเทศแล้ว ซึ่งเมื่ออยู่ที่สนามบินในประเทศต้นทาง อาจจะยังไม่แสดงอาการ แต่เมื่อมาถึงประเทศไทย อาจมีอาการได้ ซึ่งจะคัดกรอง พร้อมทั้งแจกบัตรเตือนสุขภาพ (Health beware card) เป็น QR code โดยคัดกรอง ดังนี้

  1. มีไข้ตั้งแต่ 38 องศาเซลเซียส
  2. ประวัติมีไข้ร่วมกับมีอาการหนึ่งอาการ ได้แก่ เจ็บคอ ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ ปวดหลัง และต่อมน้ำเหลืองโต ประกอบกับมีผื่นกระจายตามลำตัว มีลักษณะเป็นตุ่มนูน ตุ่มน้ำใส ตุ่มหนอง หรือตุ่มตกสะเก็ด
  3. เดินทางมาจากหรืออาศัยอยู่ใน ประเทศที่มีการรายงานการระบาดของโรคฝีดาษลิงในประเทศภายใน 21 วัน

ซึ่งหลัก ๆ ในบัตร จะระบุว่าหากมีอาการ เช่น ไข้ มีตุ่มให้รายงานเข้าระบบและรีบไปพบแพทย์ในโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด รวมถึงแจ้งประวัติการเดินทางจากประเทศกลุ่มเสี่ยงให้เจ้าหน้าที่ทราบด้วย
ส่วนการป้องกันโรคฝีดาษลิง ให้ปฏิบัติ ดังนี้

  1. กรณีมีการเดินทางกลับจากประเทศที่เป็นเขตติดโรค ต้องทำการคัดกรองและเฝ้าระวังอาการจนครบ 21 วัน หากมีอาการเจ็บป่วยให้รีบไปพบแพทย์ทันที
  2. ไม่นำสัตว์ป่ามาเลี้ยงหรือนำเข้าสัตว์จากต่างประเทศโดยไม่มีการคัดกรอง และทำการแยกกักเพื่อมิให้ผู้ป่วยมีการแพร่กระจายเชื้อ
  3. หลีกเลี่ยงการสัมผัสโดยตรงกับเลือด สารคัดหลั่ง หรือตุ่มหนองของสัตว์ที่ติดเชื้อหรือสัตว์ป่า
  4. หลีกเลี่ยงการกินเนื้อสัตว์ที่ปรุงสุกไม่เพียงพอ
  5. หมั่นล้างมือบ่อยๆ ด้วยสบู่และน้ำ หรือ เจลแอลกอฮอล์เมื่อสัมผัสกับสัตว์หรือคนที่ติดเชื้อ

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422

ที่มา : นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2565

Exit mobile version