Mekha News (มีค่านิวส์) : เว็บไซต์ข่าว ที่จะนำเสนอข่าวสารเพื่อรักษาสิทธิให้กับคุณ

อัพเดท! สถานการณ์โรคฝีดาษวานร ล่าสุด สธ. ยืนยัน ฝีดาษวานรระบาดไม่เร็ว ประเทศไทยเฝ้าระวังเข้มงวด ส่วนวัคซีนยังไม่จำเป็นต้องจัดหา แต่มีการเตรียมการไว้แล้ว  

สถานการณ์โรคฝีดาษวานร  ยังคงเป็นที่ได้รับความสนใจอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสถานการณ์ทั่วโลก เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน2565 พบว่า มีผู้ป่วยที่ได้รับการยืนยันเป็นโรคฝีดาษวานร 900 กว่าคน ใน 43 ประเทศ  โดยนพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดเผยถึง สถานการณ์โรคฝีดาษวานร (Monkeypox) ที่มีการระบาดกระจายในหลายประเทศ เมื่อเทียบกับโรคโควิด-19 แล้ว พบว่า ลักษณะการระบาด ไม่รวดเร็วเท่าโควิด-19

ซึ่งองค์การอนามัยโลกได้ประเมินว่า โรคฝีดาษวานรเป็นความเสี่ยงปานกลาง ยังไม่เป็นภาวะฉุกเฉิน ยังไม่ต้องจำกัดการเดินทาง และไม่ได้ประกาศเป็นโรคติดต่ออันตราย เพียงแต่เตือนให้ระมัดระวัง และจัดระบบเฝ้าระวัง ซึ่งประเทศไทยดำเนินการแล้ว มีระบบคัดกรองคนเดินทางจากต่างประเทศ และกำหนดนิยามวินิจฉัยผู้ป่วย เตรียมห้องปฏิบัติการในการวินิจฉัยและสอบสวนควบคุมโรค และเตรียมจัดหาวัคซีนหากจำเป็นต้องใช้ ซึ่งจากการเฝ้าระวัง ยังไม่มีรายงานผู้ป่วยในประเทศไทย แต่เคยมีผู้ต้องสงสัย 6 ราย ตรวจแล้วเป็นเชื้อเริม ไม่ใช่ฝีดาษวานร ไม่มีผู้สัมผัสเสี่ยงสูง

ขณะที่ความเสี่ยงที่จะพบผู้ป่วยฝีดาษวานรในประเทศไทยสามารถเกิดขึ้นได้ เนื่องจากมีการเปิดประเทศ ทำให้มีผู้เดินทางเยอะขึ้น เข้ามาวันละหลายหมื่นคน แต่เชื่อว่า ระบบเฝ้าระวัง และความร่วมมือในการคัดกรอง จะตรวจจับผู้ป่วยและควบคุมไม่ให้โรคแพร่ระบาด จึงไม่ต้องกังวลจนเกินไป

นอกจากนี้ การดูตุ่มอย่างเดียว บอกไม่ได้ว่าเป็นฝีดาษวานร เพราะคล้ายกับหลายโรค การวินิจฉัยต้องตรวจทางห้องปฏิบัติการด้วย RT-PCR ขณะนี้ยังไม่มียาต้านไวรัสที่ทำลายเชื้อโดยตรง ส่วนวัคซีนยังไม่จำเป็นมาก แต่ก็ต้องเตรียมการเผื่อสถานการณ์ต่าง ๆ ให้มีวัคซีนไว้ใช้ โดยสอบถามองค์การอนามัยโลกที่มีคลังวัคซีนฝีดาษคนสำรองอยู่ ส่วนวัคซีนฝีดาษวานรอยู่ระหว่างพัฒนาและทดสอบประสิทธิภาพ โดยมีการนำวัคซีนมาใช้จะพิจารณา 4 เรื่อง คือ 

  1. ประสิทธิภาพการป้องกัน 
  2. ความปลอดภัย 
  3. สถานการณ์
  4. ความจำเป็นในการจัดหา 

อย่างไรก็ตาม บางคนมีตุ่มขึ้นมา ก็มารายงานเป็นสิ่งที่ดี ทำให้สามารถตรวจจับได้เร็ว ซึ่งมาตรการปัจจุบัน ยังเป็นการวินิจฉัย การแยกกักผู้ป่วย และสอบสวนโรคเป็นหลัก คล้ายกับโควิดช่วงแรก ถ้าเจอจริง ๆ ก็แยกกักเพื่อไม่ให้ไปแพร่ระบาดและติดตามผู้สัมผัส โดยต้องดูไทม์ไลน์ให้ละเอียด 

ที่มา : นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ให้สัมภาษณ์เมื่อ  6 มิถุนายน 2565

อ่านเพิ่มเติม >> https://pr.moph.go.th/?url=pr/detail/2/04/174812/

สถานการณ์ โรคฝีดาษลิง
Exit mobile version