น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยมติที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 7 มิถุนายน 2565 เห็นชอบการทบทวนมติ ครม.เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2502 เรื่อง การเดินรถขนส่งต่างจังหวัด จากเดิมให้บริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) รับภาระเดินเฉพาะรถโดยสาร เป็นให้ บขส.มีภารกิจขนส่งสินค้าและพัสดุภัณฑ์ด้วย
เพื่อให้ บขส.สามารถดำเนินกิจการขนส่งสินค้าและพัสดุภัณฑ์ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ สามารถพัฒนาและขยายธุรกิจให้เกิดประโยชน์ต่อองค์กรและสามารถนำรายได้จากการขนส่งสินค้าและพัสดุภัณฑ์มาชดเชยรายได้จากธุรกิจเดินรถโดยสารประจำทางที่ลดลงได้
ทั้งนี้ บขส.ได้กำหนดกลยุทธ์และแผนปฏิบัติการในการสร้างความร่วมมือกับพันธมิตร เพื่อดำเนินธุรกิจขนส่งสินค้าและพัสดุภัณฑ์แบบ Door to Door ในระยะต่อไป คือ
1. ทำความร่วมมือกับบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด และผู้ประกอบการเอกชนในการขนส่งสินค้าและพัสดุภัณฑ์ เพื่อขยายจุดกระจายสินค้า เพิ่มส่วนแบ่งตลาด และขยายฐานลูกค้า
2. การกำหนดเส้นทางการบริการร่วมกัน และพิจารณาขยายเส้นทางในปีต่อ ๆ ไป โดยในระยะแรกจะเป็นการขนส่งภายในประเทศ และจะมีการขยายไปสู่เส้นทางระหว่างประเทศต่อไป รวมทั้งพัฒนาระบบฐานข้อมูลในการติดตามสินค้าและพัสดุภัณฑ์
3. คัดเลือกผู้ประกอบการขนส่งรายย่อยในพื้นที่ เพื่อร่วมบริการขนส่งแบบ Hub to Door ภายใต้หลักเกณฑ์ เดียวกับการคัดเลือกรถร่วมบริการของ ร.ส.พ.
ในช่วงปี 2560-2564 บขส.มีรายได้จากการขนส่งพัสดุภัณฑ์เฉลี่ยปีละ 149.32 ล้านบาท กำไรเฉลี่ย 63.17 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 42.31 และคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 8.36 ของรายได้ทั้งหมด และมีส่วนแบ่งทางการตลาดอยู่ในกลุ่มผู้ประกอบการรายย่อย คิดเป็นร้อยละ 5 ของตลาดธุรกิจดังกล่าว และช่วงที่ผ่านมา บขส.ดำเนินธุรกิจเดินรถโดยสารประจำทางเป็นธุรกิจหลัก โดยได้รับผลกระทบจากการเพิ่มขึ้นของบริการทดแทน เช่น
1. สายการบินต้นทุนต่ำ
2. การใช้รถยนต์ส่วนบุคคล
3. การแข่งขันจากผู้ให้บริการภาคเอกชนรายอื่น สภาพเศรษฐกิจและสังคม และการแพร่ระบาดของโควิด-19
ส่งผลให้ปัจจุบัน บขส.มีปริมาณผู้โดยสารคงเหลือเพียงร้อยละ 10 ทำให้รายได้จากการให้บริการไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่าย โดยในช่วงปี 2560-2564 บขส.มีรายได้เฉลี่ยจากการเดินรถโดยสารประจำทางปีละ 1,636 ล้านบาท แต่ยังคงมีพนักงานมากถึง 2,850 คน