พยาบาล อาจเป็นอาชีพในฝันของเด็ก ๆ หลาย ๆ คน ที่วาดฝันไว้ เพราะเป็นอาชีพที่เสียสละ ดูแล รักษา และคอยช่วยเหลือผู้ป่วยอยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะช่วงสถานการณ์โควิด-19 ยิ่งทำให้ภาพการทำงานของพยาบาลเด่นชัดมากยิ่งขึ้น ทั้งบทบาทและหน้าที่
พว.รุจีรัตน์ แจ้งสุข หัวหน้าหอผู้ป่วยวิกฤต 95 (SDICU95) กล่าวว่า หอผู้ป่วยวิกฤติแห่งนี้ เพิ่งเปิดดำเนินการเมื่อช่วงเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา แต่ในส่วนของการเตรียมความพร้อมของทีมพยาบาล และผู้ช่วยพยาบาลในการดูแลผู้ป่วย “หอผู้ป่วยวิกฤต 95 ของโรคอุบัติใหม่ (emerging infectious diseases; EID) ได้มีการเตรียมความพร้อมอย่างเต็มที่ โดยเจ้าหน้าที่ทุกคนได้ดูแลผู้ป่วยวิกฤติโควิด-19 ในการแพร่ระบาดระลอกที่ผ่านมา ที่สถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ จังหวัดสมุทรปราการ ทำให้ทุกคนมีความรู้และประสบการณ์ในการดูแลผู้ป่วยเป็นอย่างดี นอกจากนี้ ยังมีการเตรียมพร้อมทั้งอุปกรณ์การแพทย์และเทคโนโลยีที่ทันสมัย เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการดูแลรักษาอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ภายใต้งานวิจัย ความรู้ความสามารถที่มีอยู่ในขณะนี้ และถึงแม้ว่าปัจจุบันประชาชนได้รับฉีดวัคซีนอย่างทั่วถึง สามารถช่วยลดจำนวนของผู้ป่วยวิกฤติโควิด-19 ลงได้ แต่ในแง่ของโรคอุบัติใหม่ก็ถือเป็นเรื่องท้าทายที่ไม่สามารถนิ่งนอนใจได้ เพราะสามารถเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ ซึ่งทีมก็ได้มีการเตรียมความพร้อมและเพิ่มศักยภาพของทีมพยาบาลในการรับมือกับโรคต่าง ๆ เช่น โรคฝีดาษลิง หากมีผู้ป่วยติดเชื้อเกิดขึ้นในประเทศไทย
ขณะที่รศ.ดร.พูลสุข เจนพานิชย์ วิสุทธิพันธ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนพยาบาลรามาธิบดี คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยถึงความก้าวหน้าของหลักสูตรโรงเรียนพยาบาลรามาธิบดีว่า “รามาธิบดีมุ่งเน้นการผลิตพยาบาลแห่งอนาคต ซึ่งหมายถึงการมีความรู้ในการดูแลผู้ป่วย เพื่อตอบโจทย์ปัญหาสุขภาพในอนาคต รวมถึงโรคอุบัติใหม่ที่สามารถเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ และต้องมีทักษะในการใช้เทคโนโลยีต่าง ๆ อย่างคล่องแคล่ว รวมถึงต้องเป็นผู้ที่มีความพร้อมด้านจิตใจเพื่อพร้อมเผชิญกับปัญหาด้านสุขภาพที่จะเกิดขึ้นได้ในอนาคต
โดยได้มีการพัฒนาหลักสูตรพยาบาลศาสตร์ที่มุ่งเน้นความเป็นสากล โดยร่วมกับมหาวิทยาลัยชั้นนำของต่างประเทศกับ Deakin University ประเทศออสเตรเลีย ซึ่งนักศึกษาจะเรียนที่รามาธิบดี 4 ปี แล้วจึงไปเรียนต่อที่ Deakin University อีก 1 ปี ทั้งนี้จะได้ปริญญาถึง 2 ใบ จากมหาวิทยาลัยมหิดล และ Deakin University ในขณะเดียวกันโรงเรียนพยาบาลรามาธิบดีมีหลักสูตรต่อเนื่อง คือหลักสูตรปริญญาตรีพยาบาลศาสตร์ ปริญญาโทระบาดวิทยา ซึ่งมุ่งเน้นการสร้างพยาบาลนักวิจัยที่สามารถทำงานร่วมกับแพทย์ และสหสาขาวิชาชีพได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะทางระบาดวิทยา
ขณะเดียวกันยังผลักดันการเปิดรับผู้ที่เรียนจบปริญญาตรีจากสายวิทยาศาสตร์สุขภาพ เช่น วิศวกรรมศาสตร์ สาธารณสุข หรือวิทยาศาสตร์ทั่วไปที่สนใจอยากเป็นพยาบาลก็สามารถสมัครเข้าเรียนต่อที่รามาธิบดีได้ โดยใช้เวลาเรียนประมาณ 2 ปีครึ่งเท่านั้น ถือเป็นอีกหนึ่งแนวทางการผลิตพยาบาลให้เพียงพอกับความต้องการในสังคมไทย และโรงเรียนพยาบาลรามาธิบดี ยังได้วางแผนเปิดศูนย์ความเป็นเลิศด้านการดูแลผู้สูงอายุร่วมกับมหาวิทยาลัยในสหรัฐอเมริกา และประเทศญี่ปุ่น เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันที่ประเทศไทยก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุแล้ว ทำให้ความต้องการพยาบาลวิชาชีพเพิ่มขึ้น รามาธิบดีพร้อมเดินหน้าผลิตบุคลากรที่มีศักยภาพเพื่อดูแลผู้ป่วยต่อไป
ที่มา: มูลนิธิรามาธิบดี