หลังจากปลดล็อคกัญชา กัญชง ออกจากบัญชียาเสพติดให้โทษประเภทที่ 5 และเริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 9 มิถุนายน 2565 ที่ผ่านมา มีค่า นิวส์ เชื่อว่ายังมีหลายคนเกิดความกังวลว่า ถ้าเราไปนั่งทานอาหารที่มีส่วนผสมของกัญชา ในร้านอาหาร จะรู้ได้ยังไงว่า ร้านใส่ใบกัญชาปริมาณเท่าไหร่ ? มีสัดส่วนการใส่ถูกต้องหรือไม่ ?
ล่าสุด กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ออกประกาศกรมอนามัย เรื่องนี้ เกี่ยวกับการนำใบกัญชามาใช้ในการทำ ประกอบหรือปรุงอาหาร ในสถานประกอบกิจการอาหาร พ.ศ. 2565 และประกาศกรมอนามัย เรื่อง การนำใบกัญชา มาใช้ในการทำ ประกอบหรือปรุงอาหาร ในสถานประกอบกิจการอาหาร (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2565
มุ่งเน้นการคุ้มครองผู้บริโภคจากการบริโภคอาหารจากสถานประกอบกิจการอาหารที่นำใบกัญชามาใช้เป็นส่วนประกอบในการทำ ประกอบ หรือปรุงอาหารเพื่อการจำหน่าย มีการจัดเก็บใบกัญชา ที่สะอาด ถูกสุขลักษณะ จัดเก็บเป็นสัดส่วน อยู่ในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม ไม่ทำให้เกิดเชื้อรา หรือเน่าเสีย มีความเหมาะสมและปลอดภัยต่อผู้บริโภค
ซึ่งสถานประกอบกิจการอาหาร ในประกาศฯ ดังกล่าว หมายรวมถึงตลาด สถานที่จำหน่ายอาหาร สถานที่สะสมอาหาร และการจำหน่ายในที่ หรือทางสาธารณะ ตามพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ที่จะนำไปใบกัญชามาใช้เป็นส่วนประกอบในการทำ ประกอบ หรือปรุงอาหาร เพื่อจำหน่ายในสถานประกอบกิจการอาหารนั้น
ทั้งนี้ ข้อกำหนดอื่น ๆ ในประกาศยังคงเหมือนเดิม คือ สถานประกอบการกิจการอาหาร ต้องควบคุม กำกับ และต้องจัดให้มีการสื่อสารข้อมูลด้านสุขภาพและต้องตระหนักด้านความปลอดภัยแก่ผู้บริโภค เกี่ยวกับการจำหน่ายอาหารที่มีการใช้ใบกัญชาเป็นส่วนประกอบของอาหาร โดยมีข้อปฏิบัติ 5 ข้อ ดังนี้
1. จัดทำข้อความที่แสดงข้อมูลเป็นสถานประกอบกิจการอาหารที่มีการใช้กัญชา
2. แสดงรายการอาหารที่มีการใช้ใบกัญชาทั้งหมด
3. แสดงข้อมูลปริมาณการใช้ใบกัญชาเป็นส่วนประกอบต่อรายการอาหาร ตามประเภทการทำ ประกอบหรือปรุงอาหาร เช่น
– อาหารทอด แนะนำการใช้ใบกัญชาสด 1-2 ใบสดต่อเมนู
– อาหารประเภทผัด แกง ต้ม ผสมในเครื่องดื่มแนะนำการใช้ใบกัญชาสด 1 ใบสดต่อเมนู
4. แสดงข้อแนะนำเพื่อความปลอดภัยในการบริโภคอาหารหรือเครื่องดื่มที่มีใบกัญชาเป็นส่วนประกอบ
5. แสดงคำเตือนรายการอาหารที่มีการใช้ใบกัญชาให้แก่ผู้บริโภคที่มีความเสี่ยง
หากรับประทานอาหารที่ใช้ใบกัญชาทราบ ด้วยการระบุข้อความ “เด็กและวัยรุ่นช่วงอายุน้อยกว่า 18 ปี ควรหลีกเลี่ยงการบริโภคอาหารที่มีส่วนผสมของกัญชา เช่น ขนม อาหารและเครื่องดื่ม สตรีมีครรภ์ และสตรีให้นมบุตร ไม่ควรรับประทาน”
หากมีอาการผิดปกติ ควรหยุดรับประทานทันที” “ผู้ที่แพ้หรือไวต่อสารเตตราไฮโดรแคนนาบินอล (Tetrahydrocannabinol, THC) หรือสารแคนนาบิไดออล (Cannabidiol, CBD) ควรระวังในการรับประทาน” “อาจทำให้ง่วงซึมได้ ควรหลีกเลี่ยงการขับขี่ยานพาหนะ หรือทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักรกล”
6. ห้ามแสดงข้อความหรือโฆษณาสรรพคุณในการป้องกันหรือรักษาโรค”