ปัจจุบันนี้สังคมไทยได้เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มตัว ซึ่งเมื่อจำนวนผู้สูงอายุมากขึ้น ทำให้ปัจจัยด้านการรักษา และการดูแลมากขึ้นตามไปด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงหน้าฝน ที่ถือเป็นปัจจัยเสี่ยงในการทำให้ผู้สูงอายุลื่น หกล้มได้มากกว่าปกติ ดังนั้น ผู้สูงอายุ หรือลูกหลาน ต้องระมัดระวัง ใส่ใจสุขภาพของผู้สูงอายุยิ่งขึ้น เพราะแม้จะเป็นเพียงการหกล้ม ก็เสี่ยงพิการ และเสียชีวิตได้เลยนะครับ
มีค่า นิวส์ ทราบจากนายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดเผยว่า ในแต่ละปีจะพบอุบัติเหตุผู้สูงอายุหกล้มประมาณ 3 ล้านราย และบาดเจ็บต้องเข้ารักษาในโรงพยาบาลมากกว่า 60,000 รายต่อปี โดยมีผู้เสียชีวิตจากการหกล้มเฉลี่ย วันละ 4 ราย และยังเป็นเหตุให้ผู้สูงอายุเกิดความพิการ ส่งผลกระทบต่อจิตใจ หวาดกลัวการหกล้ม และต้องพึ่งพาผู้อื่น ทำให้คุณภาพชีวิตลดลง มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น กระทบต่อเศรษฐกิจของครอบครัวและสังคม ซึ่งการพลัดตกหกล้มมักเกิดขึ้นในช่วงฤดูฝนและฤดูหนาว ร้อยละ 80 โดยจุดเสี่ยงที่ต้องระมัดระวัง คือ พื้นเปียก ลื่น รวมทั้งเรื่องใกล้ตัวที่ไม่ควรมองข้าม ซึ่งผู้สูงอายุควรปฏิบัติ ดังนี้
- ผู้สูงอายุควรออกกำลังกายแบบใช้แรงต้าน เช่น การยกน้ำหนัก ยกขวดน้ำ การใช้ยางยืด หรือการดันน้ำหนักกับเก้าอี้หรือผนังที่มั่นคง ครั้งละ 30 นาที และไม่น้อยกว่า 150 นาทีต่อสัปดาห์ จะทำให้มีมวลกล้ามเนื้อ แข็งแรงขึ้น ส่งผลต่อการเคลื่อนไหว และการทรงตัวดีขึ้น
- หลีกเลี่ยงการใช้ยาที่ไม่จำเป็น
- ควรสวมรองเท้าหุ้มส้น พื้นมีดอกยางกันลื่น สามารถเคลื่อนไหวก้าวเดินได้สะดวก
- ผู้ที่มีความบกพร่องในการเดินหรือการทรงตัว ควรใช้อุปกรณ์ช่วยเดินช่วยพยุง เช่น โครงเหล็กช่วยเดิน/ไม้เท้า
- ควรเลี่ยงการเดินขึ้น-ลงบันได
- หากหกล้ม ขยับไม่ได้ ให้ญาติหรือผู้ดูแลโทร 1669 แจ้งขอความช่วยเหลือจากระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉิน
ทั้งนี้ ผู้สูงอายุควรเข้ารับการตรวจประเมินความเสี่ยงต่อการพลัดตกหกล้มปีละ 1 ครั้งที่สถานพยาบาลใกล้บ้านทุกแห่ง ซึ่งเจ้าหน้าที่จะทำการคัดกรองโดยการซักประวัติการหกล้ม การประเมินสมรรถภาพทางกาย พร้อมทั้งให้คำแนะนำในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม และจัดการกับปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ เป็นต้น
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่กองป้องกันการบาดเจ็บ โทร 02-590-3955 หรือสายด่วนกรมควบคุมโรค 1422
ที่มา: กรมควบคุมโรค