Site icon Mekha News (มีค่านิวส์) : เว็บไซต์ข่าว ที่จะนำเสนอข่าวสารเพื่อรักษาสิทธิให้กับคุณ

6 วิธีดูแลผู้สูงอายุ ป้องกันลื่นหกล้มช่วงหน้าฝน หมอแนะควรสวมรองเท้าพื้นมีดอกยาง ประเมินความเสี่ยงการหกล้มอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง ที่สถานพยาบาลใกล้บ้าน

ลดความเสี่ยง ผู้สูงอายุลื่นหกล้มช่วงหน้าฝน

ปัจจุบันนี้สังคมไทยได้เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มตัว ซึ่งเมื่อจำนวนผู้สูงอายุมากขึ้น ทำให้ปัจจัยด้านการรักษา และการดูแลมากขึ้นตามไปด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงหน้าฝน ที่ถือเป็นปัจจัยเสี่ยงในการทำให้ผู้สูงอายุลื่น หกล้มได้มากกว่าปกติ ดังนั้น ผู้สูงอายุ หรือลูกหลาน ต้องระมัดระวัง ใส่ใจสุขภาพของผู้สูงอายุยิ่งขึ้น เพราะแม้จะเป็นเพียงการหกล้ม ก็เสี่ยงพิการ และเสียชีวิตได้เลยนะครับ

มีค่า นิวส์ ทราบจากนายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดเผยว่า ในแต่ละปีจะพบอุบัติเหตุผู้สูงอายุหกล้มประมาณ 3 ล้านราย และบาดเจ็บต้องเข้ารักษาในโรงพยาบาลมากกว่า 60,000 รายต่อปี โดยมีผู้เสียชีวิตจากการหกล้มเฉลี่ย วันละ 4 ราย และยังเป็นเหตุให้ผู้สูงอายุเกิดความพิการ ส่งผลกระทบต่อจิตใจ หวาดกลัวการหกล้ม และต้องพึ่งพาผู้อื่น ทำให้คุณภาพชีวิตลดลง มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น กระทบต่อเศรษฐกิจของครอบครัวและสังคม ซึ่งการพลัดตกหกล้มมักเกิดขึ้นในช่วงฤดูฝนและฤดูหนาว ร้อยละ 80 โดยจุดเสี่ยงที่ต้องระมัดระวัง คือ พื้นเปียก ลื่น รวมทั้งเรื่องใกล้ตัวที่ไม่ควรมองข้าม ซึ่งผู้สูงอายุควรปฏิบัติ ดังนี้

  1. ผู้สูงอายุควรออกกำลังกายแบบใช้แรงต้าน เช่น การยกน้ำหนัก ยกขวดน้ำ การใช้ยางยืด หรือการดันน้ำหนักกับเก้าอี้หรือผนังที่มั่นคง ครั้งละ 30 นาที และไม่น้อยกว่า 150 นาทีต่อสัปดาห์ จะทำให้มีมวลกล้ามเนื้อ แข็งแรงขึ้น ส่งผลต่อการเคลื่อนไหว และการทรงตัวดีขึ้น
  2. หลีกเลี่ยงการใช้ยาที่ไม่จำเป็น
  3. ควรสวมรองเท้าหุ้มส้น พื้นมีดอกยางกันลื่น สามารถเคลื่อนไหวก้าวเดินได้สะดวก
  4. ผู้ที่มีความบกพร่องในการเดินหรือการทรงตัว ควรใช้อุปกรณ์ช่วยเดินช่วยพยุง เช่น โครงเหล็กช่วยเดิน/ไม้เท้า
  5. ควรเลี่ยงการเดินขึ้น-ลงบันได
  6. หากหกล้ม ขยับไม่ได้ ให้ญาติหรือผู้ดูแลโทร 1669 แจ้งขอความช่วยเหลือจากระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉิน

ทั้งนี้ ผู้สูงอายุควรเข้ารับการตรวจประเมินความเสี่ยงต่อการพลัดตกหกล้มปีละ 1 ครั้งที่สถานพยาบาลใกล้บ้านทุกแห่ง ซึ่งเจ้าหน้าที่จะทำการคัดกรองโดยการซักประวัติการหกล้ม การประเมินสมรรถภาพทางกาย พร้อมทั้งให้คำแนะนำในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม และจัดการกับปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ เป็นต้น

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่กองป้องกันการบาดเจ็บ โทร 02-590-3955 หรือสายด่วนกรมควบคุมโรค 1422

ที่มา: กรมควบคุมโรค

Exit mobile version